The Prachakorn

เพศและเพศภาวะ (Sex and Gender)


วรชัย ทองไทย

15 มิถุนายน 2563
9,565



โดยทั่วไปสิ่งมีชีวิต (พืชและสัตว์) แบ่งออกเป็น 2 เพศ (sex) คือ เพศผู้และเพศเมีย ตามลักษณะของอวัยวะสืบพันธุ์ เมื่อพืชหรือสัตว์เติบโตเต็มที่ เพศผู้และเพศเมียจะทำการผสมพันธุ์เพื่อสืบทอดพันธุ์ อันเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิต เช่นเดียวกับการกินและการนอน อย่างไรก็ตาม พืชและสัตว์บางชนิดก็สามารถสืบทอดพันธุ์ได้โดยไม่ต้องอาศัยเพศ เช่น เห็ด ไผ่ ปลาดาว ผึ้ง มด เป็นต้น

ในภาษาอังกฤษคำว่า “sex” มีความหมาย 2 นัยยะ โดยนัยยะแรกหมายถึงเพศทางกายภาพ ได้แก่ เพศผู้และเพศเมีย ส่วนนัยยะหลังหมายถึงการผสมพันธุ์ แต่ในภาษาไทยคำว่า “เพศ” จะหมายถึงเพศทางกายภาพเท่านั้น

สังคมมนุษย์ส่วนใหญ่ถือว่าเพศเป็นทวิภาค (binary) คือ เพศชายกับเพศหญิง ตามลักษณะของอวัยวะสืบพันธุ์เมื่อแรกเกิด แต่คนบางคนอาจเกิดมาโดยมีอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งสองเพศที่เรียกว่า เพศกำกวม (intersex) คนเหล่านี้จะถูกพ่อแม่กำหนดให้เป็นเพศใดเพศหนึ่งด้วยการเลี้ยงดู ซึ่งทารกอาจถูกผ่าตัดเอาอวัยวะเพศที่ไม่ต้องการออกตอนคลอดด้วย

เพศภาวะ (gender) คือ ลักษณะต่าง ๆ ที่บ่งบอกความเป็นชายหรือความเป็นหญิง อันประกอบด้วยเพศทางกายภาพ (เพศชาย เพศหญิง) เพศทางสังคม (บทบาททางเพศ) และอัตลักษณ์ทางเพศ ในเกือบทุกวัฒนธรรมจะถือว่าเพศภาวะเป็นทวิภาคเช่นเดียวกันกับเพศ นั่นคือแบ่งออกเป็นกลุ่มเด็กชายหรือผู้ชาย กับกลุ่มเด็กหญิงหรือผู้หญิง ส่วนผู้ที่อยู่นอกกลุ่มจะถูกเรียกรวมกันว่า เพศที่สาม (third sex) หมายถึงเพศอื่นๆ ทั้งหมด

รูป 1 สัญลักษณ์เพศหญิง เพศที่สาม และเพศชาย
ที่มา: https://phys.org/news/2018-03-gender-equality-tackle-unconscious-biases.html
สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2563

สำหรับบทบาททางเพศ (gender role หรือ sex role) หมายถึง บทบาทของผู้ชายและผู้หญิงที่สังคมได้กำหนดไว้เป็นมาตรฐานที่ต้องทำตามในการแสดงออก การพูด เสื้อผ้า การแต่งตัว และการประพฤติปฏิบัติ  เช่น ผู้หญิงต้องแต่งตัวเป็นผู้หญิง อ่อนช้อย และสุภาพ ส่วนผู้ชายจะต้องแข็งแรง ก้าวร้าว และกล้าหาญ ซึ่งบทบาทเหล่านี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรมและเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์คิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

ส่วนอัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) หมายถึง ความรู้สึกภายในว่าตนเองเป็นเพศไหน โดยจะแสดงออกทางการแต่งตัว ลักษณะท่าทาง และความประพฤติ ความรู้สึกภายในนี้จะเกิดขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อย คนเกือบทั้งหมดจะรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ชายหรือเป็นผู้หญิง ซึ่งมักจะตรงกับเพศเมื่อแรกเกิด แต่ก็มีบางคนที่รู้สึกว่า ตนเองมีเพศที่ไม่ตรงกันกับเพศเมื่อแรกเกิด คนกลุ่มนี้เรียกว่า "คนข้ามเพศ" (transgender) แต่บางครั้งคนที่ถูกเรียกว่าคนข้ามเพศ ก็อาจเป็นเพราะไม่ได้ประพฤติตนตามที่สังคมคาดหวังเท่านั้น

สรุปแล้ว เพศเป็นเรื่องของกายภาพ ส่วนเพศภาวะเป็นสิ่งที่สังคมได้คาดหวัง ตั้งมาตรฐาน และกำหนดคุณลักษณะที่ผู้ชายและผู้หญิงจะต้องทำตาม
ในสังคมที่ถือว่าเพศและเพศภาวะเป็นทวิภาคนั้น จะยอมรับแต่การแต่งงานและการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนต่างเพศเท่านั้น รวมทั้งต้องประพฤติตัวตามเพศของตนด้วย ทำให้ผู้ที่มีความรู้สึกแตกต่างกลายเป็นพวกนอกสังคมไป คนเหล่านี้จึงได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิของตนโดยใช้ชื่อว่า "กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ” (LGBTQ+)

LGBTQ+ ย่อมาจาก Lesbian (หญิงรักหญิง) Gay (ชายรักชาย) Bisexual (รักทั้งสองเพศ) Transgender (คนข้ามเพศ) Queer (คนลักเพศ) Questioning (สงสัยในเพศ) โดยใช้อักษรแรกของแต่ละคำ และต่อท้ายด้วยเครื่องหมายบวก (+) เพื่อใช้แทนกลุ่มคนที่อยู่นอกเหนือไปจากนี้ ได้แก่ เพศกำกวม ไม่ฝักใจทางเพศ (asexual) รักทุกเพศ (pansexual) ไม่มีเพศภาวะ (agender) สองเพศภาวะ (bigender) ทุกเพศภาวะ (pangender) และกลุ่มอื่นๆ อีกที่อาจเกิดขึันในอนาคต

เมื่อสังคมเปิดกว้างมากขึ้นในเรื่องเพศ ก็อาจมีคนบางคนในสังคม (โดยเฉพาะวัยรุ่น) เกิดความสับสนในความรู้สึกของตนเองเกี่ยวกับเพศ เพศภาวะ และเพศวิถี (sexuality: ความใคร่หรือความปรารถนาทางเพศที่บุคคลหนึ่งมีต่อบุคคลหนึ่ง) ทำให้องค์กรทรัพยากรการศึกษานักเรียนข้ามเพศ (Trans Student Educational Resources) จัดทำอินโฟกราฟิก (infographic) เรื่องยูนิคอร์นเพศภาวะ (Gender Unicorn) ขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้สับสนสามารถประเมินความรู้สึกของตนเองในเรื่องเหล่านี้ (รูป 2)

รูป 2 อินโฟกราฟิกเรื่อง ยูนิคอร์นเพศภาวะ
ที่มา: http://transstudent.org/what-we-do/graphics/gender-unicorn/
สืบค้นเมื่อ 2 พฤษภาคม 2563

อินโฟกราฟิกเป็นการอธิบายเรื่องราวให้เข้าใจได้ง่ายและรวดเร็วด้วยภาพ ดังรูป 2 จะเห็นว่า ยูนิคอร์นเพศภาวะได้แบ่งความรู้สึกทางเพศออกเป็น 5 ด้าน ประกอบด้วยอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) การแสดงออกทางเพศ (Gender Expression) เพศเมื่อแรกเกิด (Sex Assigned at Birth) ความดึงดูดทางร่างกาย (Physically Attracted to) และความดึงดูดทางอารมณ์ (Emotionally Attracted to) โดยแต่ละด้านจะมีทางเลือกได้ 3 ทาง คือ หญิง ชาย และอื่น ๆ

ความรู้สึกทางเพศแต่ละด้านจะใช้สัญลักษณ์และสีที่สอดคล้องกัน ระหว่างยูนิคอร์นด้านซ้ายกับแบบประเมินด้านขวา โดยที่สัญลักษณ์บนตัวยูนิคอร์นแสดงถึงจุดที่เกิดความรู้สึกทางเพศแต่ละด้าน ส่วนในแบบประเมินความรู้สึกจะเพิ่มสัญลักษณ์ของทางเลือกขึ้นอีกคือ ลูกศรและจุด

ทางเลือกที่แสดงด้วยลูกศรเป็นการประเมินระดับความรู้สึก จากไม่มีความรู้สึกเลยที่แสดงด้วยวงกลมด้านซ้าย ไปสู่ความรู้สึกมากที่สุดทางขวาที่เป็นหัวลูกศร โดยที่ผู้ประเมินต้องประเมินความรู้สึกของตนเองทั้งสามทาง ด้วยการใส่เครื่องหมายกากะบาดบนลูกศรทั้งสามดอก ส่วนทางเลือกที่แสดงด้วยจุดซึ่งมีเพียงด้านเพศเมื่อแรกเกิด จะให้เลือกเพียงทางเดียว คือ กากะบาดที่จุดที่ตนรู้สึก

รูปภาพ สัญลักษณ์ และสีที่เป็นสากลทำให้เข้าใจง่ายขึ้น ได้แก่ อัตลักษณ์ทางเพศใช้สายรุ้งเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งตรงกับสัญลักษณ์ของ LGBTQ+ ส่วนรูปยูนิคอร์นที่กำลังคิดถึงสายรุ้ง ก็แสดงให้เห็นว่า อัตลักษณ์ทางเพศเป็นความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ในตัวเรา

เนื่องจากการแสดงออกทางเพศเป็นสิ่งที่เห็นได้จากภายนอก เช่น เสื้อผ้า กิริยาท่าทาง การแสดงออก และการแต่งกาย จึงใช้จุดสีเขียววาดเป็นเงาของยูนิคอร์น ส่วนเพศเมื่อแรกเกิดก็ใชัสัญลักษณ์ DNA วางอยู่ตรงตำแหน่งของอวัยวะสืบพันธุ์

สำหรับความดึงดูดทางร่างกายและความดึงดูดทางอารมณ์นั้น เป็นส่วนประกอบของเพศวิถี อันเป็นความปรารถนาทางเพศจึงใช้หัวใจเป็นสัญลักษณ์
เมื่อผู้ประเมินได้ตอบคำถามครบทุกข้อแล้ว ก็จะช่วยให้เห็นความรุ้สึกทางเพศ เพศภาวะ และเพศวิถีของตนเองชัดเจนขึ้น แต่ถ้ายังสงสัยอยู่ ก็สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่ www.transstudent.org/gender

สำหรับผู้ได้รับรางวัลอีกโนเบลที่ทำวิจัยเกี่ยวกับเพศ คือ

  • ปี 2560 สาขาชีววิทยา ได้มอบให้กับนักวิจัยชาวญี่ปุ่น บราซิล และสวิส (Kazunori Yoshizawa, Rodrigo Ferreira, Yoshitaka Kamimura และ Charles Lienhard) สำหรับการค้นพบลึงค์ตัวเมีย (female penis) และโยนีตัวผู้ (male vagina) ในตัวแมลงที่อาศัยในถ้ำ
  • ปี 2550 สาขาสันติภาพ ได้มอบให้กับ Air Force Wright Laboratory ประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับการทดลองและพัฒนาอาวุธเคมีที่มีชื่อเรียกว่า "ระเบิดแต๋ว" (gay bomb) ซึ่งจะกระตุ้นความรู้สึกทางเพศของทหารฝ่ายศัตรูให้มีต่อเพศเดียวกัน
  • ปี 2546 สาขาชีววิทยา ได้มอบให้กับ C.W. Moeliker จาก Natuurhistorisch Museum Rotterdam ประเทศเนเธอแลนด์ ผู้เป็นคนแรกที่ได้บันทึกรายงานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพฤติกรรมวิตถารทางเพศของเป็ดป่า

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่เรียกเสียงหัวเราะก่อน แล้วจึงได้คิด


หมายเหตุ: ปรับปรุงจาก “เพศและเพศภาวะ” (Sex and Gender) ใน ประชากรและการพัฒนา 40(5) มิถุนายน - กรกฎาคม 2563:8 โดยเพิ่มเรื่องการประเมินความรู้สึกทางเพศ

คำสำคัญ: เพศ เพศภาวะ บทบาททางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ เพศวิถี ความรู้สึกทางเพศ เพศที่สาม เพศกำกวม คนข้ามเพศ กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ ชายรักชาย หญิงรักหญิง รักทั้งสองเพศ คนลักเพศ สงสัยในเพศ ไม่ฝักใจทางเพศ รักทุกเพศ ไม่มีเพศภาวะ สองเพศภาวะ ทุกเพศภาวะ ยูนิคอร์นเพศภาวะ
 

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
มิติเพศที่หลากหลายในสังคมไทย

นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์

พิธีกร

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th