The Prachakorn

Work From Home คำ.ตอบ Work-Life Balance?


มนสิการ กาญจนะจิตรา

17 มิถุนายน 2563
268



คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับชีวิตการทำงานแบบมีตารางเวลาที่ชัดเจน มีเวลาเข้างาน เลิกงาน มีวันทำงานและวันหยุดที่แน่นอน ชีวิตการทำงานของคนส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้มานานนับปี และไม่ได้มีทีท่าจะเปลี่ยน จนกระทั่งวันหนึ่ง...มีเชื้อไวรัสตัวหนึ่งที่เข้ามาทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้หลายประเทศต้องปรับเปลี่ยนการทำงานเพื่อลดความเสี่ยงของประชากรต่อการติดเชื้อ ซึ่งหนึ่งในแนวทางสำคัญที่ใช้กันทั่วโลก คือ การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home - WFH) 

ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในประเทศไทยหลายภาคส่วนได้ปรับรูปแบบการทำงานเป็นการ WFH ตั้งแต่ภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานในประเด็นการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work-Life Balance - WLB) แนวทางนโยบายหนึ่งที่มักถูกยกขึ้นมาเสมอในการส่งเสริมสมดุลชีวิต คือ การทำงานจากที่บ้าน ดังนั้น เมื่อโควิด-19 บีบให้หลาย ๆ หน่วยงานต้องเริ่มใช้มาตรการ WFH จึงเป็นโอกาสอันดีในการทบทวนความเป็นไปได้ของนโยบายนี้

ก่อนอื่น มาดูกันว่า WFH เกี่ยวข้องกับ WLB อย่างไร? 

ชีวิตเราทุกคนมีหลายด้าน แต่มักถูกแบ่งกว้าง ๆ เป็น 2 ด้าน ได้แก่ ด้านการทำงานและด้านส่วนตัว การมีเวลาที่เพียงพอสำหรับชีวิตแต่ละด้าน รวมถึงความสามารถในการควบคุมการใช้เวลาในแต่ละด้าน เป็นปัจจัยสำคัญของ WLB เพราะเมื่อใดที่รู้สึกว่าใช้เวลาชีวิตสำหรับด้านใดด้านหนึ่งมากจนเกินไป จนไม่มีเวลาสำหรับชีวิตอีกด้าน เมื่อนั้นจะเกิดความรู้สึกไม่ “สมดุล” ในชีวิต

ความ “สมดุล” นี้แตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคน ขึ้นอยู่กับอายุ สถานะทางการเงินและสังคม และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย แต่เวลาที่แต่ละคนต้องใช้ในชีวิตการทำงานไม่ได้ยืดหยุ่นตามความต้องการที่หลากหลาย เพราะเวลาทำงานมักถูกกำหนดมาแล้วอย่างตายตัว ทำให้แต่ละคน ไม่ว่าความต้องการและหน้าที่ในชีวิตจะเป็นอย่างไร ก็ต้องบริหารจัดการกับเวลาที่เหลือจากการทำงานให้ได้

การที่เวลาทำงานถูกกำหนดมาอย่างตายตัวเช่นนี้ เป็นอุปสรรคในการทำงานของคนหลายกลุ่ม เช่น สำหรับครอบครัวที่มีลูก ถ้าหากเวลาการทำงานไม่มีความยืดหยุ่นพอทำให้ไม่สามารถจัดการเวลาในการดูแลลูกได้ หลายคนจำเป็นต้องหางานใหม่ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น หรือจำเป็นต้องออกจากงานเพราะงานไม่เอื้อต่อชีวิตคนมีลูก 

ดังนั้น แนวทางการทำงานจากที่บ้านน่าจะช่วยให้หลายคนจัดการกับ “สมดุล” ในชีวิตได้ดีขึ้น เพราะมีอิสรภาพในการกำหนดเวลาการทำงานของตัวเองมากขึ้น แถมยังไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทาง ทำให้มีเวลาในแต่ละวันมากขึ้น 

การเปลี่ยนมาเป็น WFH ส่งผลให้บางคนทำงานได้เยอะขึ้น บางคนทำงานได้น้อยลง นั่นเป็นเพราะเมื่องานเข้ามาอยู่ในบ้าน เส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวมีความชัดเจนน้อยลง จะเช้าสายบ่ายเย็น วันธรรมดา เสาร์อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ก็ไม่ต่างกัน ตรงนี้สะท้อนถึงทั้งข้อดีและข้อเสียของแนวทาง WFH ข้อดี คือ มีโอกาสกำหนดเวลาในแต่ละวันได้ตรงตามความต้องการ น่าจะทำให้ชีวิตมีสมดุลขึ้น ส่วนข้อเสีย คือ เมื่อพื้นที่การทำงานและพื้นที่ชีวิตส่วนตัวปะปนกัน หากบริหารจัดการไม่ดี อาจะทำให้เกิดความเครียดได้ นอกจากนั้น การทำงานจากที่บ้านทำให้ขาดมิติทางสังคม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการทำงาน

โดยรวมแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าแนวทางการ WFH น่าจะช่วยให้ชีวิตหลายคน “สมดุล” ขึ้นได้ แต่แนวทางนี้จะประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องไม่เสียประสิทธิภาพในการทำงานด้วย ซึ่งการวางข้อตกลงร่วมกันที่ชัดเจนระหว่างนายจ้างและลูกจ้างตั้งแต่แรก เช่น ความคาดหวังในผลงาน น่าจะช่วยในการรักษาประสิทธิภาพในการทำงานได้ สำหรับพนักงานเอง ก็ต้องบริหารจัดการให้เวลาทำงานและเวลาส่วนตัวไม่ปะปนกันจนเกินไป เช่น การกำหนดพื้นที่ในบ้านสำหรับการทำงานโดยเฉพาะ หรือกำหนดช่วงเวลาในการทำงานและชีวิตส่วนตัวให้ชัดเจน นอกจากนั้น แนวทางการทำงานจากบ้านแบบเหลื่อมเวลา คือ การทำงานจากบ้านในบางวันเท่านั้น อาจมีความยั่งยืนกว่าในระยะยาว

เป็นที่น่าติดตามว่าภายหลังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะดีขึ้นแล้ว หน่วยงานต่าง ๆ จะยังคงมาตรการ WFH ไว้มากน้อยแค่ไหน และผลของรูปแบบการทำงานนี้ จะช่วยให้คนวัยทำงานของประเทศไทยมีสมดุลชีวิตมากขึ้นจริงหรือไม่

ภาพโดย: https://today.line.me/th/pc/article/ปรับตัวยังไงไม่ให้+“+work+ไร้+balance+”
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th