The Prachakorn

ผู้พิทักษ์ความจน (Guardians of Poverty) กับจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ


ณัฐนี อมรประดับกุล

24 สิงหาคม 2563
576



จุดเริ่มต้นของพัฒนาการและประวัติศาสตร์ของที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในบริบทโลก อาจย้อนกลับไปได้ไกลจนถึงยุคกลาง (The Middle Ages, ราวศตวรรษที่ 5-15) เมื่อผู้คนในภูมิภาคยุโรปและตะวันออกกลางในปัจจุบัน ต้องเข้าร่วมต่อสู้ในสงครามครูเสด (Crusade War, ศตวรรษที่ 11-15) ที่กินระยะเวลายาวนาน ทำให้สภาพสังคมเวลานั้นต้องพบเจอกับปัญหาเรื่องของจำนวนประชากรชายที่ล้มหายตายจากในสงคราม ความลำบากยากจนเข้าครอบงำ สภาวะบังคับที่ทำให้ผู้หญิงต้องกลายเป็นหม้าย เด็กต้องกำพร้า และมีผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้1 ซ้ำร้ายด้วยการระบาดของกาฬโรค (The Black Death) ครั้งยิ่งใหญ่ช่วงกลางศตวรรษที่ 14 ความน่าสะพรึงของโรคได้จบชีวิตผู้คนลงอย่างมากมาย และได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่สกัดกั้นการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ที่ไม่เพียงแต่ในยุโรป แต่ส่งผลไปทั่วทุกย่อมหญ้าในโลก2

ด้วยเหตุนี้ ผู้มีอันจะกินทั้งหลายเลือกที่จะผันตัวเองมาเป็น “ผู้พิทักษ์ความจน” (Guardians of Poverty) ให้แก่สังคมของตน และหนึ่งในพันธกิจสำคัญของพวกเขา คือ การสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่ยากจนเป็นการเฉพาะ หรือที่เรารับรู้และเรียกกันจนชินปากว่า “สถานสงเคราะห์คนชรา” ทั้งนี้ ผู้พิทักษ์ความจนทั้งหลายต่างเชื่อกันว่า การช่วยเหลือ สงเคราะห์ และการมีจิตคิดกุศล อย่างน้อย ๆ น่าจะช่วยบรรเทาความเกรี้ยวกราดของพระผู้เป็นเจ้า อันเป็นที่มาของภัยพิบัติและหายนะต่าง ๆ ลงได้บ้าง 

อย่างไรก็ตาม สถานสงเคราะห์สำหรับผู้สูงอายุที่ถือกำเนิดขึ้นในยุคกลางนี้ ยังคงจำกัดอยู่ในหมู่ “คนรวยที่ยากจนที่สุด” (The Poorest Rich) มากกว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ประสบกับภาวะยากจนข้นแค้นในสังคมอย่างแท้จริง ดังนั้น กว่าที่สถานสงเคราะห์จะกลายเป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับประชากรสูงอายุ จึงใช้เวลาอีกยาวนานหลายร้อยปีนับจากนั้น 

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในสังคมโลก ที่มุ่งหน้าสู่การสร้างสถานสงเคราะห์กันอย่างล้นหลาม เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้เริ่มต้นขึ้น (ในศตวรรษที่ 19) เวลานั้น สถานสงเคราะห์เองเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นและมีเป้าหมายเพื่อเป็นที่พักอาศัยให้กับผู้คนทุกชนชั้นในสังคมของยุคอุตสาหกรรม ที่ได้พ้นจากสภาวะการทำงานไปแล้ว3 

ผู้พักอาศัยในสถานสงเคราะห์ Llan-rhudd ในเวลส์ สหราชอาณาจักร
5 The Almshouse Association, History of almshouses, 
https://www.almshouses.org/history-of-almshouses/ 

และเมื่อผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา สถานสงเคราะห์สำหรับผู้สูงอายุได้กลายมาเป็น “แบบฉบับ” ของที่อยู่อาศัย (Housing) และเป็น “ตัวอย่าง” ของรูปแบบการอยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Living Arrangement for Older People) ที่สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปในเมืองใหญ่ เช่น มหานครนิวยอร์ค ลอนดอน อัมสเตอร์ดัม ปารีส อิสตันบูล และแบกแดด รวมถึงพื้นที่ที่เคยตกเป็นอาณานิคมทั่วโลก ซึ่งต่างได้รับอิทธิพลทางความคิดจากมหาอำนาจตะวันตก ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้น สถานสงเคราะห์สำหรับผู้สูงอายุ จึงปรากฏตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของโลกรวมถึงประเทศไทยของเรามาจนกระทั่งปัจจุบัน

แม้ว่าสถานสงเคราะห์คนชราจะมีชื่อเรียกกันอย่างหลากหลายตามแต่บริบททางการเมืองและสังคมของแต่ละภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นบ้านสงเคราะห์ (Almshouses) บ้านอนาถา (Poor houses) หรือแม้กระทั่งเคหะสงเคราะห์ (Workhouses) สถานพำนักเหล่านี้ล้วนถูกจัดรวมเป็นหนึ่งในที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ที่ยากไร้ (ที่มีไว้สำหรับเด็ก สตรี ผู้พิการ และผู้สูงอายุ) อันมีชื่อเสียงโด่งดังในด้านของความเสื่อมโทรม ย่ำแย่ และยากจนที่สุด จากคำบรรยายในหนังสือเรื่องโอลิเวอร์ ทวิสต์ (Oliver Twist) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนิยายเลื่องชื่อของชาร์ล ดิกเกนส์ (Charles Dickens) ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกชื่อเรียกที่กล่าวมาต่างถูกรับรู้และจัดรวมว่าเป็นประเภท “ที่อยู่อาศัยเชิงสถาบัน” (Institutional Living) สำหรับผู้สูงอายุ หรือ เป็น “สถานที่ที่บุคคลหนึ่ง ๆ ใช้เวลาส่วนใหญ่ของการตื่นและการนอนในสถานที่นั้น ซึ่งไม่ใช่บ้านของพวกเขาเอง” 4  

ภาพวาดประกอบเนื้อเพลงที่ตีความจากนิยายเรื่องโอลิเวอร์ ทวิสต์
6 D F E Auber, W H Freeman, 1843, "Just starve us," from British Library, สืบค้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563, https://www.bl.uk/romantics-and-victorians/articles/oliver-twist-and-the-workhouse

การปูพื้นเรื่องประวัติศาสตร์ที่อยู่อาศัยผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น กำเนิดผู้พิทักษ์ความจน โรคระบาด สงคราม การปฏิวัติอุตสาหกรรม การแพร่กระจายอิทธิพลทางความคิดตั้งแต่ยุคอาณานิคมในระดับสากล จนกระทั่งถึงโอลิเวอร์ ทวิสต์ ทั้งหมดต้องการสื่อใจความสำคัญถึงผู้อ่านว่า ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่ผ่านมา มักให้ความสำคัญต่อการบรรเทาปัญหาความยากจนและการเดือดเนื้อร้อนใจของผู้สูงอายุเป็นหลัก ซึ่งอาจเข้าใจได้ง่ายขึ้นด้วยชุดคำพูดในปัจจุบันว่า สถานสงเคราะห์เป็นหนึ่งในเรื่องของ “การจัดสวัสดิการ” (Welfare Provision) ของรัฐ ที่เน้นประโยชน์ของสาธารณะและเลือกที่จะช่วยเหลือผู้ที่มีความจำเป็นก่อนเป็นอันดับแรก 

สถานสงเคราะห์หรือที่อยู่อาศัยเชิงสถาบันทั้งหลายที่ผ่านมา จึงเกี่ยวข้องโดยตรงต่อเรื่อง “ความใจบุญ” (Philanthropy) “จำนวนที่เพียงพอ” (Adequacy) และ “การบรรเทาความยากจน” (Poverty alleviation) มากกว่าที่จะคำนึงถึง “ความต้องการเฉพาะด้าน” และ “ความเหมาะสม” สำหรับการอยู่อาศัยที่แท้จริงสำหรับผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตาม โลกทัศน์ของที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงอีกครั้ง เมื่อทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหม่ ๆ อย่างโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ความล้ำสมัยทางการแพทย์ที่ทำให้ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น และการที่ผู้สูงอายุกลายมาเป็นประชากรกลุ่มสำคัญของเกือบทุกสังคม ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้การตีความเรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เริ่มมีการคำนึงถึงความเหมาะสม คุณภาพ และสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัย เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุได้อย่างจริงจัง 

ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่ทั่วโลกต่างเห็นพ้องต้องกันว่า “เหมาะสม” จะเป็นอย่างไรนั้น อยากเชิญชวนให้ผู้อ่านติดตามตอนต่อไป หรือหากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม ฝากติดตามหนังสือเรื่อง “นโยบายที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ : ประวัติศาสตร์และบทเรียนจากแนวปฏิบัติที่ดีในต่างประเทศ” ซึ่งเป็นหนึ่งในผลผลิตจาก “โครงการการทบทวนและวิเคราะห์นโยบายรัฐด้านการจัดการที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุในประเทศไทย” โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เร็ว ๆ นี้

อ้างอิง

1 Huey, Paul R. 2001. ‘The Almshouse in Dutch and English Colonial North America and its Precedent in the Old World: Historical and Archaeological Evidence’. International Journal of Historical Archaeology. Vol.5 (2): 123-154
2 McNeill, William Hardy. 1989. Plagues and Peoples. New York: Anchor Books.
3 Hugman, Richard, and Jo Campling. 1994. Ageing and the Care of Older People in Europe. New York: St. Martin’s Press.
4 Higgins, Joan. 1989. ‘Defining Community Care: Realities and Myths’. Social Policy & Administration 23 (1): 3–16. https://doi.org/10.1111/j.1467-9515.1989.tb00492.x.
5 The Almshouse Association, History of almshouses, https://www.almshouses.org/history-of-almshouses/
6 Auber, D. F. E., Freeman, W. H. 1843, "Just starve us," from British Library, https://www.bl.uk/romantics-and-victorians/articles/oliver-twist-and-the-workhouse.
 



CONTRIBUTOR

Related Posts
อนาคตผู้สูงอายุไทย

ปราโมทย์ ประสาทกุล

รัฐประหาร ในเมียนมา

อมรา สุนทรธาดา

มาชะลอวัยกันเถอะ!

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ราคาของความตายในวัยสูงอายุ

จงจิตต์ ฤทธิรงค์,ธนพร เกิดแก้ว

ครัวเรือนผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

กาญจนา เทียนลาย,ศุทธิดา ชวนวัน,ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น

น้ำลาย

วรชัย ทองไทย

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

โครงสร้างอายุเปลี่ยนสังคม

ปราโมทย์ ประสาทกุล

บริโภคนิยม

วรชัย ทองไทย

Highlight ศตวรรษิกชนปี 2024

ศุทธิดา ชวนวัน

คนจนในสหรัฐอเมริกา

อมรา สุนทรธาดา

ลักษณนาม

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th