The Prachakorn

โควิด-19: ผลักเด็กข้ามชาติออกจากโรงเรียน สู่ตลาดแรงงาน ?


เฉลิมพล แจ่มจันทร์

15 พฤศจิกายน 2564
488



ช่วงที่ผ่านมา แม้ทีมวิจัยจะยังไม่มีโอกาสได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อประเมินสถานการณ์และผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อเด็กข้ามชาติในพื้นที่ได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็ได้จัดอภิปรายกลุ่มและสัมภาษณ์เชิงลึกผู้แทนจากภาคส่วนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ประเด็นข้อกังวลหนึ่งที่สำคัญ เกี่ยวกับผลกระทบของสถานการณ์ต่อเด็กข้ามชาติ เป็นเรื่องความเสี่ยงของที่เพิ่มขึ้นของเด็กข้ามชาติในการหลุด หรือ ตกหล่นจากระบบการศึกษา (ทั้งระบบโรงเรียนไทย หรือศูนย์การเรียนรู้ของเด็กข้ามชาติ) เข้าสู่ตลาดแรงงาน หรือโลกของการทำงานเพื่อหารายได้จุนเจือครอบครัวและตนเอง

รายงานคาดประมาณจำนวนแรงงานเด็ก (child labor) ปี 2563 (เผยแพร่เดือนมิถุนายน 2564 (1)) โดย ILO และ UNICEF ได้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มสถานการณ์แรงงานเด็ก (อายุ 15-17 ปี) ที่ปรับตัวดีขึ้นทั่วโลก ทั้งในด้านจำนวนและสัดส่วนที่ลดลงต่อเนื่องระหว่างปี 2543-2559 จาก 245 ล้านคน ลดลงเป็น 152 ล้านคน (จาก 16%  เป็น 9.6% ของเด็กอายุ 15-17 ปี) อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ล่าสุดในปี 2563 คาดการณ์จำนวนแรงงานเด็กทั่วโลก กลับพบว่าเพิ่มสูงขึ้นครั้งแรกในรอบ 20 ปี เป็น 160 ล้านคน ซึ่งเป็นผลกระทบที่สำคัญของสถานการณ์โควิด-19 ต่อเด็กทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่มีความเปราะบาง ในที่นี้รวม เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ เด็กข้ามชาติ และเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจน

ปัจจัยที่มีส่วนผลักให้เด็กกลุ่มนี้เข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงวัยที่ยังไม่พร้อมที่รายงานฉบับนี้กล่าวถึง มี 2 ประเด็น หนึ่ง จากปัญหาตกงานและการสูญเสียรายได้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ของสมาชิกในครอบครัวซึ่งเพิ่มปัญหาความอัตคัดและความยากจนในครอบครัว และ สอง สถานการณ์ที่โรงเรียนปิดและหยุดการเรียนการสอนในช่วงโควิด-19 ซึ่งยิ่งเป็นปัจจัยเอื้อให้เด็กต้องทำงาน เข้าสู่ตลาดแรงงานหารายได้มาช่วยจุนเจือพ่อแม่และครอบครัว ซึ่งข้อที่น่ากังวลคือ เด็กกลุ่มนี้ เมื่อได้เริ่มเข้ามาทำงานแล้ว การที่จะหยุดหรือเลิกทำงานและกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้งนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก รายงานฉบับเดียวกันนี้ คาดการณ์ว่า หากยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือหรือจัดการที่เหมาะสม จำนวนแรงงานเด็กทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้นอีกถึง 8.9 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2565 (เป็น 168.9 ล้านคน จาก 160 ล้านคนในปี 2563)

สำหรับสถานการณ์แรงงานเด็กในประเทศไทย รายงานของ U.S. Department of Labor ปี 2563(2) ยังประเมินการจัดการปัญหานี้ของประเทศไทยอยู่ในระดับที่มีความก้าวหน้าปานกลาง (moderate advancement) โดยกลุ่มเด็กข้ามชาติ หรือบุตรหลานของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน และกลุ่มเด็กชาติพันธุ์ เป็นหนึ่งในกลุ่มเด็กที่มีความเปราะบางต่อปัญหาแรงงานเด็กในประเทศ โดยเฉพาะการใช้แรงงานในรูปแบบที่เลวร้าย เช่น การหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กเพื่อการค้า การบังคับใช้แรงงานในการขายสินค้า ขอทาน หรือทำงานบ้าน การทำงานที่อันตรายหรือในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย เช่น โรงงานการผลิต ภาคการเกษตร ประมงและการแปรรูปอาหารทะเล เป็นต้น

ประเด็นที่นำเสนอข้างต้นทั้งหมดนี้ ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์หรือตัวเลขสถิติใดที่แสดงหรือยืนยันได้ว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงดำเนินอยู่ในประเทศไทย ส่งผลกระทบให้เด็กข้ามชาติจำนวนหนึ่งต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา และถูกผลักเข้าสู่การเป็นแรงงานเด็กหรือไม่ แต่อย่างน้อย เป็นประเด็นข้อกังวล ที่หน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ (ด้านการศึกษา การคุ้มครองเด็ก รวมถึงแรงงาน) ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ควรช่วยกันมีบทบาทเฝ้าระวัง และสนับสนุนในประเด็นที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว...

หมายเหตุ *คาดการณ์จำนวนปี 2565 หากไม่มีมาตรการแก้ปัญหา
ที่มา ILO & UNICEF. (2021). Child Labour: Global estimates 2020, trends and the road forward


อ้างอิง

  1. ILO & UNICEF. (2021). Child Labour: Global estimates 2020, trends and the road forward. ILO and UNICEF (online: https://www.ilo.org/global/about-the-ilo/newsroom/news/WCMS_800090/lang--en/index.htm)
  2. U.S. Department of Labor. (2021). 2020 Findings on the Worst Forms of Child Labor (Thailand: Moderate Advancement). Bureau of International Labor Affairs, U.S. Department of Labor (online: https://www.dol.gov/agencies/ilab/resources/reports/child-labor/thailand)

รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์
ทีมวิจัยโครงการ“การประเมินสถานการณ์เด็กข้ามชาติในประเทศไทยและผลกระทบจากโควิด-19”
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล



CONTRIBUTOR

Related Posts
เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

COVID-19 : รักษาระยะห่าง ดูแลระยะใจ 

พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

ทุนสังคม พลังสังคม

ภูเบศร์ สมุทรจักร

วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

โควิด-19 กับ มูลค่าชีวิตคน

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

สมองไทยย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

มองประชากรศึกษาผ่านกรอบเควียร์

ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง

ประชากรไทยเริ่มลดลงแล้ว

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เด็กน้อยอัจฉริยะ

อมรา สุนทรธาดา

มหาวิทยาลัยแบบไหนครองใจนักศึกษาไทย

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

โกหก

วรชัย ทองไทย

ในบั้นปลายแห่งชีวิต

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th