The Prachakorn

มีอะไรใน Dragon Ball ตอนที่ 2 : ภาวะผู้นำครอบครัว


อภิชัย อารยะเจริญชัย

12 ตุลาคม 2565
871



“ครอบครัว” เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิต ไม่ว่าจะสังคมใดต่างให้ความสำคัญอย่างที่สุด หน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมนี้จะดำรงอยู่ได้ด้วยปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ นอกจากจะอยู่รอดแล้วยังมีอิทธิพลต่อชีวิตของสมาชิกแต่ละคนด้วย

ในการ์ตูน Dragon Ball เราใกล้ชิดและผูกพันกับตัวละครเอก โกคู ตั้งแต่เป็นเด็กกำพร้าจนกระทั่งเติบใหญ่มีครอบครัวจนถึงเป็นคุณปู่ในตอนท้ายสุด ตามโครงสร้างทางสังคมของญี่ปุ่นก็คงนับว่าเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ครอบครัวหนึ่ง แต่หากพิจารณาตามประสาคนคิดมากอย่างผู้เขียน ก็ยังสงสัยว่าเขาได้ทำหน้าที่ “ผู้นำครอบครัว” ได้ดีเพียงพอหรือยัง (บทความนี้อ้างอิงถึงเนื้อหาที่สิ้นสุดใน Dragon Ball Z เท่านั้น)

ครอบครัวญี่ปุ่น

โครงสร้างของครอบครัวในสังคมญี่ปุ่นหรือจะสังคมไหน ๆ ก็มีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือผู้ชายเป็นใหญ่ในฐานะ “ผู้นำครอบครัว” มาตั้งแต่เริ่มต้น ในสังคมญี่ปุ่นยุคเก่าครอบครัวมีธรรมเนียมการสืบทอดโดยผู้ชายซึ่งไม่ค่อยมีความผูกพันทางอารมณ์มากนัก (ดุสิต, 2536) เนื่องจากผู้ชายต้องออกไปทำสงครามหรือไม่ก็ทำงาน แต่เขาจะเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในครอบครัว ดูแลและหาทรัพย์สิน จึงทำหน้าที่เสมือนผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จในการดูแลและต้องรับผิดชอบครอบครัว ผู้นำครอบครัวจึงได้อภิสิทธิ์บางอย่างเหนือผู้อื่นในครอบครัว ซึ่งยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กินข้าวก่อนคนแรก ตำแหน่งการนั่งบนโต๊ะอาหาร ได้แช่น้ำก่อนคนแรก มีอำนาจเด็ดขาดในการอนุญาตหรือไล่สมาชิกคนใดคนหนึ่งให้อยู่หรือออกจากบ้าน ขณะที่ภรรยาอยู่ในฐานะต่ำสุดในบ้าน ทำงานทุกอย่างภายในบ้าน ตื่นนอนก่อน ทำอาหาร ต้มน้ำอาบ แต่ได้อาบหลังสุด

ตำแหน่งผู้นำครอบครัวจะส่งผ่านไปยังลูกชายคนโต เมื่อแต่งงานจะยังได้สิทธิ์อยู่ในบ้านของพ่อแม่เพื่อสืบสายครอบครัวโดยตรง ลูกชายคนอื่นจะแยกไปสร้างครอบครัวของตนเองเป็นครอบครัวสาขา ธรรมเนียมนี้ยังคงดำรงอยู่ในสังคมญี่ปุ่น แม้จะไม่เคร่งครัดเหมือนก่อนก็ตาม ยุคเกษตรกรรมในอดีต สิทธิ์สำหรับลูกชายคนโตเป็นที่น่าอิจฉาในหมู่พี่น้อง เพราะจะได้ครอบครองที่ดิน บ้าน และอำนาจการปกครองของครอบครัว มีสิทธิ์ที่จะขับไล่สมาชิกออกจากครอบครัว ในยุคปัจจุบันก็ยังคงธรรมเนียมให้ลูกชายคนโตสืบทอดกิจการของครอบครัว จนกระทั่งยุคสมัยเปลี่ยนแปลง สิทธิ์ของลูกชายคนโตที่ต้องสืบทอดตำแหน่งผู้นำครอบครัวเริ่มไม่น่าอิจฉาเหมือนเดิม เพราะต้องแบกรับภาระทุกอย่างไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เพราะนั่นหมายถึงการทำลายครอบครัว ขณะที่พี่น้องคนอื่น ๆ แยกตัวออกไปเรียนต่อหรือทำงานได้อย่างอิสระ

จะเห็นได้ว่าหน้าที่ของ “ผู้นำครอบครัว” ในสังคมญี่ปุ่น ต้องแบกรับความรับผิดชอบมากมาย อยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลไม่ว่าจะเป็นการสานต่อกิจการ การดูแลทุกข์สุขของสมาชิก หาเงินเข้าบ้าน รักษาตระกูลให้มั่นคง ยิ่งในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมถูกคลายเกลียวไปมาก คนญี่ปุ่นสร้างครอบครัวเดี่ยวมากยิ่งขึ้น ถอยหากจากครอบครัวหลัก หรือกระทั่งเกิดพฤติกรรมการอยู่ลำพัง สถิติการแต่งงานของชาวญี่ปุ่นลดลงอย่างมาก ผลก็คือสายป่านของครอบครัวถูกตัดขาด

เราเห็นอะไรในครอบครัว Dragon Ball

ตัวละครเอกในเรื่องที่สร้างครอบครัวอย่างจริงจังคือ โกคู และ เบจิต้า ซึ่ง อ.โทริยาม่า อากิระ ผู้เขียน ผสมผสานธรรมเนียมของครอบครัวญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ

โกคูแต่งงานสร้างครอบครัวกับ จีจี้ ทั้งสองมีลูกชาย 2 คน หลานสาว 1 คน คือ โกฮัง โกเท็น และ ปัง ตามลำดับ (หากนับภาคพิเศษก็จะรวม โกคูจูเนียร์ โหลนที่เกิดจากปัง) ส่วนเบจิต้าสร้างครอบครัวกับ บลูม่า มีลูกชายและลูกสาวอย่างละ 1 คน คือ ทรังคซ์ และ บูร่า สองครอบครัวรักใคร่กลมเกลียวกันดี แม้ว่าผู้นำครอบครัวจะเคยเป็นอริต่อกันก็ตาม

ในสถานะเช่นนี้อาจกล่าวได้ว่าทั้งโกคูและเบจิต้า อยู่ในฐานะผู้นำครอบครัวรุ่นที่หนึ่ง หรือหากจะนับเป็นครอบครัวสายตรงก็ได้เช่นกัน เพราะต่างเป็นลูกชายคนโต ทั้งคู่สร้างครอบครัวของตนเองขึ้นมาหลังจากที่ครอบครัวถูกสังหาร รวมถึงกระทั่งเผ่าพันธุ์ไซย่าทั้งหมดที่ถูกกวาดล้าง จึงอาจกล่าวได้ว่านอกจากการเป็นผู้นำครอบครัวของตัวเองแล้ว ทั้งสองยังเป็นสองคนสุดท้ายของเผ่าพันธุ์ที่เป็นสายเลือดโดยตรงของเผ่าไซย่า หรือเป็นผู้นำครอบครัวไซย่ารุ่นใหม่

ทีนี้ลองมาดูกันว่าทั้งสองทำหน้าที่ผู้นำครอบครัวตามอุดมคติได้ดีเพียงใด

ครอบครัวโกคู
ที่มา https://images6.fanpop.com/image/photos/34900000/Son-Family-dragon-ball-females-34990459-720-522.jpg

สิ่งแรกที่เห็นชัดเจนที่สุดคือทั้งคู่ไม่ได้ทำงานทำการอะไรนอกจากต่อสู้ รายได้ที่เห็นเป็นรูปธรรมที่มาจุนเจือครอบครัวคือเงินรางวัลจากการต่อสู้ในศึกชิงเจ้ายุทธภพ ฝั่งโกคูนั้นลำบากหน่อยเพราะเท่าที่ดูรายได้อย่างเดียวที่มีมาจากรางวัลชนะเลิศการแข่งขัน (รองชนะเลิศสองครั้งในวัยเด็ก และชนะเลิศหนึ่งครั้งในวัยผู้ใหญ่) ซึ่งหลังจากนั้นเขาก็แต่งงานอยู่กินกับจีจี้จนกระทั่งเสียชีวิต เมื่อโกฮังขออนุญาตจีจี้ลงแข่งขัน เธอรีบอนุญาตทันทีเมื่อรู้ว่าเงินรางวัลชนะเลิศสูงถึงสิบล้าน “ลงแข่งเลยลูก เหมือนฟ้ามาโปรด สมบัติของพ่อใกล้จะหมดลงทุกที แม่กำลังคิดอยู่เลยว่าจะทำยังไงดี” (อนิเมะ Dragon Ball, ตอนที่ 205) ถึงตรงนี้ต้องชื่นชมความสามารถของจีจี้ในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยว ระยะเวลาสิบกว่าปี เธอสามารถประคับประคองครอบครัวด้วยรายได้อันจำกัดได้อย่างน่าทึ่ง 

ครอบครัวเบจิต้า
ที่มา https://comicbook.com/anime/news/dragon-ball-super-vegeta-family-man-fan-reactions

ขณะที่ฝั่งเบจิต้าดูจะสบายมากกว่าเข้าทำนองตกถังข้าวสาร เมื่อเขาใช้ชีวิตคู่กับบลูม่า ทายาทมหาเศรษฐีนักประดิษฐ์เจ้าของ แคปซูล คอร์ปอเรชั่น เบจิต้าไม่ต้องกังวลเรื่องทำมาหากิน วัน ๆ เอาแต่ฝึกฝนวิชา (เพื่ออะไรก็ไม่รู้) ในอนิเมะตอนที่ 205 บลูม่าบ่นกับโกฮังเรื่องนี้ว่า “หมอนี่ไม่รู้จักทำงานเเหมือนพ่อเธอเลย ชาวไซย่ารู้จักทำงานกันบ้างรึเปล่านะ" แต่เธอก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร เพราะมีอันจะกินไปทั้งชาติอยู่แล้ว

เอาแค่เรื่องการหารายได้เข้าบ้าน ผู้นำครอบครัวทั้งสองบ้านต่างก็สอบตกทั้งคู่

เรื่องการดูแลครอบครัวไปจนถึงการอบรมสั่งสอนลูกยิ่งไปกันใหญ่ เมื่อผู้นำครอบครัวเอาแต่ต่อสู้อาจเพราะนั่นคือสิ่งที่ทั้งคู่ทำได้ดีที่สุดแล้วในชีวิต ภาระทั้งหมดจึงตกไปอยู่กับภรรยา นอกจากงานในฐานะแม่บ้านแล้ว จีจี้และบลูม่ายังต้องทำหน้าที่ประคับประคองครอบครัวแทนผู้นำครอบครัวที่ไม่ทำอะไร จีจี้นั้นงานหนักกว่าแยะ ตามเนื้อเรื่องเราก็ไม่ได้เห็นว่าเธอทำงานทำการอะไรเช่นกัน รายได้จึงน่าจะมาจากมรดกของพ่อ (ปีศาจวัว) และเงินที่โกคูทิ้งไว้ให้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาจีจี้จึงพยายามปลูกฝังให้โกฮังทุ่มเทกับการเรียน เพื่อจะได้มีการงานทำเป็นเรื่องเป็นราว ใช้ชีวิตแบบปุถุชนทั่วไป เช่นเดียวกับบลูม่า ที่แม้จะรู้ดีว่าในอนาคต ลูกชายจะกลายเป็นนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ แต่ขณะเมื่อโลกสงบสุข ชีวิตก็ต้องดำเนินไปด้วยการทำงานทำการเหมือนคนอื่น ในภาคท้าย ๆ เราจึงเห็นทรังคซ์ในมาดผู้บริหารบริษัทใหญ่

ตรงข้ามกับผู้นำครอบครัวที่ไม่ได้ทำหน้าที่ตามที่ควรจะเป็น โกคูอาจจะพออ้างได้ว่าเพราะเขาเสียชีวิตไปแล้ว จึงใช้เวลาส่วนใหญ่ในอีกภพหนึ่ง กับโกฮังเราพอจะเห็นความผูกพันระหว่างพ่อลูกใน Dragon Ball Z ตอนต้น ๆ กับโกเท็นเราก็ยังเห็นส่วนที่อ่อนโยนและการแสดงความรักแบบไม่ขัดเขินของโกคูในตอนที่ได้พบกันเป็นครั้งแรก สวนทางเบจิต้าที่แสดงความรักไม่เป็นเอาเสียเลย เขาไม่เคยกอดลูกชายจนกระทั่งตอนใกล้จะตาย เข้าทำนองรักนะแต่ไม่แสดงออก ตรงนี้โกคูทำได้ดีกว่าด้านการแสดงความรักต่อครอบครัว ด้วยคาแร็คเตอร์ที่ถูกวางไว้ให้เป็นคนซื่อ ๆ ตรงข้ามกับเบจิต้าที่หยิ่งทะนงและไม่เคยแคร์ความรู้สึกของคนอื่น 

เรามักจะได้ยินคำแนะนำทำนองที่ว่า “ทำในสิ่งที่รักไปให้สุด ๆ เลย” แต่เราลืมบอกไปหรือเปล่าว่าโลกความจริงมันไม่ได้เป็นจริงในทุกสิ่งที่เราหวัง สิ่งที่เรารักอาจไม่สามารถค้ำชูชีวิต เราอาจต้องเลือกสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตมากกว่าสิ่งที่รักด้วยซ้ำ ทั้งโกคูและเบจิต้าเลือกในสิ่งที่เขาถนัดโดยมองข้ามภาระหน้าที่หรือทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์ คนหนึ่งรักการต่อสู้ มีความสุขกับการได้ประลองกับคนเก่ง ๆ อีกคนก็มุ่งมั่นเฉพาะเรื่องของตัวเองกับการฟื้นฟูเผ่าพันธุ์ เราสรุปได้ไหมว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับตัวเองมากกว่าเรื่องอื่น จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม และแบบนี้เราโทษพวกเขาได้ไหมว่าเขาสนใจเรื่องของตัวเองมากกว่าครอบครัว จนกลายเป็นว่าผู้นำครอบครัวที่แท้จริงคือ จีจี้ และ บลูม่า

อีกตัวละครที่เป็นข้อเปรียบเทียบและพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถทำในสิ่งที่รักควบคู่ไปกับการทำหน้าที่ผู้นำครอบครัวได้คือ คุริริน หลังโลกสงบสุขเขาอยู่กินสร้างครอบครัวกับ หมายเลข 18 ประกอบอาชีพเป็นตำรวจ ด้านหนึ่งแสดงให้เห็นว่าเขาทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สังคมได้ ไม่ต่างจากโกคูกับเบจิต้าที่พิทักษ์โลก ขณะเดียวกันก็ดูแลครอบครัว หารายได้เข้าบ้าน ทำหน้าที่ผู้นำครอบครัวตามธรรมเนียมอย่างสมบูรณ์ 

สังคมญี่ปุ่นเริ่มโดดเดี่ยวมากขึ้นทุกที สถิติการแต่งงานลดลงอย่างมาก หมายความว่าครอบครัวเกิดใหม่จะลดลง ครอบครัวอาจกลายเป็นตัวถ่วงสำหรับปัจเจกชน ยิ่งภาระหน้าที่อันหนักหนาของผู้นำครอบครัวด้วยแล้ว คนรุ่นใหม่จึงเลือกที่จะไม่มีครอบครัวดีกว่า เพื่อจะได้เดินตามทางของตัวเองอย่างอิสระ ไม่ต้องมีปัญหาว่าใครจะนำใครในครอบครัว ต่างคนต่างใช้ชีวิต ซึ่งก็คงเป็นผลดีสำหรับคนที่ตั้งใจใช้ชีวิตลำพัง ที่น่าห่วงคือครอบครัวที่เกิดใหม่ หรือกำลังจะเกิด หรือจำเป็นต้องเกิด ด้วยความจำเป็นในขณะที่ยังไม่พร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคู่ชีวิตที่ยังอายุน้อยและยังขาดวุฒิภาวะ 

มีหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยที่จูงมือกันพาครอบครัวไปได้ตลอดรอดฝั่ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอีกหลายครอบครัวที่ไปกันไม่รอด ในยุคสมัยแห่งความเท่าเทียม ความเป็น “ผู้นำครอบครัว” อาจจะไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ที่ผู้ชายอีกต่อไป ซึ่งนั่นคงไม่ใช่สาระสำคัญเท่ากับความสามารถในการนำพาครอบครัวเดินหน้าไปอย่างมั่นคง ภาระในฐานะผู้นำครอบครัวของสังคมญี่ปุ่นอาจจะดูหนักหนา แต่ผู้นำครอบครัวในสังคมอื่น ๆ ก็มีความรับผิดชอบไม่ต่างกัน ความรัก ความเข้าใจ และความร่วมมือกันของทุกคนในครอบครัว จึงน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการประคับประคองครอบครัวให้ดำรงอยู่อย่างมีความสุข


เอกสารอ้างอิง

  • ดุสิต เจษฎาพิพัฒน์. (2536). การเปลี่ยนแปลงทางสังคมของครอบครัวและหมู่บ้านในญี่ปุ่น. วารสารญี่ปุ่นศึกษาธรรมศาสตร์. 10(1), 44-49. สืบค้นจาก https://so02.tci-thaijo.org/index.php/japanese/article/view/52234
  • ปัทมาสน์ ชนะรัชชรักษ์. (2565). โพลชี้คนญี่ปุ่นไม่คิดแต่งงานมากขึ้น ผู้ชายเผยอยากได้ภรรยาที่หาเงินเก่ง ส่วนผู้หญิงอยากได้สามีทำงานบ้านเป็น. สืบค้นจาก https://thestandard.co/japanese-married (5 ตุลาคม 2565)
  • ยุพา คลังสุวรรณ. (2539). แนวคิดเกี่ยวกับระบบครอบครัวของญี่ปุ่น. วารสารญี่ปุ่นศึกษาธรรมศาสตร์. 13(1), 47-61. สืบค้นจาก https://so02.tci-thaijo.org/index.php/japanese/article/view/52105
     


CONTRIBUTOR

Related Posts
เกษมหรรษา จันทราส่องแสง

ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

ครอบครัวของเด็กซีอัลฟา

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

สมองไทยย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

เธอกำหนดชีวิตของเธอเอง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th