The Prachakorn

มีใครเครียด จากเทคโนโลยีบ้างไหม?


มนสิการ กาญจนะจิตรา

29 มิถุนายน 2566
352



เทคโนโลยีเข้ามาข้องเกี่ยวกับแทบทุกแง่มุมของชีวิตพวกเราทุกคน เทคโนโลยีทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายขึ้นในหลายด้านและยังเป็นแหล่งสร้างความเพลิดเพลินมากมายให้กับเรา จนตอนนี้นึกไม่ออกแล้วว่า จะใช้ชีวิตอย่างไรหากขาดเทคโนโลยีไป แต่ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีก็มีผลเสียต่อชีวิตของเรา หนึ่งในผลเสียที่เกิดขึ้นกับชีวิตที่พึ่งพิงเทคโนโลยีตลอดเวลานั้น คือ “ความเครียดจากเทคโนโลยี” หรือ technostress ที่สามารถเกิดขึ้นได้หากใช้เทคโนโลยีอย่างไร้ข้อจำกัด

“ความเครียดจากเทคโนโลยี” เป็นความเครียดที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการใช้โทรศัพท์มือถือที่มีการเชื่อมต่อตลอดเวลา เมื่อเรามีเทคโนโลยีนี้อยู่ในมือทำให้การดำเนินชีวิตของเราเปลี่ยนไป และเกิดความท้าทายในการบริหารจัดการการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม วันนี้จะขอชวนผู้อ่านมาสำรวจดูว่า เทคโนโลยีทำให้เกิดความเครียดอย่างไรได้บ้าง เพื่อระมัดระวังไม่ให้ตนเองหรือคนรอบข้างเกิดความเครียดจากการใช้เทคโนโลยี

  • ชีวิตที่ “ออนไลน์” (online) ตลอดเวลา เชื่อว่าผู้อ่านหลายคนคงเริ่มต้นวันด้วยการเอื้อมไปหยิบโทรศัพท์มือถือตั้งแต่ยังไม่ทันลุกจากที่นอน การเริ่มต้นวันด้วยการเล่นโทรศัพท์มือถือบางครั้งก็ทำให้เพลิดเพลิน แต่หลายครั้งก็สร้างความเครียดให้ตั้งแต่เช้า คุณอาจได้รับอีเมลจากที่ทำงานทำให้สมองคุณเริ่มกังวลกับงานตั้งแต่ตัวยังอยู่บนเตียงในระหว่างวัน โทรศัพท์มือถือของคุณก็คอยแจ้งเตือนเมื่อมีข้อความหรืออีเมลใหม่ ทำให้ชีวิตในตอนนี้ของหลายคนจึง “ออนไลน์” แทบตลอดเวลา แม้กระทั่งหากมีเวลาส่วนตัวไม่เพียงกี่นาที คนส่วนใหญ่ก็มักเลือกหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมา การเชื่อมต่อตลอดเวลาเช่นนี้ ทำให้สมองเราไม่ได้หยุดพักหรือผ่อนคลาย จึงอาจนำไปสู่ความเครียดได้
  • เวลาส่วนตัวหายไป สิ่งที่ตามมาจากการที่ชีวิต “ออนไลน์” ตลอดเวลา คือ เส้นแบ่งระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวจะเริ่มจางไป ในเมื่อเทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกให้เราสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา เราจึงเริ่มทำงานทุกที่และทุกเวลาตามไปด้วย เมื่อก่อนเราอาจบอกว่าเดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยเข้าไปสะสางงานที่ทำงาน แต่เดี๋ยวนี้ไม่จำเป็นต้องรอถึงวันพรุ่งนี้ เพราะตอนนี้ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เวลาใด เราก็สามารถทำงานได้ (ขึ้นกับความขยันของแต่ละคนด้วย) การทำงานจึงสามารถแทรกตัวเข้าไปในทุกชั่วขณะของชีวิต แล้วเช่นนี้ จะเอาเวลาที่ไหนมาพักผ่อน
  • ข้อมูลเยอะเกินจะรับไหว ยุคดิจิทัลทำให้คนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีอยู่มหาศาลได้อย่างง่ายดาย การมีข้อมูลย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่หากได้รับข้อมูลมากเกินไปอาจนำไปสู่ความเครียดได้ ผู้เขียนนึกย้อนกลับไปช่วงที่เพิ่งมีลูกคนแรกด้วยความเป็นแม่มือใหม่ จึงมักใช้เวลาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก แต่จำได้ว่ายิ่งอ่านกลับยิ่งสับสน (เพราะข้อมูลหลายแหล่งก็ขัดแย้งกันเอง) ยิ่งอ่านกลับยิ่งรู้สึกกดดัน (เพราะข้อมูลทำให้เราเพิ่มความคาดหวังต่อการทำหน้าที่แม่ของตัวเอง) และยิ่งอ่านกลับยิ่งกังวล (เพราะไปรับรู้ความเสี่ยง โรคภัย หรือความล่าช้าทางพัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้) ตอนนั้นจึงรู้ซึ้งดีถึงความเครียดจากการมีข้อมูลที่เยอะเกินไป
  • กลัวพลาดเหตุการณ์สำคัญ โลกเรามีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายทุกวัน ทุกชั่วโมง แม้กระทั่งทุกนาที การคอยเช็คข้อมูลข่าวสารทำให้เรารับรู้ถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกและสังคมของเรา รวมทั้งในสังคมออนไลน์ ทำให้เรารับรู้ความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนในสังคมของเราตลอดเวลาแต่บางครั้งอาจเกิดความรู้สึกกลัวตกกระแสในช่วงที่ไม่ได้เปิดโทรศัพท์มือถือ จนอาจเกิดความรู้สึกกระวนกระวายได้ และนั่นเป็นอีกสาเหตุที่เทคโนโลยีสร้างความเครียดให้กับผู้ใช้ได้

ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงบางส่วนที่เทคโนโลยีอาจสร้างให้เกิดความเครียดได้ อย่างไรก็ดี เราอยู่ในยุคดิจิทัล จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้เทคโนโลยีได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือการควบคุมการใช้งานของตนเอง ในแต่ละวัน ลองจัดสรรเวลาในการ “ออฟไลน์” (offline) บ้าง โดยอาจเริ่มจากการวางโทรศัพท์มือถือไว้ไกลจากเตียงนอน เพื่อจะได้ไม่หยิบโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งแรกในตอนเช้า หรือวางโทรศัพท์มือถือไว้ห่างตัวเมื่อกลับถึงบ้านในตอนเย็น เพื่อเพิ่มเวลาคุณภาพกับครอบครัว หรือการปิดแจ้งเตือนต่างๆ เพื่อไม่มีสิ่งคอยกระตุ้นให้ใช้โทรศัพท์มือถือ และที่สำคัญควรสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เคารพช่วงเวลาส่วนตัว ไม่ติดต่อเรื่องงานในช่วงเวลาส่วนตัว เพียงเท่านี้คุณก็สามารถลดความเครียดจากเทคโนโลยีได้

รูป: ชีวิตที่ออนไลน์ตลอดเวลา อาจนำไปสู่ความเครียดจากเทคโนโลยี
ที่มา: freepik สืบค้นเมื่อ 10 พฤษภาคม 2566

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th