The Prachakorn

เห็นใจผู้สูงอายุที่ต้องเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ


ปราโมทย์ ประสาทกุล

10 ตุลาคม 2566
636



ต้นเดือนตุลาคม 2566

ย่างเข้าไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 แล้ว วันเวลาผ่านไปเร็วมาก แต่ละวันๆ พระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้า เผลอแพล็บเดียวพระอาทิตย์ดวงเดิมก็ลาลับไปตอนเย็นค่ำ แต่ละสัปดาห์ผ่านไปไวเหลือเกิน ปีหนึ่งมี 52 สัปดาห์ ปี 2566 นี้ เหลือเวลาอีกเพียง 10 สัปดาห์เท่านั้น เมื่อยังเป็นหนุ่ม ผมเคยตั้งเป้าหมายว่าจะมีชีวิตอยู่ให้นานถึง 80 ปี เท่ากับอายุของพระพุทธเจ้า ถ้าเป็นไปตามหมุดหมายที่คิดไว้ ผมก็มีเวลาหายใจอยู่อีกประมาณไม่ถึง 500 สัปดาห์เท่านั้น

สถานการณ์ประชากรของประเทศไทย

เมื่อเอาสถิติข้อมูลประชากรจากทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มาวิเคราะห์ดูแล้ว เราจะเห็นว่าประชากรตามทะเบียนราษฎรในปี 2565 มีอัตราเพิ่มติดลบ ในปี 2565 จำนวนเกิดน้อยกว่าจำนวนคนตายประมาณเกือบ 9 หมื่นคน เด็กเกิด 5 แสนคน คนตายเกือบ 6 แสนคน คิดเป็นอัตราเพิ่ม(ไม่รวมการย้ายถิ่นเข้าออกประเทศ) ประมาณร้อยละ -0.02 หมายความว่าประชากรที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรของประเทศไทยกำลังลดลงแล้ว

อัตราเพิ่มประชากรของประเทศไทยติดลบเป็นปีที่ 2 และยังมีแนวโน้มว่าปี 2566 นี้ อัตราเพิ่มประชากรจะยังคงติดลบต่อไปอีกเป็นปีที่ 3 ตามที่พวกเราที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคมเฝ้าติดตามจำนวนเกิดและตายในแต่ละเดือนของปี 2566 เมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคม มีเด็กเกิดแล้ว 291,534 คน และมีคนตายไปแล้ว341,702 คน คนตายมากกว่าคนเกิดเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 เป็นจำนวนมากถึง 5 หมื่นรายแล้ว!

กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้รายงานข้อมูลสถิติประชากรของประเทศไทยที่น่าสนใจไว้มากมาย เมื่อ 50-60 ปีก่อนคงไม่เคยมีใครคิดว่าจำนวนเด็กเกิดจะลดน้อยลงมากมายขนาดนี้ ในช่วงเวลานั้น ประเทศไทยเริ่มนโยบายประชากรที่จะชะลออัตราเพิ่มโดยใช้โครงการวางแผนครอบครัวด้วยระบบสมัครใจเพราะอัตราเกิดสูงมากเหลือเกิน ระหว่างปี 2506 ถึง 2526 มีเด็กเกิดในแต่ละปีเกินกว่า 1 ล้านคน ในปี 2514 มีเด็กเกิดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย คือมากถึง 1 ล้าน 2 แสนกว่าคน พวกเราลองคิดดูว่าเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร ในปี 2565 มีเด็กเกิดเพียง 5 แสนคนคิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 40 ของการเกิดในปีที่เด็กไทยเกิดมากที่สุดเท่านั้น

มาดูสถิติจำนวนคนตายบ้าง เมื่อ 50 ปีก่อน แต่ละปีมีคนตายไม่ถึง 3 แสนคน แต่ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมานี้จำนวนคนตายเพิ่มขึ้น ในปี 2564 คนไทยตาย 5 แสน 5 หมื่นคน ปี 2565 จำนวนคนตายเพิ่มขึ้นเกือบแตะหลัก 6 แสนคนแล้ว และยังมีแนวโน้มว่าจำนวนคนตายในปี 2566 นี้จะยังเพิ่มขึ้น คนตายมากกว่าคนเกิดจนทำให้อัตราเพิ่มประชากรติดลบเป็นปีที่ 3 อย่างแน่นอน

ประชากรไทยมีอายุสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในขณะที่อัตราเพิ่มประชากรของประเทศไทยติดลบ ซึ่งเท่ากับประชากรไทยที่ไม่นับรวมการย้ายถิ่นเข้า/ออกที่เป็นแรงงานข้ามชาติ กำลังลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง อัตราเพิ่มประชากรสูงอายุกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ประชากรยิ่งอายุมากยิ่งเพิ่มเร็วประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นด้วยอัตราประมาณร้อยละ 4-5 ต่อปี ในขณะที่ประชากรสูงอายุวัยปลาย (อายุ 80 ปีขึ้นไป) กำลังเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7-8 ต่อปี!

ไม่น่าแปลกใจนะครับ ที่ประชากรสูงอายุจะเพิ่มเร็วยิ่งขึ้นอีกในช่วงเวลาตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ขอให้นึกภาพดูนะครับ ประชากรรุ่นเกิดปี 2506-2526 ที่เรียกว่า “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” หรือ “สึนามิประชากร” ปีนี้จะเคลื่อนตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ (60 ปี) เป็นปีแรกนับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป แต่ละปีๆ จะมีคนไทยกลายเป็น “ผู้สูงอายุ” ตามคำจำกัดความที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคืออายุ 60 ปี ปีละไม่ต่ำกว่า 8 แสนคน อีก 20 ปีข้างหน้า คลื่นยักษ์ประชากรลูกนี้ก็จะกลายเป็นผู้สูงอายุทั้งหมด

ดังนั้น อีก 20 ปีข้างหน้า เราจึงมองเห็นภาพประเทศไทยเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” อย่างแน่นอน 1 ใน 3 ของคนไทยจำนวนประมาณ 60 ล้านคน จะมีอายุ 60 ปีขึ้นไป

อย่างที่เคยเขียนไว้ใน “ประชากรและการพัฒนา” หลายครั้งว่าประชากรอายุสูงขึ้นก็จะมีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถพึ่งตัวเองได้เพิ่มสูงขึ้น คนเราเมื่อมีอายุมากขึ้น อวัยวะต่างๆ ของร่างกายก็จะเสื่อมสภาพลง ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไม่ติดต่อทั้งหลาย เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันเลือด ก็จะเพิ่มสูงขึ้น ความปรารถนาของพวกเราทุกวันนี้คือ ทำอย่างไรจึงจะให้ตัวเองเป็นอิสระ ยืนอยู่บนขาของตัวเองได้ คือยังสามารถทำกิจวัตรประจำวัน เช่น กิน ขับถ่าย อาบน้ำ แต่งตัว เดินไปไหนมาไหนได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งคนอื่นให้นานที่สุด เป็นตัวของตัวเองไปจนหมดลมหายใจ แล้วจากไปอย่างไม่ทุกข์ทรมาน น่าจะเป็นยอดปรารถนาของทุกคน

ผู้สูงอายุต้องดูแลผู้สูงอายุ

คนเราถึงจะมีบุญวาสนามากมายเพียงใดก็ตาม ก็อาจต้องมีระยะเวลาหนึ่งในชีวิตที่จะต้องพึ่งพาคนอื่น คือต้องมีผู้ดูแลในยามที่ช่วยตัวเองไม่ได้ในการทำกิจวัตรประจำวัน เมื่อครั้งสังคมไทยยังประกอบไปด้วยครอบครัวขยาย คนที่จะช่วยดูแลผู้ที่อยู่ในภาวะต้องพึ่งพา ไม่ว่าจะเป็นคนป่วย ผู้พิการ หรือผู้สูงอายุ ก็จะเป็นคนในครอบครัว แต่เดี๋ยวนี้ครอบครัวไทยมีขนาดเล็กลง คนจำนวนมากไม่แต่งงาน คนที่แต่งงานแล้วมีลูกน้อยลงหรือไม่มีลูกเลย เราจึงมองเห็นภาพผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังมากขึ้น ทั้งผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังกับคู่สมรส หรือผู้สูงอายุอยู่กับผู้สูงอายุด้วยกันโดยไม่มีคนรุ่นอื่นอยู่ด้วย

รูป: ผู้สูงอายุเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ
ที่มา: https://www.synphaet.co.th/ใส่ใจดูแล-ผู้สูงอายุ/
สืบค้นเมื่อ 7 กันยายน 2566

ถ้าผู้สูงอายุมีฐานะทางเศรษฐกิจดี ก็อาจใช้บริการการดูแลผู้สูงอายุได้ไม่ยากนัก ทุกวันนี้ผมได้เห็นปรากฏการณ์ที่ผู้สูงอายุทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุด้วยกัน ตัวอย่างเช่น
    - ลูกที่เป็นผู้สูงอายุต้องทำหน้าที่ดูแลพ่อ/แม่
    - น้องชายที่เป็นผู้สูงอายุดูแลพี่ชายซึ่งป่วยติดเตียง
    - น้องสาวที่เป็นผู้สูงอายุดูแลพี่สาวสูงอายุที่ป่วยเป็นหลายโรค
    - สามีผู้สูงอายุดูแลภรรยาสูงอายุที่ป่วยติดเตียง

การดูแลผู้สูงอายุรายต่างๆ เหล่านี้ เกือบทุกรายใช้วิธีการจ้างผู้ดูแล แต่ตัวผู้สูงอายุเองก็ต้องคอยกำกับดูแลคนที่จ้างมาช่วยงานนั้นอยู่ด้วย แต่มีบางรายที่ผู้สูงอายุต้องทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุโดยไม่มีผู้ช่วย

การจ้างคนมาดูแลผู้สูงอายุที่บ้านมีค่าใช้จ่ายไม่น้อยนะครับถ้าจ้างคนมาจากศูนย์บริการผู้ดูแลผู้สูงอายุ ก็เสียค่าบริการเดือนละไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท อาทิตย์หนึ่งต้องให้ผู้ดูแลหยุด 1 วัน ถ้าให้เขาทำงานในวันหยุดก็ต้องจ่ายค่าจ้างพิเศษ ค่าจ้างผู้ดูแลจะไม่รวมค่าอาหาร เวชภัณฑ์ สุขภัณฑ์ (ผ้าอ้อม) ฯลฯ

สำหรับผู้สูงอายุที่ดูแลผู้สูงอายุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ พี่ น้อง เท่าที่ได้ฟังคำบอกเล่ามา เมื่อเริ่มรับภาระหน้าที่นี้ แรกๆ จะเครียดมาก กว่าที่จะปรับตัวได้ก็ต้องใช้เวลานานพอสมควร

ท่านผู้อ่านบทความนี้ ถ้าไม่อยากเป็นผู้ได้รับการดูแลซึ่งจะเป็นภาระที่หนักมากของผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการดูแลเรา วันนี้เราก็ต้องทำตัวให้มีอายุยืนยาวขึ้นในแต่ละวันๆ อย่างมีสุขภาพดี ด้วยการรู้จักกิน รู้จักพักผ่อน ออกกำลังกาย และทำจิตใจให้ผ่องใสเบิกบานอยู่เสมอ พยายามส่งเสริมสุขภาพของตัวเองตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้เรามีพลังไปจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต


ภาพปก freepik.com (premium license)



CONTRIBUTOR

Related Posts
60…ใช่ว่าต้องหยุด (ทำงาน)

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

ราคาของความตายในวัยสูงอายุ

จงจิตต์ ฤทธิรงค์,ธนพร เกิดแก้ว

ในบั้นปลายแห่งชีวิต

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เพศหลากหลาย Happy SDG กับ ภาพจำ ที่เปลี่ยนผ่าน?

วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

ครอบครัวของเด็กซีอัลฟา

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

คุกโลก......ล้น

อมรา สุนทรธาดา

ดูแลผู้ดูแลสักนิด

กาญจนา ตั้งชลทิพย์,อารี จำปากลาย

ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th