The Prachakorn

‘ตายตั้งตัว’ เมื่อประชากรรุ่นอายุ (Cohort) ดิจิทัล เริ่มตั้งตัวกับความตาย


พิชฌ์นิพัทธ์ วิชัยโน

31 ตุลาคม 2566
618



“เมื่อสังคมใกล้ชิดกับดิจิทัล ความตายก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป”

ความตาย (Death) และการตาย (Dying) เป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวของเราทุกคน ในทุกนาทีที่เราดำรงอยู่กับความ ‘เป็น’ ความ ‘ตาย’ ก็เป็นของคู่กัน บทสัมภาษณ์เรื่อง มรณกรรม(เลิก)อำพราง : สนทนาเรื่องความตายกับ ‘ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์’ ในวันที่โรคระบาดทำให้เราไม่อาจตายดี เปิดพื้นที่ให้เห็นว่า การตายสามารถพบเจอได้หลากหลายรูปแบบทั้งที่เป็นการตายด้วยการตัดสินใจด้วยสาเหตุส่วนบุคคล การตายอย่างกะทันหัน การตายด้วยความเจ็บป่วย การตายกลายเป็นประเด็นที่ทุกคนไม่สามารถผลักออกไปให้ห่างจากชีวิตประจำวันได้และต้องประสบพบเจอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะกับประชากรรุ่นอายุดิจิทัลที่สามารถเข้าถึง ‘พื้นที่ออนไลน์ที่เชื่อมโยงกับความตาย’ โดยประชากรรุ่นอายุดิจิทัลสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลักคือ ชาวดิจิทัลรุ่นเก่า (Old-Digital Natives) ที่เป็นประชากรวัยทำงานที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2524 – 2543 หรือที่เรารู้จักกันว่าเป็น ‘ประชากรเจเนอเรชันวาย’ และชาวดิจิทัลรุ่นใหม่ (New-Digital Natives) เป็นประชากรวัยเรียนเกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2544 เป็นต้นไป หรือ ‘ประชากรเจเนอเรชันซี’ ซึ่งเป็นรุ่นประชากรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล อีกทั้ง ประชากรรุ่นดิจิทัลยังมีอัตลักษณ์ คุณลักษณะ และทัศนคติที่คล้ายคลึงกัน เช่น การพร้อมเรียนรู้ การชอบแสวงหาข้อมูลในโลกดิจิทัล และมองเห็นถึงความยืดหยุ่นในทุกๆ สถานการณ์1 ดังนั้น ประชากรรุ่นอายุดิจิทัลจึงมีความน่าสนใจในความสัมพันธ์ของความใกล้ชิดระหว่างโลกดิจิทัลกับความตาย

“การตายกลายเป็นประเด็นที่ทุกคนไม่สามารถผลักออกไปให้ห่างจากชีวิตประจำวันได้
และต้องประสบพบเจอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง”

ความตายที่ถูกนับเป็นจำนวน

นักประชากรศาสตร์มองความตายเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงทางประชากรจากการมองภาพของ ‘ภาวะการตาย' (Mortality) เมื่อมี 1 คนตายประชากรก็จะลดลง 1 คน ซึ่งมีลักษณะของการทำให้การตายสามารถวัดได้ด้วยวิธีการต่างๆ2 รายงาน World Population Data Sheet (2022) พบข้อมูลเกี่ยวกับความตายเชิงตัวเลขที่สำคัญคือ อัตราการตายต่อประชากรพันคน (Deaths per 1,000 Population) และอายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy) โดยใน ค.ศ. 2022 ประชากรทั่วโลกมีจำนวนอยู่ที่ 7,963 ล้านคน อัตราการตายอยู่ที่ 8 คนต่อประชากรพันคน อายุคาดเฉลี่ยที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่ตั้งแต่เกิดภาพรวม 72 ปี ซึ่งผู้ชายมีอายุคาดเฉลี่ยน้อยกว่าผู้หญิง เมื่อดูข้อมูลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประชากรรวมอยู่ที่ 4,730 ล้านคน อัตราการตายอยู่ที่ 8 คนต่อประชากรพันคน อายุคาดเฉลี่ยของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในช่วงอายุ 73 ปี โดยที่ผู้หญิงมีอายุคาดเฉลี่ยมากกว่าผู้ชาย ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอัตราการตายมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ ประเทศอินโดนีเซีย เมียนมา และไทย นอกจากนี้ สิงคโปร์เป็นประเทศที่ประชากรมีอายุคาดเฉลี่ยยืนยาวที่สุดคือ 84 ปี

แล้วคนไทยเราล่ะตายด้วยสาเหตุอะไร?

กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยสถิติการตายของคนไทยใน พ.ศ. 2564 10 อันดับแรกของสาเหตุการณ์ตาย ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โรคหัวใจขาดเลือด อุบัติเหตุจากรถยนต์ โรคเบาหวาน โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งหลอดลมและปอด โรคของตับ ความดันโลหิตสูง และโรคของทางเดินหายใจส่วนล่างเรื้อรัง

ในอนาคตผู้เขียนมีความคาดหวังอยากให้เกิดการสำรวจในทำนองที่ว่า ‘คนไทยมีการรับรู้ความตายและเตรียมความพร้อมสู่โลกของความตายอย่างไร’ โดยหน่วยงานรัฐ หรือสถาบันการศึกษาที่ให้ความสนใจเพื่อที่จะได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

นักสังคมวิทยาสนทนาความตายกันเรื่องอะไร?

เมื่อสนทนากันเรื่องความตาย นักสังคมวิทยาอย่าง Emile Durkheim เป็นชื่อแรก ๆ ที่ผู้เรียนสังคมวิทยาคงมีความคุ้นเคยเป็นอย่างมาก ความคิดหลักของ Durkheim ที่ฉายภาพปรากฏการณ์การตายในลักษณะของปัจจัยทางสังคมที่มีส่วนสัมพันธ์กับความตายผ่านการศึกษาการฆ่าตัวตาย (Suicide) ด้วยการตระเวนเก็บข้อมูลบันทึกการตายที่มีการรวบรวมไว้แล้ว โดยการฆ่าตัวตายมีความสัมพันธ์ไปกับปัจจัยทางสังคม เช่น การนับถือศาสนา เพศ อาชีพ การแต่งงาน เป็นต้น การเปลี่ยนรูปของสังคมให้กลายเป็นสังคมสมัยใหม่ทำให้ผู้คนเผชิญหน้ากับความเป็นตัวของตัวเองอย่างโดดเดี่ยว พูดคุยกับคนอื่น ๆ อย่างผิวเผินก็เป็นส่วนสำคัญในการนำมาสู่การฆ่าตัวตายจากการไม่ผูกยึดกับสังคม (Egoistic Suicide) หรือการที่สังคมไทยเราได้เผชิญหน้ากับโรคระบาดและทำให้สังคมเสียระเบียบ ซึ่งส่งผลให้มีอัตราการฆ่าตัวตายจากการที่สังคมตกอยู่ในสภาวะวิกฤต (Anomic Suicide)3

ความตายเป็นสิ่งที่สังคมให้ความหมายและเปลี่ยนแปลงไปอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึง ‘ภาวะสมัยใหม่ที่ลื่นไหล’ (Liquid Modernity) จากการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับความตายในสังคม4 การทำความเข้าใจความตายของนักสังคมวิทยาในระยะถัดมาเป็นการนำความคิดทางสังคมวิทยามาพัฒนาและประยุกต์ให้เข้ากับบริบทที่ศึกษา สังคมวิทยาได้รับกระแสจากการหันสู่ (Turn) อย่างหลากหลาย ในที่นี้อยากชวนมองความตายผ่านการหันสู่ใน 2 กระแส กระแสแรก ‘Performance Turn’ ภายใต้อิทธิพลจากความคิด Erving Goffman ที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผัสสะ (Sensory Experiences) ของเราซึ่งเชื่อมโยงเข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้าด้วยการสัมผัสกับรูป รส กลิ่น เสียง และองค์ประกอบอื่นๆ5 ตัวอย่างอย่างง่ายที่สุดคือ การที่เรานำตัวเองเข้าไปอยู่ในงานศพ เราจะรู้ได้ว่างานนี้เป็นงานศพก็จากการที่เราเห็นสิ่งของต่าง ๆ อย่างโลงศพ รูปคนตาย และธูปเทียน ซึ่งทำงานร่วมกันประสบการณ์ของผัสสะที่เราเคยได้รับรู้มาถึงความโศกเศร้าเมื่ออยู่ในงาน ความนิ่งสงบ หรือเสียงพระสงฆ์กำลังสวดก็จะทำให้เรามีการแสดงออกท่าทางออกไปตามสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

‘Material Turn’ เป็นอีกกระแสที่การศึกษาสังคมวิทยาความตายได้ให้ความสนใจ โดยข้อเสนอดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในส่วนหนึ่งของหนังสือ Sociology of Death – ความหมายของความตาย ของ ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์6 ที่มีความเชื่อมโยงระหว่างกันของสิ่งที่เป็นมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ในเหตุการณ์ของการตาย เมื่อร่างกายของเราได้เข้าสู่สภาวะการตายจากความหมายทางการแพทย์แล้ว ร่างของคนตายได้กลายเป็นวัตถุหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ไปกับวัตถุอื่น ๆ เช่น น้ำยารักษาสภาพศพ สิ่งของอุปกรณ์ที่อยู่ในงานศพ เตาเผาศพ ความรู้สึกของผู้ที่เป็นญาติมิตร เป็นต้น

“ประชากร Cohort ดิจิทัล เป็นรุ่นคนที่มีความใกล้ชิดกับความตายผ่านการพบเห็นความตายผ่านสื่อออนไลน์หลากหลายรูปแบบได้อย่างง่ายและรวดเร็ว การตายจึงไม่ได้ถูกผลักให้กลายเป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป”

‘ถ้าฉันตาย ฉันอยากจะ...’ ตั้งตัวกับความตายตามประสาประชากรรุ่นอายุดิจิทัล

ประชากรรุ่นอายุดิจิทัล เป็นรุ่นคนที่มีความใกล้ชิดกับความตายผ่านการพบเห็นความตายผ่านสื่อออนไลน์หลากหลายรูปแบบได้อย่างง่ายและรวดเร็ว การตายจึงไม่ได้ถูกผลักให้กลายเป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การทำพื้นที่ออนไลน์ให้กลายเป็นพื้นที่ของการไว้อาลัยให้กับผู้ที่ล่วงลับ7 การถ่ายทอดสดพระราชพิธีบรมศพของควีนเอลิซาเบธที่ 2 และมีส่วนร่วมด้วยแฮชแท็ก #QueenElizabeth การร่วมไว้อาลัยให้กับศิลปินที่รัก ประชากรรุ่นดิจิทัลจึงเป็นรุ่นคนที่มีความทรงจำและพฤติกรรมของการไว้อาลัยร่วมกันให้กับความตายด้วยแฮชแท็กหรือข้อความไว้อาลัยต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีลักษณะของการกล่าวถึงสิ่งที่ผู้ตายได้สร้างไว้ในเชิงคุณค่าคุณงามความดี หรือการเชื่อมโยงตนเองเข้ากับผู้ตายด้วยความสนิทสนม เป็นที่รัก และผู้ตายเป็นผู้ที่มอบความสุขให้กับเราในช่วงเวลาที่ผ่านมา

“อยู่ให้คนเขารัก จากไปให้คนเขาอาลัย ล่วงลับไปให้คนเอ่ยอ้างถึง อยู่ให้คนรักคืออยู่อย่างผู้ให้ จากไปให้คนอาลัยคือก่อนจากสร้างสรรค์แต่สิ่งมีคุณค่า ล่วงลับไปให้คนระลึกถึงคือ เวลามีชีวิตทำแต่คุณงามความดีจนเป็นที่จดจำ”
หนึ่งในคำไว้อาลัยให้กับผู้ที่จากไป

ภาพงานไว้อาลัย

แหล่งที่มา: https://www.freepik.com/free-vector/funeral-ceremony_3455972.htm#query=death&position=5&from_view=search&track=sph

ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่ง ประชากรไทยดิจิทัลเริ่มมีความให้ความสนใจกับการออกแบบชีวิตหลังความตาย (Afterlife Design) เมื่อเราก้าวสู่ชีวิตหลังความตาย เราจะไม่สามารถกำหนดสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นได้ ‘ณ ตอนนั้น’ การออกแบบ ‘ณ ตอนนี้’ จึงเป็นหนทางของการออกแบบชีวิตหลังความตายได้ดีที่สุด
    ‘ถ้าฉันตาย ฉันอยากจะ…จัดงานศพเล็ก ๆ’
    ‘ถ้าฉันตาย ฉันอยากจะ…แต่งตัวคลีน ๆ ใส่เสื้อสีแดง’
    ‘ถ้าฉันตาย ฉันขอ…กินข้าวหมูกรอบหน่อยนะ’

ชีวิตหลังความตายยังมีความเกี่ยวข้องกับความเป็นหลาย ๆ อย่าง เช่น การบริจาคร่างกายของผู้ตายเพื่อส่งต่ออวัยวะให้กับผู้ที่รอคอยการเปลี่ยนอวัยวะ การแสดงเจตนาไม่ขอรับการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต (Living Will) เป็นต้น

ประชากรรุ่นอายุดิจิทัลก็เริ่มที่จะหันมาตั้งตัวกับความตายกันมากขึ้นผ่านการแสดงความต้องการในการออกแบบความตายผ่านพื้นที่ออนไลน์ อย่างการออกแบบเสื้อผ้าที่อยากสวมใส่เมื่อตาย #burymeinthis การวางแผนข้อมูลดิจิทัลของตนเองเมื่อเข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิตให้มีความปลอดภัย

‘Remembering’ การระลึกถึงตัวตนออนไลน์เมื่อเราก้าวสู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น

‘Remembering’ หรือ ‘Memorialized’ เป็นการแสดงสถานะของบุคคลในโลกออนไลน์ สามารถพบเห็นได้ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่าง Instagram Facebook ภาวะการเกิดและการตายจึงเป็นสิ่งที่สามารถถูกแสดงได้ด้วยการสร้างตัวตนของประชากรดิจิทัลด้วยการเคลื่อนไหว (Active) จากการใช้งาน และการไม่เคลื่อนไหว (Inactive) เมื่อผู้ใช้งานเข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิต

บัญชีที่เป็นความทรงจำใน Facebook

“บัญชีที่เก็บไว้เป็นอนุสรณ์ เป็นพื้นที่สำหรับเพื่อนและสมาชิกในครอบครัวมารวมตัวกันเพื่อแบ่งปันความทรงจำหลังจากบุคคลที่เป็นเจ้าของบัญชีได้เสียชีวิตลง การเก็บบัญชีเป็นอนุสรณ์ยังช่วยรักษาบัญชีให้ปลอดภัย โดยป้องกันไม่ให้ผู้อื่นล็อกอินเข้าสู่บัญชีนั้น”

การทำให้เป็นความทรงจำใน Instagram

“สมาชิกครอบครัวที่ใกล้ชิดซึ่งได้รับการยืนยันแล้วสามารถส่งคำขอให้ลบบัญชีของบุคคลอันเป็นที่รักออกจาก Instagram ได้ เมื่อคุณส่งคำขอให้ลบบัญชี เราต้องการหลักฐานที่แสดงว่าคุณเป็นสมาชิกครอบครัวที่ใกล้ชิดของผู้ถึงแก่กรรม เช่น สูติบัตร มรณบัตร เป็นต้น”

ตัวตนและข้อมูลของประชากรรุ่นอายุดิจิทัลจึงเป็นมรดก หรือทรัพย์สินทางดิจิทัลที่มีคุณค่าและความหมายทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจ และความทรงจำที่ดี ซึ่งในทางกฎหมายสังคมไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงความหมายของความตาย


เอกสารอ้างอิง

  1. จุลนี เทียนไทย และคณะ. (2563). การสร้างความเข้าใจในคุณลักษณะ พฤติกรรม และทัศนคติในอนาคตของชาวดิจิทัลไทย. แผนงานคนไทย 4.0 ได้รับการสนับสนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.).
  2. ปราโมทย์ ประสาทกุล. (2543). ประชากรศาสตร์: สารัตถศึกษาเรื่องประชากรมนุษย์. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
  3. สายชล ปัญญชิต. (2566). แนวทัศน์สังคมวิทยา: ความคิดเชิงโครงสร้างสังคมและการประยุกต์ใช้. โครงการผลิตหนังสือและตำรา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
  4. ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์. (2566). Sociology of Death – ความหมายของความตาย. สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ.
  5. Urry, J., & Larsen, J. (2011). The Tourist Gaze 3.0. SAGE: Publications.
  6. อ้างถึงแล้ว
  7. อ้างถึงแล้ว

ภาพปก freepik.com (premium license)

 

 

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
สาเหตุการตายของคนไทย

กาญจนา เทียนลาย

สมุดเบาใจ พินัยกรรมชีวิต

สุริยาพร จันทร์เจริญ

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th