The Prachakorn

สิ้นปี 2566 นี้ จะมีคนเกิดต่ำกว่าห้าแสน ส่วนคนตายจะทะลุหกแสนหรือไม่


ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

16 พฤศจิกายน 2566
5,987



จากสังคมสูงวัย จนกระทั่งเกิดปรากฏการณ์ประชากรไทยเริ่มลดลง มีเหตุปัจจัยท้ายสุดมาจากเรื่องของการเกิดและการตายเท่านั้น เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดเร็ว จะเกิดช้า จะเกิดมาก จะเกิดน้อย ก็ขึ้นกับสองสาเหตุนี้ นักประชากรทั้งหลายจึงต้องเฝ้าติดตามการเกิดและการตายกันต่อไปอย่างใกล้ชิด
ถ้าท่านเป็นผู้ที่ติดตามเดอะประชากรอยู่เป็นประจำ ท่านอาจเคยผ่านตามาบ้างว่า ที่เว็บไซต์นี้เคยนำบทความเรื่อง “ประชากรไทยเริ่มลดลงแล้ว” (https://www.theprachakorn.com/newsDetail.php?id=720)  ที่เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล มาเผยแพร่ไว้เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2566 อันที่จริง บทความนี้ยังได้เผยแพร่ผ่านจดหมายข่าวประชากรและสังคม ปีที่ 43 ฉบับที่ 3 กุมภาพันธ์ – มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นเอกสารเผยแพร่ประเภทหนึ่งของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม อีกช่องทางหนึ่งด้วยเช่นกัน (https://ipsr.mahidol.ac.th/population-development-newsletter/)

ในบทความที่อาจารย์ปราโมทย์เขียนนั้น ได้ชี้ให้เห็นว่า จากข้อมูลของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ประเทศไทยมีจำนวนประชากร (คนที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน) สูงสุด ณ ปลายปี 2562 หรือต้นปี 2563 อยู่ที่ 66.5 ล้านคน แต่หลังจากนั้น ประชากรไทยก็ค่อยๆ ลดลง โดยเริ่มสังเกตการลดลงของประชากรได้จากการที่มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ในปีหนึ่งๆ นั้นน้อยกว่าจำนวนคนที่ตายไปทั้งหมดในปีเดียวกัน และจากการติดตามตัวเลขในปี 2564 และ 2565 มีจำนวนคนตายมากกว่าคนเกิดทั้งสองปี ทำให้อาจารย์มั่นใจว่าจำนวนประชากรไทยได้ลดลงแล้ว

เพื่อให้ประเด็นสำคัญจากบทความ “ประชากรไทยเริ่มลดลงแล้ว” ต่อเนื่องเชื่อมโยงมายังบทความนี้ ผู้เขียนขอเสริมด้วยกราฟแสดงจำนวนการเกิด การตาย จากปีล่าสุด 2565 ย้อนหลังไปจนถึงปี 2527 ซึ่งเป็นปีที่อาจนับได้ว่าสิ้นสุดประชากรรุ่นเกิดล้าน (ช่วงปี 2506 – 2526 มีคนเกิดปีละมากกว่าล้านคน คนที่เกิดในช่วงนี้ เรียกว่า ประชากรรุ่นเกิดล้าน ซึ่งปัจจุบันเขาเหล่านั้นมีอายุ 40 – 60 ปีแล้ว) เพื่อชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรไทยในช่วงเวลานี้


รูป 1 จำนวนเกิดและตายในประเทศไทย พ.ศ. 2527 – 2565
หมายเหตุ: จากข้อมูลการจดทะเบียนคนเกิด ทะเบียนคนตาย ของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง

จากรูป 1 กราฟเส้นบนแสดงจำนวนเกิด กราฟเส้นล่างแสดงจำนวนตาย ซึ่งกราฟสองเส้นนี้มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ตรงข้ามกัน การเกิดมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่การตายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ถ้าลองสังเกตตัวเลขให้ชัดเจนขึ้นอีกระดับหนึ่ง ผู้เขียนขอแบ่งช่วงการเปลี่ยนแปลงจำนวนเกิด/ตาย เป็นช่วงละ1  แสนคน เปรียบเทียบกับระยะเวลา  ในช่วงเวลา 39 ปี จาก พ.ศ. 2527 ถึง 2565 นั้น การเกิดได้ลดลงจากประมาณ 9 แสนคน มาอยู่ที่ประมาณ 5 แสนคน (ลดลงราว 4 แสน) ส่วนการตายได้เพิ่มจากประมาณ 2 แสนคน มาอยู่ที่ประมาณ 5 แสนคน เช่นกัน ทั้งการเกิดและการตายที่เปลี่ยนแปลงในช่วง 3 แสนคน ใช้เวลาพอๆ กันคือ 34 – 35 ปี แต่การลดลงของจำนวนเกิดในช่วงทศวรรษ 2560 เกิดขึ้นเร็วมากกว่าเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของการตายในช่วงเวลาเดียวกัน กล่าวคือ การเกิดได้ลดลงถึง 2 แสน ขณะที่การตายเพิ่มขึ้น 1 แสน ในระยะเวลาเพียง 5 ปี (ดูตาราง 1) นี่เองที่ทำให้เราเห็นว่าการลดลงของประชากรไทยได้เกิดขึ้นแล้ว และเกิดขึ้นในเวลาที่เร็วกว่าที่เคยคาดไว้

ตาราง ระยะเวลาและช่วง พ.ศ. ของการเปลี่ยนแปลงจำนวนเกิดและตายในประเทศไทย

หมายเหตุ: ประมาณจากข้อมูลในรูป 1

หากจะถามว่า เคยมีการคาดการณ์มาก่อนบ้างหรือไม่ ว่าประชากรของไทยจะมีจำนวนที่ลดลง คำตอบก็คือ “เคยมีการคาดการณ์” ไว้เมื่อครั้งที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคมเป็นแกนหลักของการดำเนินการคาดประมาณประชากรให้กับสภาพัฒน์ฯ ใน 2 ครั้งล่าสุด ในครั้งแรก “การคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553 – 2583” (เผยแพร่เมื่อ กุมภาพันธ์ 2556) แสดงให้เห็นว่าประชากรของไทยจากปี 2553 ยังคงเพิ่มขึ้นไปจนถึงปี 2569 และเริ่มลดลงในปี 2570 ต่อมาได้มีการปรับปรุงการคาดประมาณประชากรขึ้นใหม่ในปี 2562 ด้วยเหตุผลทางหลักวิชาการ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลพื้นฐานหลักสำหรับการคาดประมาณหลายประการ (มีข้อมูลที่ใหม่กว่า) ใน “รายงานการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553 – 2583 (ฉบับปรับปรุง)” (เผยแพร่เมื่อ สิงหาคม 2562) ได้ให้ภาพการเปลี่ยนแปลงประชากรของไทยที่แตกต่างไปจากเดิมเล็กน้อย คือ ประชากรของไทยจะเพิ่มขึ้นไปจนถึงปี 2571 และจะเริ่มลดลงในปี 2572


รูป 2 หน้าปกรายงานการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553 – 2583 และฉบับปรับปรุง

เพราะว่าการคาดประมาณก็คือการคาดการณ์จากข้อมูลต่างๆ ย่อมไม่ใช่ของจริง เพียงแต่ว่าเราจะคาดประมาณได้ใกล้เคียงของจริง มากน้อยเพียงใดเท่านั้น  ดังนั้น เมื่อสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ประกาศตัวเลขประชากร ณ วันสิ้นปี ของแต่ละปี เราจึงพบว่า ประชากรไทยได้ลดลงตั้งแต่เมื่อปี 2563 เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 9 ปีทีเดียว

มาถึงตรงนี้ ก็ขอให้ย้อนกลับไปดูที่รูป 1 และตาราง 1 ข้างบนอีกครั้ง ตัวเลขจำนวนเกิดของปี 2565 (กราฟเส้นบน) สูงเกิน 5 แสน เพียงสองพันเศษๆ ส่วนเส้นกราฟจำนวนตายก็ปริ่มๆ 6 แสน ขาดเพียงสี่พันเศษๆ เท่านั้น และเมื่อรวมกับทิศทางการการเปลี่ยนแปลงการเกิด ตาย ที่เร็วมากในช่วงทศวรรษ 2560 ด้วยแล้ว ทำให้คิดได้ว่า เมื่อถึงสิ้นปี 2566 จำนวนคนเกิดก็น่าจะต่ำกว่า 5 แสนคน ส่วนคนตายก็น่าจะทะลุ 6 แสนคน

การคาดการณ์เช่นนี้ คงใช้ได้ดีถ้าข้อมูลหยุดอยู่ที่ปี 2565 แต่ในความเป็นจริง ปัจจุบันนี้ สำนักบริหารการทะเบียน สามารถประมวลผลและเผยแพร่ข้อมูลได้เป็นรายเดือน (แต่ก่อนทำการเผยแพร่เป็นรายปี) ผ่านเว็บไซต์ https://stat.bora.dopa.go.th/stat/statnew/statMONTH/statmonth/#/view จากมกราคมจนถึงตุลาคม 2566 หรือใน 10 เดือนของปีนี้มีการเกิด 433,050 ราย หรือเฉลี่ย 43,305 รายต่อเดือน มีการตาย 472,546 ราย หรือเฉลี่ย 47,255 รายต่อเดือน จากข้อมูลล่าสุด 10 เดือนของปีนี้ อาจประมาณ ได้ว่า เมื่อถึงสิ้นปี 2566 น่าจะมีการเกิดทั้งสิ้น 519,660 คน การตายทั้งสิ้น 567,055 คน (ประมาณโดยการคูณค่าเฉลี่ย ด้วย 12) ถ้าเป็นเช่นนี้ คนเกิดในปี 2566 ก็ยังไม่ลดต่ำกว่าห้าแสนคน ส่วนคนตายก็ยังไม่ทะลุหกแสนคน

ยังเหลือเวลาอีกเดือนเศษๆ จึงจะสิ้นปี 2566 พอขึ้นสู่เดือนมกราคม 2567 เราก็จะทราบตัวเลขแท้จริงที่เผยแพร่โดยสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง และไม่ว่าตัวเลขจะออกมาเป็นอย่างไร นักประชากรทั้งหลายก็ยังคงต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงเรื่องการเกิด การตาย ต่อไป

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th