The Prachakorn

เกษียณอย่างเกษม


อุมาภรณ์ ภัทรวาณิชย์

06 กุมภาพันธ์ 2567
305



บทความของธนาคารกรุงเทพได้พูดถึง 8  วิธีที่ทำให้ชีวิตหลังเกษียณมีความสุข ตัวดิฉันได้นำมาเปรียบเทียบกับชีวิตตัวเองว่ามีอะไรบ้างที่ได้ทำไปแล้ว  ซึ่งพบว่า มี 4 อย่างที่ไม่เคยทำแต่ได้ทำเมื่อหลังเกษียณ นั่นคือ 1) การทำตารางกิจกรรมประจำวัน 2) การตั้งเป้าหมายในชีวิตใหม่ 3) การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อให้สมองได้ทำงาน  และ 4) การทำสิ่งที่ไม่จำเจ ส่วนอีก 4 อย่าง เป็นสิ่งที่ได้ทำแล้วตั้งแต่ก่อนเกษียณ ได้แก่ 1) การอยู่กับปัจจุบัน 2) การบริหารการเงินให้รอบครอบ (แต่บางครั้งก็สะเพร่าเล็กๆ) 3) การสนใจในสุขภาพ และ 4) มองโลกแง่บวก  ดังนั้นบทความนี้ จึงขอเล่าประสบการณ์ 4 อย่างที่ได้ทำหลังเกษียณ ดังนี้

หนึ่ง การทำตารางกิจกรรมประจำวัน ก่อนเกษียณสักหนึ่งเดือนดิฉันกำหนดตารางคร่าวๆ ไว้ว่า ในหนึ่งสัปดาห์จะไปอยู่ที่อำเภอปากช่อง 4 วัน เพื่อช่วยลูกชายและลูกสะใภ้ที่ตัดสินใจไปใช้ชีวิตทำเกษตร โดยในช่วงเวลา 4 วันนี้ก็จะเลี้ยงแมวจร 29 ตัว ซึ่งได้ถูกย้ายจากกรุงเทพฯ ไปอยู่ปากช่อง ส่วนอีก 3 วันในหนึ่งสัปดาห์ที่เหลือ จะมาอยู่กรุงเทพฯ เนื่องจากสามีไม่ยอมเกษียณ (ทั้งๆ ที่อายุเกิน 60 ปีมาได้ 1 ปีกว่าแล้ว) เมื่อได้ไปอยู่ปากช่องจริงๆ ดิฉันต้องแจกแจงตารางกิจกรรมในแต่ละวันอย่างละเอียด เพราะมีกิจกรรมใหม่ๆ ที่ตัวเองไม่เคยทำเข้ามาอย่างไม่ได้คาดคิด (รายละเอียดอยู่ในหัวข้อการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่จะเล่าต่อไป) ใครบอกว่าคนเกษียณมีเวลาว่าง ตัวเองเถียงหัวชนฝาเลย หลักฐานดูได้จากการเข้านอนเร็วมาก คือ 2 ทุ่มครึ่งทุกวัน และหลับสนิทจน ตีสี่ครึ่ง เพื่อลุกขึ้นมาทำอาหารให้แมว ซึ่งในช่วง 4 วันในหนึ่งสัปดาห์ที่อยู่ปากช่อง ทาสแมวคนนี้ได้ทำอาหารพิเศษให้เจ้านาย 29 ตัว คือ ไก่สับผสมปลาทูสดนึ่ง แต่อีก 3 วัน เจ้านายไม่ได้กินอาหารพิเศษ ได้กินแต่อาหารเม็ดในโถอาหารอัตโนมัติ

รูปถ่ายโดยผู้เขียน

สอง การตั้งเป้าหมายในชีวิตใหม่ เป้าหมายนี้เป็นเป้าหมายที่อยากทำแต่ไม่เคยได้ทำมาก่อนเลย นั่นคือ การทำเกษตร แม้ว่าตัวเองในวัยเกษียณไม่ใช่ตัวหลักในการทำเกษตร แต่การที่ลูกชายและลูกสะใภ้ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานจากกรุงเทพฯ มาใช้ชีวิตแบบ “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” บนที่ดินที่ตนเองและสามีซื้อไว้เมื่อ 16 ปีที่แล้ว เพื่อช่วยกันพลิกจากผืนป่ามาเป็นโรงเรือนปลูกผัก ทำให้เป้าหมายในชีวิตของตนเองที่เคยคิดอยากทำ ได้ประสบผลตามที่ตั้งใจไว้ โดยที่เราเองเป็นคนสนับสนุนเขาทั้งกำลังใจ กำลังทรัพย์ และกำลังแรงเล็กๆ น้อยๆ

สาม การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า การทำเกษตรเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ดังนั้น การเรียนรู้จากการเข้าไปช่วยลูกชายและลูกสะใภ้จึงเป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้ โดยเริ่มจากการไปช่วยเก็บผัก (สวนเป็นผักไฮโดรโปนิกส์) และเด็ดใบผักที่ไม่สวยก่อนส่งตลาด หลังจากทำงานนี้ได้ 1 เดือน ก็เริ่มเขยิบมาเป็นผู้ติดต่อลูกค้ารายใหม่ เพราะเราวางแผนขยายโรงเรือนออกไปอีกเป็น 8 โรงเรือน การได้ลูกค้าใหม่ก่อนเพาะกล้าในโรงเรือนใหม่จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากเราได้ผลผลิตแล้วแต่หาลูกค้าไม่ได้ ผลผลิตที่เราขยายก็จะเน่าเสีย เดิมทีเราส่งแต่แม่ค้าในตลาดปากช่อง เพื่อให้เขานำไปขายปลีกบ้าง ส่งต่อโรงแรมบ้าง แต่คราวนี้เราเพิ่มลูกค้ารายใหม่คือ ร้านอาหาร และโรงแรม ราคาที่ส่งร้านอาหารและโรงแรมสูงกว่าส่งให้แม่ค้าคนกลางในตลาดเล็กน้อย แม้ว่าทางร้านอาหารและโรงแรมจะสั่งไม่มากเท่าแม่ค้าที่ตลาด แต่เราเน้นร้านอาหารและโรงแรมบริเวณในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากสวน เพราะถ้าสั่งน้อยแต่ต้องขับรถไปเกินรัศมีที่ไกลออกไปกว่านั้นก็จะไม่คุ้มค่าน้ำมัน ในมุมของร้านอาหารและโรงแรมนั้น การที่เขารับตรงจากสวนสามารถลดต้นทุนของเขาลงไปได้มาก ถือว่า “วิน-วิน” ด้วยกันทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ นั่นคือการเรียนรู้ที่ได้ติดต่อกับลูกค้ารายใหม่ พอเข้าเดือนที่ 3 หลังเกษียณ ก็เริ่มมีหน้าที่ส่งผักที่ร้านอาหารและโรงแรมใกล้ๆ เป็นประสบการณ์ที่สนุกที่ไม่เคยได้ทำมาก่อน ได้เปลี่ยนบทบาทจากอาจารย์มหาวิทยาลัยมาเป็นแม่ค้าส่งผัก ได้พูดคุยกับแม่ครัว คนงาน และเจ้าหน้าที่ รปภ. ซึ่งการที่เราเคยได้ลงไปทำงานวิจัยในพื้นที่ตอนยังไม่เกษียณ ทำให้เราไม่จำเป็นต้องปรับตัวมากมายเลย

สี่ การไม่ทำอะไรจำเจ จริงๆ แล้ว การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่กล่าวมาแล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำอะไรไม่จำเจ แต่ในประเด็นที่ 4 นี้จะกล่าวถึงการใช้ชีวิตส่วนตัวที่ไม่จำเจ ได้แก่ การเดินทางไปกลับกรุงเทพฯ-ปากช่อง ซึ่งช่วง 2 เดือนแรกของการเกษียณ ตัวเองใช้วิธีขับรถไปกลับทุกสัปดาห์ ซึ่งเปลืองทั้งน้ำมันและเสียเวลาที่ใช้ในการขับรถถึง 3 ชั่วโมง พอดีเห็นแอปพลิเคชันของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งสามารถจองตั๋วออนไลน์ได้ ดิฉันเลยโหลดแอปพลิเคชันมาแล้วเข้าไปจองตั๋วทันที แม้ว่ารถไฟของไทยส่วนใหญ่จะค่อนข้างเก่า แต่ก็สะอาด และมีพนักงานรถไฟเป็นผู้ชายอายุกลางคนคอยดูแลผู้โดยสารในรถด่วนตู้ปรับอากาศชั้น 2 ดีพอสมควร ทำให้ช่วงเวลา 3 ชั่วโมงที่เดินทางระหว่างกรุงเทพฯ ถึงปากช่อง หรือระหว่างปากช่องถึงกรุงเทพฯ ได้นอนหลับบ้าง ชมวิวบ้าง หรืออ่านหนังสือนิยายที่ “กองดอง” มานาน การได้สัมผัสชีวิตคนเดินทางโดยรถไฟ ตั้งแต่อยู่ที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์จนถึงอำเภอปากช่อง ช่างเป็นอะไรที่ “ชิล” มากๆ

ประสบการณ์หลังเกษียณ 3 เดือนที่เล่ามาข้างต้น  สะท้อนให้เห็นว่า แม้ไม่ได้ทำงานประจำที่ตนเองเคยทำมามากกว่าครึ่งชีวิต แต่การปรับจิตใจและมุมมองของตนเองโดยไม่ยึดติดกับสิ่งเดิมๆ เป็นการ “รีเซต” ชีวิตของตนเองใหม่ที่ทำให้รู้สึกสนุกและมีความสุขกับชีวิต ยิ่งกว่านั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ การไม่เป็นภาระให้ลูกหลาน แต่ในทางกลับกัน เราสามารถช่วยเหลือลูกหลานได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับสิ่งตอบแทนเป็นเงินทองใดๆ ก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างมหัศจรรย์ของการเห็นคุณค่าของตนเองในช่วง 3 เดือนหลังเกษียณ


เอกสารอ้างอิง

  • จุฑารัตน์ แสงทอง. (2015). การเห็นคุณค่าในตนเองของผู้สูงอายุผ่านบทบาทอาสาสมัคร. สารอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์. https://so06.tci-thaijo.org/index.php/cjwu/article/view/95373/74500
  • ธนาคารกรุงเทพ. (2021). 8 วิธีชีวิตดี! เกษียณสุขจนลืมวัย.  https://www.bangkokbanksme.com/en/how-life-is-good-retire-to-be-happy

ภาพปก freepik.com (premium license)


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th