The Prachakorn

โลกเย็นลงได้ด้วยมือเรา: อย่าปล่อยให้เสื้อผ้าทำร้ายโลก


อารี จำปากลาย

08 กุมภาพันธ์ 2567
192



หลายปีมานี้ ผู้เขียนพยายามที่จะเป็น minimalist1 ที่คิดมากขึ้นก่อนตัดสินใจซื้ออะไรเพิ่มให้ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ ข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ หรือเสื้อผ้า ตอนแรกเพียงหวังว่าการเป็นเจ้าของน้อยสิ่งลง จะมีเหลือเผื่อคนอื่นมากขึ้น แต่เมื่อคนพากันตื่นตัวเรื่องโลกร้อน หรือโลกรวน ผู้เขียนมีความหวังเพิ่มขึ้นอีกอย่างว่า นี่คือสิ่งเล็กๆ ที่อาจมีผลยิ่งใหญ่ต่อการมีส่วนช่วยให้โลกเย็นลง

เราต่างรู้ดีว่าการใช้ชีวิตในโลกปัจจุบัน หลายเรื่องไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างการใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง การเดินทางระหว่างประเทศด้วยเครื่องบิน หรือการขับรถยนต์ส่วนตัวไปทำงาน แต่เมื่อมาถึงเรื่องเสื้อผ้า หลายคนลืมคิดไปว่า เสื้อผ้าธรรมดาๆ ก็ทำร้ายโลกได้เช่นเดียวกัน

อุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นภาคการผลิตที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกและเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกของทั้งโลก (World Economic Forum, 2020)

แม้จะห่างไกลจากความเป็นคนช่างแต่งตัวหลายปีแสง กระนั้นทุกครั้งที่ผู้เขียนเปิดตู้เสื้อผ้า อดรู้สึกไม่ได้ว่า ตู้เสื้อผ้าของเราเล็กไปไหม และแอบคิดต่อไปอีกว่า แล้วคนที่ให้ความสำคัญกับแฟชั่นเล่า เสื้อผ้าเขาจะล้นตู้หรือเปล่า


รูป 1: ทะเลทรายในประเทศชิลี หนึ่งในที่ที่แห้งแล้งที่สุดในโลก กลายเป็นจุดทิ้งเสื้อผ้าขนาดยักษ์
ที่มา: https://urbancreature.co/chile-fast-fashion-desert/ สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2567

มีใครเคยสงสัยกันไหมว่า เสื้อผ้าที่เราไม่ใช้แล้วไปอยู่ที่ไหน ว่ากันว่า ในแต่ละปี เสื้อผ้าที่ตกรุ่นหรือขายไม่ได้กว่า 60,000 ตัน ถูกขนไปทิ้งที่ทะเลทรายอาตากามา ประเทศชิลี หนึ่งในที่ที่แห้งแล้งที่สุดในโลก และกลายเป็นจุดทิ้งเสื้อผ้าขนาดยักษ์ (PPTV online, 2564)

เสื้อผ้าที่ถูกทิ้งเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตของอุตสาหกรรมที่เรียกกันว่า fast fashion หรือแฟชั่นวงจรสั้นๆ ที่ผลิตเสื้อผ้าในราคาไม่แพง เน้นการขายปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว ใช้การตลาดเชิงจิตวิทยาให้ผู้บริโภครู้สึกว่า ต้องซื้อเสื้อผ้าใหม่ตลอดเวลาเพื่อตามแฟชั่นให้ทัน เกิดพฤติกรรมการบริโภครวดเร็ว เบื่อเร็ว เปลี่ยนง่าย ทิ้งเร็ว fast fashion เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 1990 ซึ่งเป็นช่วงการเติบโตของชนชั้นกลางโดยเฉพาะในเอเชีย ก่อนหน้านี้ การผลิตเสื้อผ้าเน้นตามฤดูกาล ซึ่งมี 2 รอบต่อปี คือ ฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูร้อน และฤดูใบไม้ร่วง-ฤดูหนาว แต่ fast fashion ทำให้วงจรของแฟชั่นสั้นลง (Bick et al., 2018)

fast fashion มุ่งลดต้นทุน เน้นการผลิตและขายปริมาณมากและเร็วที่สุด fast fashion จึงทำให้ผู้ซื้อรู้สึกคุ้มค่าในการจับจ่าย เพราะจ่ายน้อยแต่ได้สินค้าจำนวนมากที่ราคาไม่แพง หรือ less (money) for more (clothes)

นอกจากถูกตั้งคำถามในประเด็นของการใช้แรงงานราคาถูกอย่างไม่มีจริยธรรมแล้ว fast fashion ยังถูกวิจารณ์เรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะการผลิตเสื้อผ้าในปริมาณมากและอย่างรวดเร็ว หมายถึง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้มข้น วัตถุดิบที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมนี้คือ ฝ้าย ซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำปริมาณมหาศาลในการเพาะปลูก

ผู้เขียนเพิ่งรู้ว่า เพื่อผลิตเสื้อผ้าฝ้าย 1 ตัว ต้องใช้น้ำเพื่อปลูกฝ้ายถึง 2,700 ลิตร และเพื่อผลิตกางเกงยีนส์ 1 ตัว ต้องใช้น้ำถึง 7,500 ลิตร ถ้าเราดื่มน้ำวันละ 2 ลิตร เท่ากับว่า เพื่อผลิตกางเกงยีนส์เพียง 1 ตัว ต้องใช้น้ำในปริมาณที่เราดื่มได้นานมากกว่า 10 ปีเลยทีเดียว

แต่การใช้วัตถุดิบอื่นในการผลิตเสื้อผ้า เช่น ใยสังเคราะห์พอลีเอสเทอร์ ก็ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เพราะวัตถุดิบในการผลิตใยสังเคราะห์พอลีเอสเทอร์คือ น้ำมันปิโตรเลียม ต้นเหตุหนึ่งของการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก และทุกๆ ครั้งที่เราซักเสื้อผ้า ไมโครพลาสติกที่หลุดจากเสื้อผ้าใยสังเคราะห์ยังปนเปื้อนไปกับน้ำและดินอีกด้วย มีผลการศึกษาระบุว่า อุตสาหกรรม fast fashion ปล่อยน้ำเสียร้อยละ 20 ของปริมาณน้ำเสียทั้งโลก และน้ำเสียจำนวนมาก ถูกปล่อยสู่ธรรมชาติโดยยังไม่ผ่านการบำบัดน้ำเสียอย่างถูกต้อง (Mogavero, 2020)

ตรงข้ามกับอุตสาหกรรม fast fashion ก็คือ slow fashion ที่สอดคล้องกับแนวคิด less is more หรือแนวคิดน้อยแต่มาก ที่เน้นความเรียบง่าย และตัดทอนสิ่งไม่จำเป็นออกไป แนวคิดนี้เรียกร้องให้ผู้คนซื้อเสื้อผ้าให้น้อยลง ใช้เสื้อผ้านานๆ และเป็นเสื้อผ้าที่ผ่านกระบวนการผลิตที่ไม่ทำร้ายธรรมชาติ และเพื่อนร่วมโลกอุตสาหกรรม slow fashion ผลิตเสื้อผ้าให้ใช้งานได้คงทน ไม่จำเป็นต้องซักบ่อย ใช้เส้นใยที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ (เส้นใยที่ผลิตด้วยกระบวนการที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม) ไม่ใช้เส้นใยสังเคราะห์ที่ผ่านกระบวนการทำร้ายสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เช่น พอลีเอสเทอร์ ไนลอน สแปนเด็กซ์ หรือเสื้อผ้าที่ผลิตจากขนสัตว์และหนังสัตว์

ทางเลือกหนึ่งของอุตสาหกรรม slow fashion คือ การสนับสนุนเสื้อผ้าที่มีกระบวนการผลิตแบบจบในท้องถิ่นเป็นหลัก หรือการผลิตในที่เดียวทุกขั้นตอน ซึ่งตรงข้ามกับอุตสาหกรรม fast fashion ที่การผลิตเสื้อผ้าในแต่ละขั้นตอน เช่น การผลิตวัตถุดิบ การทอผ้า การตัดเย็บ และการส่งขายไปยังผู้บริโภคมักเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ กัน การผลิตแบบจบในท้องถิ่นเป็นหลักจะสามารถตรวจสอบได้ง่ายว่า เป็นมิตรต่อธรรมชาติ และไม่เอารัดเอาเปรียบแรงงานหรือไม่ และยังลดกระบวนการขนส่งหลายทอด ซึ่งช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และขยะจากบรรจุภัณฑ์ได้อีกด้วย

การผลิตเสื้อผ้าก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองและมลพิษในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิต ขนส่ง และกำจัด แต่น่าเศร้าที่เสื้อผ้าส่วนใหญ่กลับถูกใช้งานน้อยครั้ง หรือไม่ได้ถูกใช้เลย การตลาดกระตุ้นให้คนซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ ตามสมัยอยู่ตลอดเวลา เพื่อตามกระแสแฟชั่นให้ทัน เสื้อผ้าเหล่านี้สุดท้ายต้องกลายเป็นขยะกลางทะเลทราย และก่อให้เกิดปัญหามลพิษอื่นอย่างต่อเนื่องไปอีก


รูป 2: เสื้อผ้ามือสอง
ที่มา: https://www.lemon8-app.com/discover/ร้านเสื้อผ้าเชียงใหม่?region=th สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2567

 เราแต่ละคนช่วยลดวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการบริโภคแบบไม่ทันฉุกคิดถึงที่มาที่ไปแบบนี้ได้

แต่จะทำอย่างไรเมื่อเสื้อผ้ารักษ์โลกที่ผลิตตามแนวทางอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่ยังมีราคาที่จับต้องยากสำหรับคนทั่วไป การเรียกร้องให้คนรักษ์โลกโดยไม่สนใจเงินในกระเป๋า เป็นการทำร้ายผู้คนได้เช่นกัน

ถ้ายังไม่พร้อมซื้อเสื้อผ้า slow fashion ที่ราคาแพง เราสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็นจำนวนมากด้วยการอุดหนุนเสื้อผ้ามือสอง และมีอีกทางออกหนึ่งที่ทำได้และง่ายกว่านั้นคือ การซื้อเสื้อผ้าให้น้อยลง และใส่เสื้อผ้าให้นานขึ้น รายงานจาก nbcnews2 ระบุว่า การใส่เสื้อผ้าให้นานขึ้นอีก 9 เดือน ช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (carbon footprint)3 จากการผลิตเสื้อผ้าลงถึงร้อยละ 30

เราอาจจะคิดว่า เสื้อผ้าไม่กี่ตัวของเรา คงไม่ถึงกับทำร้ายสิ่งแวดล้อม แต่เสื้อผ้าหลายตัวของอีกหลายคนในโลกนี้รวมกันอาจกลายเป็นภูเขาขยะ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ก่อนซื้อเสื้อผ้าตัวใหม่ เอะใจกันสักนิดดีไหมว่า เสื้อผ้าที่เรามีอยู่นั้น เราใช้คุ้มค่าแล้วหรือยัง เพราะราคาที่แท้จริงของเสื้อผ้าแต่ละตัวมีราคาของสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายไปซ่อนอยู่ด้วย

ผู้เขียนเชื่อว่า การเปลี่ยนวิธีคิดในการบริโภคจาก less for more เป็น less is more เป็นหนทางหนึ่ง ที่จะช่วยให้โลกของเราเย็นลงได้อย่างยั่งยืน


  1. คนที่ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย เน้นสิ่งจำเป็น และกำจัดสิ่งไม่จำเป็นออกไป ใช้ได้กับหลายๆ ด้าน ตั้งแต่การตกแต่งบ้าน ตู้เสื้อผ้า ไปจนถึงกิจวัตรประจำวัน เป็นแนวคิดที่ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา (https:// theminimalists.co/ สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2566)
  2. https://www.nbcnews.com/nightly-news/video/driverless-cars-immune-from-traffic-tickets-when-breaking-rules-of-the-road-investigation-reveals-201024581722 สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2566
  3. ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ซึ่งทำให้เกิดโลกร้อน คือ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ไฮโดร-ฟลูออโรคาร์บอน เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และไนโตรเจน-ไตรฟลูออไรด์ (https://www.bsigroup.com/th-TH/Standards/carbon- footprint/ สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2566)


เอกสารอ้างอิง

  1. Bick, R., Halsey, E., & Ekenga, C. C. (2018). The global environmental injustice of fast fashion. Environ Health, 17(1), 92. https://doi.org/10.1186/s12940-018-0433-7
  2. Mogavero, T. (2020). Clothes in conservation: Fashion and water. https://sustainablecampus.fsu.edu/blog/clothed-conservation-fashion-water สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2566
  3. PPTV online. (2564). Fast Fashion เมื่อเสื้อผ้าทำร้ายโลก ก่อขยะ-มลพิษ. https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8/160568 สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2566
  4. World Economic Forum. (2020). These facts show how unsustainable the fashion industry is. https://www.weforum.org/agenda/2020/01/fashion-industry-carbon-unsustainable-environment-pollution/ สืบค้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2566

 

ภาพปก freepik.com (premium license)


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th