The Prachakorn

มาตรการภาษีเกลือและโซเดียมในประเทศไทย


14 กุมภาพันธ์ 2567
85



รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

การบริโภคเกลือและโซเดียมที่มากเกินความจำเป็นส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรค NCDs (เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการเสียชีวิตของประชาชนไทย จากข้อมูลการบริโภคอาหารของประชาชนไทย พบว่า ประชาชนนิยมบริโภคอาหารนอกบ้าน และอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น เมื่อพิจารณาถึงปริมาณโซเดียมในอาหารประเภทต่าง ๆ พบว่า อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (50 กรัม) มีปริมาณโซเดียมประมาณ 1,275 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นปริมาณโซเดียมเกินกว่าความต้องการถึง 2 เท่า และเป็นอาหารที่มีโซเดียมสูงที่ประชาชนนิยมรับประทานมากที่สุด อันดับ 1 ส่วนในกลุ่มขนมขบเคี้ยว ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็ก พบว่า ขนมจำพวกปลาเส้นมีปริมาณโซเดียมโดยเฉลี่ยประมาณ 659 มิลลิกรัม ต่อ 1 ซองผลิตภัณฑ์ (30 กรัม) รองลงมาเป็นสาหร่ายอบ/ทอดกรอบ และขนมจำพวกข้าวเกรียบและมันฝรั่งอบ/ทอดกรอบ ซึ่งหากบริโภคขนมปลาเส้น 1 ซอง ก็จะทำให้ได้รับปริมาณโซเดียมเกินมาตรฐานไปมากกว่า 3 เท่า หนึ่งในวิธีหรือมาตรการที่จะกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมให้ปรับเปลี่ยนสูตรผลิตภัณฑ์อาหารให้มีความเค็มน้อยลง คือการใช้มาตรการทางภาษีและราคาโดยมีประเทศที่ได้ดำเนินมาตรการภาษีเกลือและประสบความสำเร็จ คือ ประเทศฮังการี นอกจากนี้มีหลายประเทศที่ได้มีการวิเคราะห์และคาดการณ์ผลกระทบด้านสุขภาพหากมีการนำมาตรการภาษีเกลือและโซเดียมมาปฏิบัติใช้ ซึ่งทุกการศึกษาชี้ให้เห็นผลกระทบเชิงบวกทั้งด้านสุขภาพ และความคุ้มค่าในการดำเนินมาตรการ บทเรียนจากการขับเคลื่อนมาตรการภาษีเครื่องดื่มที่มีรสหวานสะท้อนให้เห็นความเป็นไปได้ในการนำมาตรการทางภาษีมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางด้านสุขภาพ ซึ่งผลของการบังคับใช้ภาษีเครื่องดื่มที่มีรสหวานในช่วงปีแรก แสดงให้เห็นว่า ราคาสินค้าดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และมีปริมาณน้ำตาลลดลง อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดแรงต้านจากภาคอุตสาหกรรม จำเป็นจะต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งในด้านข้อมูลและหลักฐานทางวิชาการ กำหนดวัตถุประสงค์ในการเก็บภาษีให้ชัดเจนว่าเป็นการดำเนินงานเพื่อประโยชน์ทางสุขภาพของประชาชน และการกำหนดนโยบายอื่น ๆ ควบคู่ด้วย เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ติดตามย้อนหลังได้ที่: https://fb.watch/qiqHq9Bi51/


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th