The Prachakorn

ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัว การย้ายถิ่น และมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้


กาญจนา ตั้งชลทิพย์,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์,อารี จำปากลาย

18 กุมภาพันธ์ 2565
703



ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในสามจังหวัดชายแดนใต้สะท้อนความไม่สงบสุขในพื้นที่ กระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม เชื่อมโยงไปกับแรงผลักทางเศรษฐกิจทำให้มีการย้ายถิ่นไปที่อื่นเพื่อหางานทำ ไม่ต่างกับคนในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ และการย้ายถิ่นส่งผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่นและครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปี 2557 อารี จำปากลาย และคณะ1 เริ่มงานวิจัยที่ศึกษาการย้ายถิ่นของมุสลิมในปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยออกแบบให้เป็นการศึกษาระยะยาว 3 ปี เพื่อดูผลกระทบของเหตุการณ์ความรุนแรงต่อการย้ายถิ่นไปทำงานที่อื่น ผลการศึกษาไม่ยากเกินการคาดเดา คือพบว่า สถานการณ์ความไม่สงบมีส่วนเร่งให้คนสามจังหวัดชายแดนใต้ตัดสินใจไปทำงานที่อื่น รวมทั้งการไปทำงานที่มาเลเซีย 

แม้การไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียเป็นการย้ายถิ่นกระแสหลักของมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ และเรียกได้ว่าเป็นวิถีชีวิตของคนในพื้นที่มานานตั้งแต่ในยามที่ยังไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุผลของระยะทางที่ใกล้ เดินทางสะดวก มีภูมิหลังทางศาสนา วิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกันทำให้คุ้นชินกว่าการไปทำงานที่อื่น อย่างไรก็ตาม การศึกษาพบว่า มุสลิมที่ไปทำงานที่มาเลเซียมีทุนมนุษย์ด้านการศึกษา วัย และสถานะสุขภาพ ด้อยกว่ามุสลิมที่ไปทำงานในถิ่นปลายทางอื่น นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบผลกระทบต่อสภาวะจิตใจของผู้ย้ายถิ่น และสมาชิกครอบครัวที่อยู่ในถิ่นต้นทาง 

การย้ายถิ่นของมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ ยังมีประเด็นสำคัญและน่าสนใจอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตของผู้คนท่ามกลางความไม่สงบ อีกทั้งมีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามาเพิ่มความยากลำบาก เป็นความเสี่ยงซ้ำซ้อน ทำให้คนทุกช่วงวัยได้รับผลกระทบ และเมื่อผู้ย้ายถิ่นที่เป็นพ่อแม่ต้องไปทำงานไกลบ้านทั้งในและนอกประเทศ และให้ลูกอยู่ในความดูแลของสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ โดยเฉพาะปู่-ย่า-ตา-ยาย ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจยิ่งทวีความซับซ้อนและจำเป็นต้องทำความเข้าใจ

ปีที่แล้ว ผู้เขียน ได้ดำเนินโครงการวิจัยต่อเนื่อง2 จากโครงการเดิมเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบของการย้ายถิ่นต่อชีวิตของมุสลิมในสามจังหวัดที่ครอบคลุมทั้งผลกระทบต่อความอยู่ดีมีสุขของลูกของผู้ย้ายถิ่น และความอยู่ดีมีสุขของผู้ดูแลลูกของผู้ย้ายถิ่นที่อยู่ในถิ่นต้นทางด้วย โดยเก็บข้อมูลในครัวเรือนเดิมที่เคยศึกษาครั้งแรกเมื่อ 7 ปีก่อน คือ ปี 2557 และครั้งที่สองในปี 2559 ครั้งนี้จึงเป็นการเก็บข้อมูลรอบที่สาม เพื่อจับภาพความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบในระยะยาวที่เกิดขึ้นในครัวเรือนและสมาชิกครอบครัว ตั้งแต่วัยเริ่มต้นชีวิตจนเติบโตขึ้นเป็นเด็กเล็ก (7-12 ปี) วัยรุ่น (13-17 ปี) และเยาวชน (18-24 ปี) และเพิ่มการเก็บข้อมูลผลกระทบต่อเด็กเล็กอายุ 0-6 ปีที่เพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัวหลังการเก็บข้อมูลครั้งแรก รวมทั้งผู้ดูแลที่รับผิดชอบความเป็นอยู่ของลูกที่พ่อแม่ย้ายถิ่น ทั้งผู้ดูแลที่เป็นผู้สูงวัย และก่อนสูงวัย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สะท้อนคุณภาพชีวิต ทั้งทางร่างกายและจิตใจ 

ขณะกำลังเขียนต้นฉบับ การเก็บข้อมูลของงานวิจัยนี้เสร็จลงแล้ว ด้วยความรู้สึกโล่งอกและขอบคุณของผู้วิจัยและทีมงานภาคสนามทุกคน นับเป็นการเก็บข้อมูลที่มีความยากลำบากที่สุดงานหนึ่ง ด้วยบริบทของความไม่สงบ เพิ่มเติมด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บข้อมูลเป็นการสัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ และออนไลน์ เป็นความท้าทายที่ไม่อาจลืม และเป็นการเรียนรู้ที่มีคุณค่าของการทำวิจัยในภาวะไม่ปกติ

วันนี้ผู้วิจัยยังไม่สามารถนำผลการศึกษามาแลกเปลี่ยน เพราะยังอยู่ในช่วงการจัดการข้อมูล แต่เราหวังว่าจะมีโอกาสนำมาเล่าสู่กันฟังในอนาคตอันใกล้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลการศึกษานี้จะมีส่วนช่วยทำให้เห็นช่องว่างของการยกระดับคุณภาพชีวิต และให้ข้อเสนอแนะเพื่อเติมเต็มให้ชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

รูป: พนักงานสัมภาษณ์กำลังสอบถามข้อมูลจากแม่มุสลิมที่สามีไปทำงานที่มาเลเซีย
ถ่ายภาพโดย: พนักงานสัมภาษณ์ ในการเก็บข้อมูลรอบแรก เมื่อปี 2557


  1. รศ.ดร.อารี จำปากลาย ศ.ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ และศ.ดร.แคธี่ ฟอร์ด โครงการการย้ายถิ่นของผู้หญิงมุสลิมและความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
  2. รศ.ดร.อารี จำปากลาย ศ.ดร.ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ และรศ.ดร.กาญจนา ตั้งชลทิพย์ โครงการความอยู่ดีมีสุขของลูก และความอยู่ดีมีสุขของผู้ดูแลสูงวัยกับการย้ายถิ่นของพ่อแม่ในบริบทของสามจังหวัดภาคใต้
     


CONTRIBUTORS

Related Posts
COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

สูงอายุ - ย้ายถิ่น - พำนักยาว

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

สุขอย่างไร……..สุขแบบคนไทย ๔.๐

ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

Show & Share ความสุขของ “เอก”

ปิยะวัฒน์ สวัสดิ์จู,สุภาณี ปลื้มเจริญ

ความสุขของแม่

สุภาณี ปลื้มเจริญ

ผู้หญิงในสถานการณ์โควิด-19

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

COVID-19 : รักษาระยะห่าง ดูแลระยะใจ 

พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัว การย้ายถิ่น และมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้

กาญจนา ตั้งชลทิพย์,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์,อารี จำปากลาย

เพศหลากหลาย Happy SDG กับ ภาพจำ ที่เปลี่ยนผ่าน?

วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th