The Prachakorn

ความอ่อนน้อมถ่อมตัว


วรชัย ทองไทย

18 มกราคม 2564
802



โลกาภิวัตน์ทำให้วัฒนธรรมหลายอย่างกำลังจะสูญหายไปจากสังคมไทย วิถีตะวันออกที่เน้นในจิตวิญญาณ การรู้จักควบคุมความรู้สึกของตัวเอง ความงามจากภายใน ความสุขที่เกิดจากใจ การแบ่งปันในสังคม และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ได้ถูกวิถีตะวันตกที่เน้นในสิ่งตรงกันข้าม เช่น วัตถุนิยม การแสดงความรู้สึกโดยไม่ต้องควบคุม ความงามของร่างกายภายนอก ความสุขจากการบริโภค การแข่งขันแย่งชิง และการเอาชนะธรรมชาติ ได้แพร่หลายเข้ามาจนทำให้คนไทยมีความสุขน้อยลงไปเรื่อย ๆ

ตัวอย่างหนึ่งคือ วัฒนธรรมของการอ่อนน้อมถ่อมตัว ที่กำลังถูกวัฒนธรรมโฆษณาตัวเองเข้าแทนที่ จนทำให้ต้องป่าวประกาศถึงความเก่งกล้าสามารถของตนให้คนอื่นรู้ ดังคำพังเพยที่ว่า “หมาขี้ไม่มีใครยกหาง” อันเป็นสำนวนที่ใช้ติเตียนคนที่ชอบโม้ โอ้อวดความเก่งของตัวเอง

ผู้ที่ไม่รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน มักจะเป็นคนยกตนข่มผู้อื่น มีนิสัยดูถูก ชอบโอ้อวด และหลงตนเอง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ไม่รู้จักควบคุมความรู้สึกของตัวเองนั่นเอง คนเรามักจะหลงตัวเอง ทำให้ประเมินความสามารถของตนสูงกว่าที่เป็นจริง ดังเช่นงานวิจัยทดลองที่ได้รับรางวัลอีกโนเบลในปี 2543 สาขาจิตวิทยา ของนักวิจัยชาวอเมริกัน 2 คน (David Dunning  และ Justin Kruger) ที่ได้ตีพิมพ์ในวารสารบุคลิกภาพและจิตวิทยาสังคม (Journal of Personality and Social Psychology) เรื่อง “ไม่มีทักษะแล้วยังไม่รู้ตัวอีก: ทำไมคนที่ไม่รู้ตัวว่าตนเองไร้สมรรถภาพ ถึงได้ประเมินความสามารถของตนสูงกว่าความเป็นจริง” (http://www.avaresearch.com/files/UnskilledAndUnawareOfIt.pdf สืบค้นเมื่อ 12 มกราคม 2564) อันมีบทคัดย่อดังนี้

“คนเรามักจะประเมินความสามารถทางปัญญาและอารมณ์ของตนสูงกว่าความเป็นจริง ทั้งนี้เพราะคนที่ขาดทักษะทางปัญญาและอารมณ์ มักจะไร้สมรรถภาพและมองไม่เห็นข้อเท็จจริง อันส่งผลให้ขาดความสามารถในการใช้ปัญญาที่ลึกซึ้ง (metacognitive) เพื่อจะได้ตระหนักถึงความสามารถจริงของตน จากผลการศึกษาพบว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยที่ได้คะแนนสอบในเรื่องอารมณ์ขัน ไวยากรณ์ และตรรกะต่ำกว่า 25% มักจะประเมินความสามารถของตนเองไว้สูงกว่าความเป็นจริงมาก โดยคิดว่าตนเองควรจะได้คะแนนสูงถึง 62% ทั้งๆ ที่ได้คะแนนเพียง 12% เท่านั้น ซึ่งความผิดพลาดในการประเมินตนเองนี้ เป็นผลมาจากการขาดทักษะที่จะใช้ปัญญาที่ลึกซึ้ง หรือไม่มีความสามารถที่จะแยกแยะความถูกต้องจากข้อผิดพลาด อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้เข้าร่วมวิจัยได้ปรับปรุงทักษะและเพิ่มความสามารถทางปัญญาให้สูงขึ้น ก็จะช่วยให้เกิดความตระหนักถึงข้อจำกัดในความสามารถของตนเอง”

สรุปแล้วความอ่อนน้อมถ่อมตัวจะเกิดขึ้นได้ เมื่อเราได้ศึกษาพัฒนาให้รู้จักตนเอง ด้วยการรู้จักใช้ปัญญาที่ลึกซึ้ง ซึ่งก็คือ “โยนิโสมนสิการ” นั่นเอง


รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับงานวิจัยที่ “ทำให้หัวเราะก่อนคิด”

หมายเหตุ: ปรับปรุงจาก “คนหลงตัว” ใน ประชากรและการพัฒนา 29(6) สิงหาคม - กันยายน 2552: 6

รูปนำบทความ

ภาพกระจกสีความอ่อนน้อมถ่อมตัว (Humility Stained Glass) ส่วนหนึ่งของหน้าต่างในวิหาร Cathedral Notre-Dame de Lausanne ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ที่มา: https://s3.amazonaws.com/dfc_attachments/public/documents/3268319/Humility_Stained_Glass.png สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2564



CONTRIBUTOR

Related Posts
ศีลธรรม

วรชัย ทองไทย

สังคมยุคดิจิทัล

เพ็ญพิมล คงมนต์

สุขอย่างไร……..สุขแบบคนไทย ๔.๐

ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

Show & Share ความสุขของ “เอก”

ปิยะวัฒน์ สวัสดิ์จู,สุภาณี ปลื้มเจริญ

สมุดเบาใจ พินัยกรรมชีวิต

สุริยาพร จันทร์เจริญ

ประเด็นทางประชากรและสังคม

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

สมมุติฐาน

วรชัย ทองไทย

หาว

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th