The Prachakorn

ชีวิตที่จำยอมต้องแต่งงานก่อนวัยอันควรของเด็กข้ามชาติ


กัญญา อภิพรชัยสกุล

15 พฤศจิกายน 2564
659



เด็กข้ามชาติกลุ่มเปราะบางจำนวนไม่น้อยขาดโอกาสดีๆ ในชีวิตไปเนื่องจากการแต่งงานก่อนวัยอันควร ทำให้เด็กขาดโอกาสในการศึกษา เด็กบางคนต้องแต่งงานเพื่อช่วยลดภาระของครอบครัวเนื่องจากพ่อแม่มีลูกหลายคน อีกทั้งครอบครัวต้องประสบกับภาวะยากจน เมื่อพ่อแม่ต้องเดินทางมาเป็นแรงงานในประเทศไทยเด็กซึ่งติดตามมาด้วยจึงจำเป็นต้องช่วยเหลือครอบครัว

จากการเก็บข้อมูลภาคสนาม โครงการ “การประเมินสถานการณ์เด็กข้ามชาติในประเทศไทยและผลกระทบจากโควิด-19” ทีมวิจัยได้สัมภาษณ์นางสาวบี (นามสมมุติ ปัจจุบันอายุ 19 ปี) นางสาวบีย้ายตามครอบครัวซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติกัมพูชามาอยู่ประเทศไทยตั้งแต่ตอนเธออายุได้ 12 ขวบ เพราะความยากจนทำให้เธอไม่ได้เรียนหนังสือตั้งแต่ประเทศต้นทาง เมื่อมาถึงเมืองไทยเธอจึงไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนไทยได้ อีกทั้งยังต้องดูแลน้องชายอีก 2 คน ที่เดินทางติดตามมาด้วย เธอต้องทำงานเพื่อช่วยเหลือครอบครัวเท่าที่จะช่วยได้ ส่งผลให้เธอต้องทำงานตั้งแต่อายุ 12 ขวบ โดยอาชีพที่ทำได้ในขณะนั้นสำหรับเด็กที่พูดไทยได้เล็กน้อย คือ การช่วยขายของเล็กๆ น้อยๆ ในร้านขายของชำ

“เราเรียนไม่ได้เพราะต้องดูแลน้องด้วย น้องยังเล็กค่ะ”

“ตอนมาตอนนั้นหนูพอพูดไทยได้บ้าง พอดีน้าหนูเลยแนะนำร้านขายของให้ไปช่วยขายค่ะ”

ต่อมาเมื่อเธออายุได้ 16 ปี แม่เธอป่วยหนักด้วยฐานะยากจนไม่มีเงินซื้อบัตรประกันสุขภาพ จึงทำให้ไม่มีเงินพอที่จะรักษาตัวจึงใช้วิธีกู้เงินมารักษาอาการป่วย แม่เธอเป็นกังวลว่าเธอจะไม่มีคนดูแลจึงขอให้เธอแต่งงานกับผู้ชายที่เธอไม่เคยรู้จัก ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน มีคนแนะนำผู้ชายมาให้ เธอจำต้องแต่งงานในวัยเพียง 16 ปี ตัวเธอเองขณะนั้นคิดว่าเธอยังเด็กเกินไปจึงยังไม่อยากแต่งงานแต่เธอจำต้องแต่งเพราะขัดแม่ไม่ได้ ประกอบกับต้องการช่วยเหลือครอบครัวเพราะคิดว่าถ้าแต่งงานแล้วสามีช่วยแบ่งเบาภาระของครอบครัวได้ สามีเธอทำอาชีพประมง เมื่อเธอแต่งงานอายุน้อยเธอจึงยังไม่อยากมีลูกจึงขอสามีว่าขอเวลาก่อนสักระยะหนึ่งค่อยมีลูก ซึ่งสามีเธอเข้าใจ เธอจึงให้แม่ของเธอสอนเรื่องการคุมกำเนิดอยู่ประมาณ 1 ปี เธอจึงปล่อยให้ตั้งครรภ์ และให้กำเนิดบุตรในช่วงวิกฤติโควิด-19 พอดี ปัจจุบันลูกเธออายุ 1 ขวบกับ 6 เดือน ลูกของเธอเป็นผู้หญิง

“หนูไม่กล้าบอกแม่เรื่องยังไม่อยากแต่งงานค่ะ คิดว่าเรายังเด็กอยู่”

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกแล้วระลอกเล่า เธอและลูกน้อยไม่พ้นการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เมื่อครอบครัวที่ต้องอยู่อาศัยกันอย่างแออัด 7 คน (ตัวเธอเอง ลูก สามี พ่อ แม่ และน้องชายอีก 2 คน) ในห้องเช่าเล็กๆ เมื่อน้องชายได้รับเชื้อมาที่บ้านโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้ทุกคนในครอบครัวกลายเป็นผู้ติดเชื้อรวมถึงลูกสาวเธอด้วย หน่วยงานสาธารณสุขมารับเธอและครอบครัวไปกักตัวในโรงแรมที่เป็นสถานกักกันตัวเป็นเวลา 14 วัน เธอและลูกสาวกับแม่ของเธอได้อยู่ห้องพักเดียวกัน วันที่เธอให้มาข้อมูลกับทีมวิจัยเธอและคนในครอบครัวรักษาหายเรียบร้อยมาได้ 1 เดือนแล้ว เธอให้ข้อมูลว่าอีกประมาณ 2 เดือนเธอจะได้รับวัคซีนโควิด-19 สำหรับแรงงานข้ามชาติ

“ตอนติดเชื้อหนูสงสารลูกมากเพราะลูกยังเล็ก เวลาไม่สบายเป็นไข้ลูกจะร้อง ดีที่ได้อยู่ด้วยกันที่โรงแรมที่เป็นสถานกักตัว”

ลูกสาวเธอเกิดในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดรุนแรงพอดี นายจ้างจึงให้หยุดงานประกอบกับเธอคลอดลูกพอดี ด้านบวกเธอได้เลี้ยงลูกเองลูกได้กินนมแม่ อีกด้านหนึ่งเมื่อหยุดงานขาดรายได้มาจุนเจือครอบครัวเนื่องจากน้องชาย 2 คนยังเรียนหนังสืออยู่ (น้องชายอายุ 13 ปี และ 15 ปี) แต่สามีเธอกลับจากการรักษาตัวแล้วโชคดีที่สามารถออกเรือประมงได้พอจะมีรายได้เข้ามาบ้าง
 
ด้านสุขภาพของลูกสาวเธอเนื่องจากติดเชื้อโควิด-19 ด้วย ส่งผลให้ลูกเธอยังได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ เนื่องจากหมอแจ้งว่าต้องรักษาโควิดให้หายก่อนสักประมาณ 2 เดือนถึงจะไปรับวัคซีนเด็กได้ซึ่งเมื่อครบเวลาเธอจะพาลูกไปฉีดวัคซีนตามระยะเวลาที่กำหนด

“หมอบอกว่าลูกอีก 2 อาทิตย์ ไปฉีดได้แล้วค่ะ”   

เมื่อเธอมาอยู่ประเทศไทยตั้งแต่เด็กเธอจึงรักประเทศไทยและไม่คิดที่จะกลับไปยังประเทศต้นทาง รวมถึงลูกของเธอด้วย เธอต้องการให้ลูกอยู่ที่ประเทศไทยและต้องการให้ลูกได้เรียนสูงๆ ถึงปริญญาตรีเพื่อลูกเธอจะได้สัญชาติไทย

“อยู่ที่นี่ดี หนูชอบประเทศไทย หนูอยากให้ลูกเรียนให้จบที่ได้บัตรเป็นไทยเลยค่ะ คนไทยใจดี อยู่แล้วมีความสุข”
“อยากให้ลูกเรียนสูงๆ ไม่อยากให้ลูกเป็นเหมือนแม่ แม่ไม่ได้เรียนตอนนี้เขียนหนังสืออะไรไม่ได้เลย”

ผู้เขียนขอเป็นหนึ่งกำลังใจให้พ่อแม่เด็กข้ามชาติทุกคน ที่วางอนาคตของลูกไว้เพื่อได้สัญชาติไทย เพราะประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว เราต้องการคนวัยหนุ่มสาวเพื่อเป็นกำลังแรงงานเพื่อพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป   


กัญญา อภิพรชัยสกุล
ทีมวิจัยโครงการ“การประเมินสถานการณ์เด็กข้ามชาติในประเทศไทยและผลกระทบจากโควิด-19”
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล



CONTRIBUTOR

Related Posts
ผู้หญิงในสถานการณ์โควิด-19

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

โกหกคำโต (big lie)

วรชัย ทองไทย

หวังว่าโควิด-19 จะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ด้วยรักและโรคระบาด

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

สมองไทยย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

มองประชากรศึกษาผ่านกรอบเควียร์

ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง

คุยกับ ChatGPT เรื่องนโยบายประชากร

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

หาว

วรชัย ทองไทย

เด็กไทย อ้วนแค่ไหน

กาญจนา เทียนลาย

เจเนอเรชันโควิด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th