The Prachakorn

การแต่งงานของเด็กข้ามชาติในช่วงวิกฤตโควิด -19


วาทินี บุญชะลักษี

15 พฤศจิกายน 2564
809



เด็ก หมายถึง ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี การแต่งงานในวัยเด็ก (Child Marriage) หรือการแต่งงานก่อนวัยอันควร (Early Marriage) หมายถึง การอยู่กินร่วมกันฉันท์สามีภรรยาหรือการมีคู่ครองของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี การแต่งงานในวัยเด็กอาจเป็นการแต่งงานระหว่างเด็กกับเด็กหรือเด็กกับผู้ใหญ่ เด็กบางคนอาจถูกบังคับให้แต่งงานโดยที่ตนเองไม่ได้ยินยอมพร้อมใจ บางประเทศเด็กต้องแต่งงานก่อนวัยอันควรอันเนื่องมาจากขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อที่ถือปฏิบัติสืบเนื่องต่อกันมาเนิ่นนานอาทิเช่นในประเทศอินเดีย การแต่งงานก่อนวัยอันควรส่วนใหญ่มักเกิดกับเด็กหญิงมากกว่าเด็กชาย และเกิดกับเด็กข้ามชาติซึ่งมีพ่อแม่เป็นแรงงานรับจ้าง

ปัจจุบันอายุการแต่งงานที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ระบุไว้ในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันออกไป บางประเทศกำหนดไว้ที่อายุ 16 ปี บางประเทศกำหนดไว้ที่ 18 หรือ 20 ปี ถ้าอายุต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดจะต้องได้รับความยินยอมจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง สำหรับประเทศไทยกฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์

ที่ผ่านมาองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ซึ่งเป็นองค์การที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กจะพยายามรณรงค์ต่อต้านไม่ให้มีการแต่งงานก่อนวัยอันควรอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงมีปรากฏให้เห็นอยู่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่ยากจนและมีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี เด็กซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางจำนวนไม่น้อยขาดโอกาสที่ดีในชีวิตก็เพราะการแต่งงานก่อนวัยอันควร การแต่งงานก่อนวัยอันควรทำให้เด็กขาดโอกาสในการศึกษาเล่าเรียน และมีผลกระทบต่อชีวิตที่ดีในอนาคต  เด็กบางคนจำต้องแต่งงานเพื่อช่วยลดภาระหนี้สินให้แก่ครัวเรือนเพราะพ่อแม่มีลูกหลายคนและครอบครัวยากจน

ผลการศึกษาบางส่วนที่ได้จากการสัมภาษณ์ระดับลึกและการจัดสนทนากลุ่มในโครงการประเมินสถานการณ์เด็กข้ามชาติในประเทศไทยและผลกระทบจากโควิด-19 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วงปี 2564 พบว่า ยังมีเด็กข้ามชาติจำนวนหนึ่งซึ่งไม่ทราบว่ามีจำนวนมากน้อยเท่าใดในจังหวัดตากและจังหวัดเชียงใหม่มีการแต่งงานก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กข้ามชาติเมียนมาและในกลุ่มเด็กชาติพันธุ์ สาเหตุหนึ่งที่พบ ก็คือ ความยากจนและการไร้สัญชาติ เด็กที่ติดตามพ่อแม่และเด็กที่เกิดและเติบโตในประเทศไทยบางส่วนต้องช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน เมื่อพ่อแม่ย้ายงานหรือเปลี่ยนงานเด็กก็ต้องย้ายตามไปด้วย หากพ่อแม่เป็นแรงงานก่อสร้างซึ่งมีการเคลื่อนย้ายบ่อยเด็กก็ต้องเคลื่อนย้ายบ่อยตามพ่อแม่ไปด้วย เด็กจึงขาดโอกาสศึกษาเล่าเรียนทั้งในระบบโรงเรียนรัฐซึ่งเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยไม่ว่าสัญชาติใดเรียนฟรี 15 ปี และขาดโอกาสเรียนในศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กข้ามชาติ (MLC)  เด็กข้ามชาติบางคนก็มีอายุเกินเกณฑ์ที่จะเข้าเรียนตามชั้นปกติ ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ก็ยิ่งเหมือนเร่งให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเด็กเร็วขึ้น อันนำไปสู่การแต่งงานก่อนวัยอันควร ซึ่งการแต่งงานก่อนวัยอันควรนี้อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกกลุ่ม รวมทั้งในกลุ่มเด็กข้ามชาติที่กำลังเรียนอยู่ในระบบโรงเรียนด้วย เพราะเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน ไม่ต้องไปโรงเรียน และมีปัจจัยเสริมที่สำคัญ ก็คือ สภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยที่แออัดและอยู่ร่วมกันหลายคนหลายครอบครัว จึงมีกรณีเด็กข้ามชาติหญิงอายุต่ำกว่า 18 ปีแต่งงานก่อนวัยอันควรเกิดขึ้น เช่น ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นการแต่งงานระหว่างเด็กกับเด็ก เพราะเกิดตั้งครรภ์ ต้องออกจากโรงเรียน พ่อแม่ไม่อยากรับผิดชอบ อยากให้ออกจากบ้าน หางานทำเพื่อเลี้ยงตนเองและสร้างครอบครัวใหม่

ปรากฏการณ์การแต่งงานก่อนวัยอันควรในกลุ่มเด็กข้ามชาติขณะนี้เริ่มกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆด้วย ไม่เฉพาะ ที่อำเภอแม่สอดเท่านั้น  การแต่งงานก่อนวัยอันควรเป็นประเด็นสำคัญ เพราะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ในชีวิตเด็ก เนื่องจากความไม่พร้อมที่จะมีครอบครัว และเป็นการลดโอกาสที่ดีของเด็กในอนาคต และเกิดผลเสียต่อสุขภาพและอนามัยการเจริญพันธุ์ของเด็กด้วย

 “UNICEF คาดการณ์ว่าผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของจำนวนการแต่งงานในวัยเด็ก (child marriage) ถึง 10 กว่าล้านรายทั่วโลก ในระยะ 10 ปี ต่อจากนี้”


 
ที่มา UNICEF. (March 2021). COVID-19 A threat to progress against child marriage. https://data.unicef.org/wp-content/uploads/2021/03/UNICEF-report-_-COVID-19-_-A-threat-to-progress-against-child-marriage-1.pdf

รองศาสตราจารย์ ดร.วาทินี บุญชะลักษี
ทีมวิจัยโครงการ“การประเมินสถานการณ์เด็กข้ามชาติในประเทศไทยและผลกระทบจากโควิด-19”
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล



CONTRIBUTOR

Related Posts
ทุนสังคม พลังสังคม

ภูเบศร์ สมุทรจักร

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

พิธีในยุคโควิด-19

วรชัย ทองไทย

อยากออกไปล็อกดาวน์ในดินแดนมังกร

นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์

วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

โควิด-19 กับ มูลค่าชีวิตคน

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

สมองไทยย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

มองประชากรศึกษาผ่านกรอบเควียร์

ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง

คุยกับ ChatGPT เรื่องนโยบายประชากร

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

มหาวิทยาลัยแบบไหนครองใจนักศึกษาไทย

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

หาว

วรชัย ทองไทย

รอหมูป่าออกจากถ้ำ

ปราโมทย์ ประสาทกุล

การเลียนแบบ

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th