The Prachakorn

คูถและมูตร


วรชัย ทองไทย

20 พฤศจิกายน 2566
473



มนุษย์เราต้องกินอาหารเพื่อให้มีชีวิตอยู่ อาหารที่กินเข้าทางปาก จะไหลลงสู่กระเพาะ ซึ่งจะทำหน้าที่คลุกเคล้าอาหารด้วยสารเคมีธรรมชาติ เพื่อให้อาหารกลายเป็นของเหลว ก่อนไหลสู่ลำไส้เล็ก ที่ทำหน้าที่ดูดซึมเอาสารอาหารออกไปบำรุงเลี้ยงร่างกาย อาหารที่ย่อยไม่หมดหรือย่อยไม่ได้ เรียกว่ากากอาหาร รวมทั้งน้ำ วิตามิน และแร่ธาตุบางส่วนที่ไม่ถูกดูดซึม จะไหลสู่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีหน้าที่ดูดซึมน้ำและวิตามินบี 12 ที่แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่สร้างขึ้น ลำไส้ใหญ่ส่วนสุดท้ายจะถูกใช้เป็นที่เก็บกากอาหาร ก่อนที่จะปล่อยออกจากร่างกายทางทวารหนัก กากอาหารที่ออกจากร่างกายนี้ เรียกว่า คูถ หรืออุจจาระ

ส่วนมูตร หรือปัสสาวะ ประกอบด้วยน้ำ และของเสียที่ร่างกายไม่ต้องการ โดยร่างกายจะใช้น้ำและโลหิต เป็นตัวนำแร่ธาตุและอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ในขณะเดียวกันน้ำก็เป็นตัวนำเอาสารพิษในร่างกายออกไปทิ้ง โดยผ่านทางไตซึ่งกรองสารพิษออก เหลือแต่มูตรที่ถูกนำไปเก็บไว้ที่กระเพาะปัสสาวะ ก่อนออกจากร่างกายทางท่อปัสสาวะ

โดยปกติ คูถมีส่วนประกอบของน้ำถึงร้อยละ 75 ที่เหลือส่วนใหญ่ประกอบด้วยแบคทีเรียที่ตายแล้ว และอาหารที่ย่อยไม่หมด ส่วนน้อยเป็นไขมัน แร่ธาตุ และโปรตีน สำหรับมูตรประกอบด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ เหลือเพียง 1 ใน 20 ส่วนที่เป็นเกลือ และสารเคมีที่ร่างกายขับออกมาอีกกว่า 70 ชนิด
ถึงแม้เราจะถือว่า คูถและมูตรเป็นสิ่งปฏิกูลที่ต้องกำจัดทิ้ง แต่มนุษย์เราก็รู้จักใช้คูถและมูตรของคนและสัตว์มาใช้ประโยชน์ ตั้งแต่สมัยโบราณมาแล้ว เช่น ปุ๋ย อิฐ เครื่องหนัง เครื่องสำอางค์ ยา สี ดินปืน เชื้อเพลิง กระดาษ แก๊สหุงต้ม

คูถและมูตรถูกทำเป็นปุ๋ย (ปุ๋ยคอก) เพราะมีแร่ธาตุที่เป็นที่ต้องการของพืช ได้แก่ ไนโตรเจน โปตัสเซียม และฟอสฟอรัส นอกจากนี้ ปุ๋ยคอกยังใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงสภาพทางกายภาพของดิน ช่วยลดอัตราการพังทลายของดิน ซึ่งปุ๋ยวิทยาศาสตร์ขาดคุณสมบัติในข้อนี้  

อิฐก้อนแรกของโลกคือ อิฐที่ทำจากโคลน (adobe) แต่ถ้าใช้แต่โคลนล้วนๆ อิฐก็จะแตกง่าย จึงต้องผสมคูถสัตว์และฟางลงไป เพื่อให้อิฐแข็งแรงและไม่แตกง่าย สิ่งก่อสร้างโบราณที่ใช้อิฐโคลนยังคงมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น กำแพงเมืองบาบิโลน ที่สร้างมากว่า 2500 ปีแล้ว (รูป 1) ทุกวันนี้ก็ยังมีการใช้อิฐโคลนสร้างอาคารบ้านเรือนอยู่

รูป 1 กำแพงเมืองบาบิโลน

ที่มา: By Osama Sarm - Own work, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=48596563 สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2566

ชาวโรมันใช้มูตรคนสำหรับซักผ้า โดยการนำผ้าใส่ลงในอ่างขนาดใหญ่ จากนั้นจึงเติมมูตรและน้ำลงไปจนท่วม แล้วให้คนลงไปย่ำ เสร็จแล้วจึงนำไปซักด้วยน้ำเปล่าหลายๆ ครั้ง เพื่อขจัดกลิ่นมูตรออก

ในทวีปยุโรปสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16ได้มีการนำปืนมาใช้แทนหน้าไม้และธนู ทำให้ความต้องการดินปืนเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ส่งผลให้ดินปืนเป็นของหายากและราคาแพง คอกสัตว์จึงเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตดินปืนราคาถูก เพราะโปตัสเซียมไนเตรด ซึ่งเป็นส่วนผสมส่วนใหญ่ของดินปืน (15ส่วนใน 20 ส่วน) สามารถสกัดได้จากคูถและมูตรของสัตว์

ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 คูถสุนัขเป็นที่ต้องการสำหรับใช้ในการฟอกหนัง โดยการนำหนังสัตว์ที่ต้องการฟอก ใส่ลงไปในอ่างที่มีส่วนผสมของคูถสุนัขกับน้ำ แล้วจึงให้คนลงไปย่ำราว 2-3 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงนำมาซักเอากลิ่นออก การฟอกหนังด้วยวิธีนี้ได้เลิกไป ในปลายศตวรรษ เมื่อมีการใช้สารเคมีฟอกหนังแทน

คูถของสัตว์ที่กินพืช เป็นแหล่งวัตถุดิบที่ดีในการทำกระดาษและเชื้อเพลิง คูถของสัตว์ที่ใช้ทำกระดาษ เช่น คูถช้าง คูถหมีแพนดา ส่วนคูถของสัตว์ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง เช่น คูถอูฐ คูถควายไบซัน สำหรับแก๊สชีวภาพนั้น ผลิตจากของเสียของสัตว์ทุกชนิด โดยไม่จำกัดว่าสัตว์นั้นจะบริโภคอะไร นั่นคือ แก๊สชีวภาพทำจากทั้งคูถและมูตรของคนและสัตว์ทุกชนิด รวมทั้งพืชและสัตว์ที่ตายแล้วด้วย

คูถสัตว์ที่ใช้ทำเครื่องสำอางค์คือ อำพันทะเล หรือขี้วาฬ ที่ถูกสำรอกจากวาฬสเปิร์ม มีลักษณะเด่น คือ มีกลิ่นหอม จึงถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการทำหัวน้ำหอม รวมทั้งใช้ในการแต่งกลิ่นในอาหารและไวน์ด้วย

กาแฟที่แพงที่สุดในโลก คือ กาแฟขี้ชะมด (civet coffee) ที่ผลิตในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเมล็ดกาแฟที่สัตว์กลุ่มชะมดได้กินและถ่ายออกมา แล้วจึงถูกนำไปล้างให้สะอาด ก่อนนำมากะเทาะเปลือกและคั่ว เช่นเดียวกับกาแฟงาดำ (black ivory coffee) หรือกาแฟขี้ช้าง ที่ผลิตในภาคเหนือของประเทศไทย โดยใช้กรรมวิธีการผลิตเช่นเดียวกัน เพียงแต่ให้ช้างเป็นผู้กินเมล็ดกาแฟแทน

รางวัลอีกโนเบล (2558) สาขาโภชนาการ ได้มอบให้กับนักวิจัยชาวสเปน 5 คน (Raquel Rubio, Anna Jofré, Belén Martín, Teresa Aymerich และ Margarita Garriga) ที่ได้นำเสนอรายงานการศึกษาเรื่อง การสกัดแบคทีเรียกรดแลกติกจากคูถทารก เพื่อใช้เป็นสารเริ่มต้นในการทำไส้กรอก

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ทำให้ขำ แล้วจึงได้คิด


หมายเหตุ: ปรับปรุงจาก “คูถและมูตร” ใน ประชากรและการพัฒนา 35(5) มิถุนายน-กรกฎาคม 2558: 8
 

 



CONTRIBUTOR

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th