The Prachakorn

เรือนร่าง ณ หลังฉาก: เรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมหนังโป๊ไทย (ปฐมบท)


ชิษณุพงษ์ สรรพา

24 ธันวาคม 2567
242



บทหน้าฉาก

“คุณเคยดูหนังโป๊หรือเปล่า”

แน่นอนว่าหากมีคนเข้ามาถามผู้อ่านแบบนี้ก็คงสร้างความแปลกใจหรือไม่พอใจไม่น้อยจนต้องถอยหนีหรือเดินออกไป แต่ในความเป็นจริงคงไม่ใครเข้ามาถามผู้อ่านเช่นนี้ อย่างไรก็ตามผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านหลาย ๆ คนคงต้องเคยมีประสบการณ์ผ่านหนังโป๊ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมในรูปแบบต่าง ๆ อยู่บ้าง อาทิ ภาพยนตร์ รูปภาพ หรือแม้แต่เสียงก็ตาม

      แล้วเราเสพสิ่งเหล่านี้ไปเพื่ออะไรกันหรือ

      เป็นเพราะความผิดปกติของร่างกาย หรือการมีผีร้ายเข้ามาแฝงในจิตวิญญาณของเรา

      ก็คงไม่ใช่

แล้วอะไรคือคำอธิบายพฤติกรรมหรือประสบการณ์ข้างต้น แน่นอนว่าสิ่งเร้าที่ส่งผลให้เราและผู้อื่นจำต้องมีประสบการณ์เสพสิ่งเหล่านี้อยู่บ้างก็ไม่ใช่สิ่งผิดปกติของธรรมชาติ หากแต่เป็น “ความปกติ” ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ต่างหาก เราเรียกสิ่งเร้านี้ว่า “อารมณ์ทางเพศ” และปลายทางของกามารมณ์นี้ก็ได้รับการส่งเสริมในฐานะ “ความสุขทางเพศ” เพื่อปลุกเร้าให้มนุษย์เชิดชูและบูชาพันธกิจนี้ไว้เพื่อการดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์ของมวลมนุษยชาติ (กระทรวงสาธารณสุข, 2562) จึงเป็นสิ่งปกติที่มนุษย์จะแสดงถึงซึ่งการเร้ากามารมณ์นั้นผ่านสื่อต่าง ๆ ตลอดจนศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณีของมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน จนกระทั่งสิ่งเหล่านี้เริ่มถูกทำให้กลายเป็น “ความผิดปกติ” ในยุคหลังด้วยอิทธิพลของศาสนา จริยธรรม และกฎหมายของบ้านเมืองนั้นก็ตาม

เพราะหนังโป๊ใช้เพื่อสนองอารมณ์ของมนุษย์จึงจำเป็นที่สิ่งนี้ต้องนำโดยมนุษย์ แสดงโดยมนุษย์ และเพื่อมนุษย์ หากแต่เราไม่สามารถคัดค้านได้ว่าอุตสาหกรรมหนังโป๊ตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งความหมิ่นเหม่ของการละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์มาโดยตลอด เพราะในหลาย ๆ ครั้งมีการปรากฏขึ้นของการละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างตรงไปตรงมา ดังสองกรณีศึกษาที่ผู้เขียนได้ยกมามาเพื่อทำความเข้าใจ ดังนี้ กรณีศึกษาแรกเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมหนังโป๊ของประเทศญี่ปุ่น โดย ภาคภูมิ วาณิชกะ (2559) นำเสนอผ่านรายงานขององค์กรเอกชน Human Rights Now (HRN) กล่าวถึงการที่นักแสดงหนังโป๊ต้องจำยอมและเผชิญหน้ากับการละเมิดสิทธิมนุษยชน 3 ประการ ได้แก่ 1. การบังคับข่มขู่ให้แสดงหนังโป๊ด้วยสัญญาที่ไม่เป็นธรรม 2. การถ่ายทำหนังโป๊ที่รุนแรงและวิตถาร และ3. การแบ่งปันผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมและผลักดันภาระด้านสุขภาพให้นักแสดงหญิง เช่นเดียวกับกรณีศึกษาที่ 2 โดย European Centre for Law and Justice (2021) ได้นำเสนอไว้ในรายงานเรื่อง Pornography and Human rights ถึงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกลุ่มนักแสดงหนังโป๊ โดยเฉพาะในกลุ่มนักแสดงสตรีและยังปรากฏการใช้เยาวชนผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี (ละเมิดสิทธิเด็ก) ในการนำเสนอหนังโป๊อีกด้วย

ทั้งสองรายงานที่ผู้เขียนกล่าวมานี้ทำให้เห็นจุดร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ได้แก่ ข้อที่ 1 ทุกคนเท่าเทียม ข้อที่ 4 ไม่ตกเป็นทาส ข้อที่ 5 ไม่ถูกทรมาน และข้อที่ 12 สิทธิความเป็นส่วนตัว ทั้งนี้ European Centre for Law and Justice ยังเสนอว่าการละเมิดปฏิญญาสากลฯ เพียงเบื้องต้นเหล่านี้ยังสามารถส่งผลต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ออื่น ๆ ได้อีกด้วย อย่างข้อที่ 2 ไม่แบ่งแยก หรือข้อที่ 6 ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย เป็นต้น

เมื่อหันหลังกลับมาพินิจพิเคราะห์ประเทศไทยพบว่า เรามีการบันทึกข้อมูลเรื่องสถิติหรือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหนังโป๊เพื่อให้เห็นถึงพัฒนาการของอุตสาหกรรมอยู่ในระดับน้อยถึงน้อยมาก ทั้งนี้อาจอนุมานได้ว่า เป็นเพราะผลพวงจากการบังคับใช้ทางกฎหมาย โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 เกี่ยวข้องกับการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หนังโป๊ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (สำนักกฎหมายและวิชาการศาลยุติธรรม, 2562) และพรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (4) ว่าด้วยการนำสื่อลามกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, 2550) อีกทั้งการฝังรากลึกของทัศนคติของคนไทยต่ออุตสาหกรรมโป๊ว่าเป็นเรื่องบัดสี อุจาด เป็นที่น่ารังเกียจของผู้มีศีลธรรมอันดีในสังคมไทย ย้อนแย้งกันกับผลเว็บไซต์ยอดนิยม 10 อันดับของคนไทย โดย Meltwater (2566) ประจำปี 2566 ซึ่งมีข้อค้นพบว่า คนไทยเข้าเว็บโป๊เป็นอันดับที่ 4 5 และ 9 ซึ่งถือเป็นสัดส่วน 3 ใน 10 ของเว็บไซต์ก็ตาม ดังนั้นอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า สังคมไทยเป็นสังคมแบบปากว่าตาขยิบหรือไม่ อย่างไร

ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงอนุมานได้ว่า แม้คนไทยจะเป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรที่เข้าถึงเว็บไซต์โป๊มากที่สุด แต่ด้วยมาตรการทางกฎหมายและทัศนคติความดีงามของสังคมโดยรวม ส่งผลให้การคำนึงและความตระหนักถึงมาตรการการปกป้องและคุ้มครองทางด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับนักแสดงหนังโป๊ก็ต้องจำยอมถูกจัดอยู่ใต้พรมแห่งปัญหาของสังคมไทยไปด้วย หรือขณะเดียวกันการอยู่ในพื้นที่สีเทาเช่นนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจหนังโป๊รวมถึงการให้ความชอบธรรมกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักแสดงหนังโป๊ด้วยหรือไม่ อย่างไร

บทความเรื่องนี้ต้องการนำเสนอเรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักแสดงในอุตสาหกรรมหนังโป๊ในประเทศไทยหรือที่เรียกว่า Sex Creator ซึ่งไม่เพียงจะเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ให้กับกลุ่มคนที่ถูกทำให้เป็นกลุ่มชายขอบของสังคมไทยแต่เพียงเท่านั้น แต่จะช่วยเป็นกระบอกเสียงเล็ก ๆ ถึงความทุกข์ระทมและความปวดร้าวจากการเป็นผู้ถูกล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยและจะนำไปสู่การสร้างความเคารพซึ่งกันและกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกเดียวกันตามพันธกิจแห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

บทหลังฉาก

เมื่อกล่าวถึงที่มาที่ไปในการเข้าสู่วงการของนักแสดงในหนังโป๊ เรามักคิดว่าต้องมาจากครอบครัวที่ด้อยโอกาส มีรายได้ต่ำ หรือการถูกบีบบังคับจากโครงสร้างอันไม่เป็นธรรมในสังคม พวกเขาหรือเธอจึงจำต้องเข้ามาในวงการนี้ แต่ไม่เป็นเช่นนั้นสำหรับผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งสองคนนี้ “เอ” ชายวัย 25-30 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี กล่าวว่า ตนมีธุรกิจส่วนตัวและถือว่าการเป็นนักแสดงหนังโป๊เป็นอาชีพหนึ่งของตนเช่นกัน ต่างจาก “บี” ชายหนุ่มวัยเดียวกับเอ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นพนักงานประจำอยู่บริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และเห็นว่าการเป็นนักแสดงหนังโป๊เป็นงานอดิเรกมากกว่าอาชีพหลักของตน เมื่อสอบถามถึงจุดเริ่มต้นของทั้งสองคนกลับมีจุดเดียวกันคือ “รสนิยมความชอบในการมีเพศสัมพันธ์” จากนั้นจึงมีความแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ที่ได้รับของแต่ละบุคคล

โดยเอต่อยอดรสนิยมความชอบของตนเองเข้ากับการบันทึกคลิปขณะมีเพศสัมพันธ์ร่วมกับคู่นอน (โดยได้รับความยินยอมทั้งสองฝ่าย) จากนั้นจึงเผยแพร่ในแอพพลิเคชันเอ็กซ์ (ขณะนั้นยังใช้ชื่อว่าทวิตเตอร์) จนมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบัน ระยะแรกเอกล่าวว่า ไม่ได้ตั้งใจจะเปิดหน้าเพราะรู้สึกไม่มั่นใจถึงผลกระทบที่จะตามมา จนอยู่ในวงการมาระยะหนึ่งเกิดความมั่นใจมากขึ้นจึงตัดสินใจที่จะเปิดหน้าในที่สุด ต่างจากบีที่สานต่อความชอบของตนเองด้วยการเข้าสู่วงการ “การถ่ายแบบโป๊” จากนั้นจึงได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่ที่อยู่ในวงการหนังโป๊มาก่อน แล้วจึงเริ่มเผยแพร่คลิปของตนเองอย่างจริงจังจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้บีตัดสินใจไม่เปิดหน้าขณะถ่ายคลิปตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันด้วยเหตุผลความสบายใจส่วนตัว โดยทั้งสองคนอยู่ในวงการนี้มาเป็นระยะเวลา 3-4 ปี เมื่อผู้เขียนได้ถามถึงความรู้สึกจากการทำงานในวงการหนังโป๊ ทั้งสองตอบตรงกันว่า “รู้สึกมีความสุข” แม้ว่าบีจะกล่าวในภายหลังว่า ตนต้องเผชิญหน้ากับกระแสและความนิยมที่สามารถผันผวนได้เสมอเนื่องจากความนิยมที่ในปัจจุบันมีคนหันมาเป็น Sex creator มากขึ้น ทำให้บางครั้งเกิดทางตันของการอยู่ในอาชีพนี้ก็ตาม แต่ก็สามารถหลุดออกจากทางตันนั้นได้ด้วยการกำหนดเป้าหมายใหม่ที่สูงขึ้น แต่ถึงอย่างไร บีก็กล่าวเน้นย้ำว่ายังมีความสุขกับการทำงานประเภทนี้ ดังบทสัมภาษณ์

เอ: ตอนนี้พี่ทำธุรกิจส่วนตัว พี่เริ่มต้นจากการมีทวิตเตอร์ไว้ดูหนังโป๊ แล้วเราก็นัดกับคนผ่านแอพพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อมีเพศสัมพันธ์ จากนั้นอีกฝ่ายก็เริ่มถ่ายคลิปขณะที่เราทั้งสองมีเพศสัมพันธ์ด้วยกัน พี่ถามเขาว่า “จะเอาไปลงที่ไหน” จริง ๆ ตอนนั้นเราก็ไม่กลัวเพราะไม่เห็นหน้า เขาตอบว่า “จะเอาไปลงทวิตเตอร์” พอลงคลิปไปผู้ติดตามของเราก็เพิ่มขึ้นจากหลักสิบ เป็นหลักพัน เราก็เริ่มตื่นเต้นคิดว่า “สงสัยจะเป็นทางของเรา” หลังจากนั้นก็เริ่มถ่ายจริงจังมากขึ้น แต่ก็ยังปิดหน้าอยู่ในช่วงแรก ๆ จนมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้น คนที่เราเคยไปดู เขาก็อยากมาทำผลงานกับเรา ช่วงแรก ๆ เราก็บอกกับเขาว่า เราเป็นแค่ผู้ชม แล้วเราก็ทำเล่น ๆ เราไม่ได้จริงจัง เมื่อเสร็จกิจเราก็แลกผลงานกันแล้วไม่มีการจ่ายตังใด ๆ เกิดขึ้น เหมือนเรามีเซ็กซ์กัน ถ่ายแล้วแยกกันลง เขาก็ไม่ได้เงิน เราก็ไม่ได้เงิน แต่ต่างคนต่างมีคลิปของกันและกัน

หลัง ๆ พี่จึงตั้ง Onlyfans ขึ้นมา และเก็บในราคาถูกเพราะว่าเราไม่ได้ทำเป็นอาชีพ แต่ทำเพื่อตอบสนองความชอบของตนเอง ปรากฏอีกฝ่ายก็ลงขาย เราก็ลงของเรา แต่เป็นแบบลงหลังเขา เพราะเราตั้งใจให้เขามีรายได้ สุดท้ายดังขึ้นมาจนเริ่มมีผู้ติดตามสองแสนสามแสนคน คราวนี้เริ่มร่วมงานกับต่างชาติ ทำให้เรารู้สึกว่าเออ “ตอนนี้กูเป็นดาราหนังโป๊ไปแล้วใช่ไหม” จนมาถึงตอนนี้เลยรู้สึกว่า สิ่งนี้กลายเป็นอาชีพหลักไปแล้วด้วย และหน้าเราก็ถูกเผยไปเรียบร้อย เพราะ (หน้า) ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ยากในการถ่ายทำ ก็เลยตัดสินใจเปิดหน้าส่งผลให้กระแสตอบรับก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน

จากการที่พี่อยู่ในวงการนี้มา 3 – 4 ปี พี่รู้สึกสนุก เพราะเรามองว่ามันไม่ได้ผิดอะไร มันเป็นเรื่องธรรมดา แล้วก็รู้สึกว่าสิ่งนี้มีอะไรให้ค้นหาเยอะมาก เช่น เราเคยคิดว่าคนที่มาทำแบบนี้ต้องไม่มีเงิน มีทางเลือกชีวิตไม่เยอะมาก แต่ไม่เลย บางคนพูดได้ 4 ภาษา บางคนเป็นนักศึกษาป.เอก อย่างพี่เป็นเจ้าของธุรกิจ คือทุกคนที่พี่รู้จักก็จะอยู่ในระดับของคนที่มีทางเลือก และเขาชอบที่จะทำอะไรแบบนี้

บี: ถ้าเท้าความจริง ๆ เรารู้สึกว่า เรามีความสนใจในเรื่องของ Sex แล้วเราเป็นคนที่มีความชอบในด้านนี้มากกว่าด้านอื่น ๆ เราเลยอยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตรงนี้ ก็เลยลองหาลู่ทาง ปรากฏว่ามันก็มีลู่ทางนึงที่ทำให้เราได้เข้ามาอยู่ในวงการนี้ ก็คือ “การถ่ายรูปโป๊เปลือย” จากนั้นก็มีรุ่นพี่ในวงการคนอื่น ๆ เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อที่จะไปต่อยอดกันว่า ถ้าอยากจะทำต้องทำยังไงบ้าง ซึ่งพี่ก็เห็นว่ามันเป็นโอกาสที่เราจะได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำและเราก็มีความสนใจ เลยเริ่มทำมาตั้งแต่ตอนนั้นถึงตอนนี้ปัจจุบันก็ประมาณ 3 ปีได้แล้วในวงการนี้ โดยพี่ถือว่างานนี้เป็นงานอดิเรก เพราะว่าเราเน้นงานออฟฟิศหรืองานอื่น ๆ เป็นหลักมากกว่า

เมื่อพูดถึงความรู้สึกต่อวงการนี้ ก็ต้องกล่าวว่า เริ่มแรกเลยก็คือการที่จะต้องเป็นคนในวงการแบบนี้ให้ถูกยอมรับในสังคมเช่นนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะว่า หนึ่ง ในประเทศไทยกฎหมายไม่รองรับ และ สอง ประเพณีหรือจารีตมันไม่ให้สิ่งนี้ถูกต้องสักเท่าไร ดังนั้นเราก็เลยเลือกที่จะไม่เปิดเผยตัวตนของตนเอง ก็คือการปิดหน้าไว้ ทำให้กระแสหรือความนิยม    ต่ำลงกว่าคนที่เปิดตัว ซึ่งมันก็ทำให้มีความยากลำบากในการค่อย ๆ โต ซึ่งยากมาก เพราะปัจจุบันคนหันมาเป็น Sex Creator เยอะมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องพัฒนาตนเอง นั่นคือความท้าทายของเรา และมีช่วงหนึ่งในปีที่ 2 ที่เรารู้สึกว่าเริ่มตัน เรารู้สึกว่า เราอยากพอแล้ว เราเลยตั้งเป้าหมายใหม่ เช่น การเป็น Porn Star ในเอเชีย หรืออื่น ๆ ที่อยู่ในโซนเอเชีย เราก็เลยรู้สึกว่าเออเรายังอยากไปต่อ แล้วเราก็เริ่มไปถูกจุดมากขึ้น เราก็เริ่มได้รับการสนับสนุนมากขึ้นในช่วงปีที่สาม พูดง่าย ๆ ว่า “มาถูกทาง”

ทั้งนี้เมื่อผู้เขียนได้พูดคุยกับทั้งเอและบีเกี่ยวกับความรู้สึกและความคิดต่อแนวคิดสิทธิมนุษยชน ทั้งสองฝ่ายต่างให้ความเห็นตรงกันว่า แนวคิดนี้มีความ “สำคัญมาก” เอให้เหตุผลว่า สำหรับตนแนวคิดสิทธิมนุษยชนแบ่งออกเป็น 2 มิติ ได้แก่ มิติความเป็นมนุษย์ อาทิ สิทธิในการมีชีวิตรอด หรือสิทธิในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคม และมิติที่ต้องเรียกร้องเพื่อเสริมสร้างมิติความเป็นมนุษย์ อาทิ กฎหมายสมรสเท่าเทียมให้เข้าถึงทุกคนโดยไม่มีการจำกัดเพศ ขณะเดียวกันบีเสนอว่า แม้ตนจะเห็นว่าแนวคิดสิทธิมนุษยชนจะสำคัญเพียงใดต่อความเป็นมนุษย์แต่สังคมไทยยังเต็มไปด้วยวัฒนธรรมและประเพณีที่ไม่อนุญาตให้ปัญหาในอุตสาหกรรมหนังโป๊สามารถพูดได้ในบริบทสาธารณะ ทำให้ในบางครั้ง ตนเองรู้สึกอึดอัดที่จะต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ เพียงเพราะการขวางกั้นทางวัฒนธรรมที่ไม่อนุญาตให้พูดในที่สาธารณะ

เอ:  ถามว่า พี่มองว่ามันสำคัญไหม มันสำคัญมาก เพราะสิ่งนี้เป็นโอกาสที่จะให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างปกติ พี่มองว่า สิทธิ สำหรับพี่ก็จะแบ่งเป็น 2 มิติ ได้แก่ 1. มิติพื้นฐานคือมิติความเป็นมนุษย์ เราเกิดมาเป็นมนุษย์เรามีสิทธิ์หายใจ เรามีสิทธิ์ใช้ชีวิต กับ 2. มิติที่เราต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา เช่น กฎหมาย เพราะสิ่งที่ถูกบัญญัติเป็นกฎหมายจะเป็นตัวบอกเราว่า แบบเราทำอันนี้ได้หรืออันนี้ไม่ได้ พูดง่าย ๆ คือสังคมมันไปไกล กฎหมายเดินตามมาทีหลัง กฎหมายประเทศก็ยังล้าหลัง

บี: พี่ว่ามันสำคัญ แต่อย่างที่ทราบกันว่า วงการนี้มันโดนกดอยู่ข้างล่างมันละเอียดอ่อน ซึ่งสมมติว่า จะยกมันขึ้นมาให้ถูกต้องอาจจะต้องดูหลาย ๆ ประเด็นให้ครอบคลุมนิดนึง เพราะวิถีประชาหรือจารีตของประเทศไทยหนังโป๊บอกว่าไม่เหมาะ แต่เราก็อยากให้ขึ้นมา ไม่ใช่ว่าไม่อยากให้ไม่ขึ้นมา เพราะมันก็อยู่คู่กับคนไทยมาเรื่อย ๆ นั่นแหละ เราแค่ไม่อยากแตะเพราะก็มีความยากเรื่องกฎหมายและกฎหมายก็เป็นอีกสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นตัวทำให้เรารู้สึกต้อง หลบ ๆ ซ่อน ๆ

หลังจากที่ผู้เขียนได้ร่วมพูดคุยและซักถามถึงความคิดเห็นของทั้งสองคนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ทั้งสองจึงได้เล่าถึงเหตุการณ์ซึ่งตนเอง “รู้สึก” ได้ถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากประสบการณ์ในอุตสาหกรรมหนังโป๊ เมื่อผู้เขียนได้รับฟังแล้วจึงสามารถกล่าวได้ว่า ประเด็นที่ทั้งสองคนพบเจอนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร่วมกันใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การล่วงละเมิดทางเพศ และ2. ปัญหาลิขสิทธิ์ จากนั้นเอได้เสนอประเด็นย่อยของตนเองคือ ปัญหาการบังคับใช้สารเสพติด ขณะที่บี เสนอประเด็นย่อยคือปัญหาการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของตนเอง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเช่นเดียวกันกับที่ European Centre for Law and Justice ได้นำเสนอไว้ในรายงานเรื่อง Pornography and Human rights ซึ่งได้เสนอไว้ข้างต้น

ในบทถัดไป เตรียมเจาะลึกด้านมืดที่หลายคนไม่เคยพูดถึง เมื่อสารเสพติดถูกใช้เป็นอาวุธลับในอุตสาหกรรมหนังโป๊ไทย ก่อให้เกิดความบิดเบี้ยวของสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พร้อมเผยความเชื่อมโยงอันน่าสะพรึงระหว่างยาเสพติดกับการล่วงละเมิดทางเพศ เรื่องจริงที่สะเทือนใจและไม่อาจเพิกเฉยได้ โปรดติดตามตอนต่อไป!


กิตติกรรมประกาศ

โครงการบ่มเพาะนักเขียนหน้าใหม่ยุค AI รุ่นที่ 6 จัดโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร.ศยามล เจริญรัตน์ หัวหน้าศูนย์ความมั่นคงของมนุษย์และความเท่าเทียม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เอกสารอ้างอิง

  • AMNESTY INTERNATIONAL THAILAND. (ม.ป.ป.). ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน. สืบค้นจาก https://www.amnesty.or.th/our-work/hre/udhr/
  • Elisabet le Roux. (2010, ). Pornography: Human right or human rights violation?. Original Research, 66(2). Retrieve from https://www.researchgate.net/publication/262545053_Pornography_Human_right_or_human_rights_violation
  • European Centre for Law and Justice. (2021). Pornography and Human Rights. Retrieve from http://media.aclj.org/pdf/Pornography-and-Human-Rights,-European-Centre-for-Law-and-Justice,-October-2019.pdf
  • กระทรวงการต่างประเทศ. (2551). ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน. สืบค้นจาก https://humanrights.mfa.go.th/upload/pdf/udhr-th-en.pdf
  • กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม. (2550). พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์. สืบค้นจาก https://shorturl.asia/C1OSD
  • กระทรวงสาธารณสุข. (2562). ทำไมคนเราจึงมีอารมณ์เพศ. สืบค้นจาก https://multimedia.anamai.moph.go.th/infographics/safe-sex-safe-life-1/
  • ผู้จัดการออนไลน์. (2566, 18 กุมภาพันธ์). ปิดกั้น “เว็บโป๊” ไม่เป็นผล ไทยติด Top 10 ท่อง 3 เว็บ 18+. ผู้จัดการออนไลน์, สืบค้นจากhttps://mgronline.com/daily/detail/9660000015784
  • ภาคภูมิ วาณิชกะ. (2559, กรกฎาคม-กันยายน). การละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมหนังโป๊ญี่ปุ่น: รายงานของ HRN และปฏิกิริยาจากอุตสาหกรรม. วิภาษา, 10(3).
  • รัชตะ จึงวิวัฒน์. (2565, 10 กุมภาพันธ์). ค้นร่องรอยสิ่งเร้ากามารมณ์ชิ้นแรกๆ ในโลก สู่เส้นทาง “หนังโป๊” ยุค AV-เว็บโป๊. ศิลปวัฒนธรรม, สืบค้นจาก https://www.silpa-mag.com/history/article_34147
  • สำนักกฎหมายและวิชาการศาลยุติธรรม. (2562). พระราชบัญญัติใช้ในประมวลกฎหมายอาญา. สืบค้นจาก https://jla.coj.go.th/th/content/category/detail/id/8/cid/113/iid/121230

สัมภาษณ์

เอ 25 กรกฎาคม 2567. สัมภาษณ์.
บี 28 กรกฎาคม 2567. สัมภาษณ์.

 

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th