The Prachakorn

จำนวนเด็กไทยเกิดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สวนทางนโยบายมีลูกเพื่อชาติ


จงจิตต์ ฤทธิรงค์

03 มกราคม 2568
1,016



“เป็นปีที่ 4 อัตราเพิ่มประชากรไทยติดลบ เพราะเด็กเกิดน้อยกว่าคนตาย”  

เด็กไทยเกิดปี 2567 มีจำนวน 461,421 คน1 ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่ประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดไม่ถึง 5 แสนคนต่อปี แนวโน้มจำนวนเด็กเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้มี “ลูกเพื่อชาติ”

สถิติจำนวนการเกิดของประเทศไทย มกราคม 2567 ถึงเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

เดือน ชาย หญิง รวม
มกราคม 20,676 19,559 40,235
กุมภาพันธ์ 17,624 16,462 34,086
มีนาคม 19,037 17,677 36,714
เมษายน 20,146 18,570 38,716
พฤษภาคม 19,711 18,538 38,249
มิถุนายน 17,416 16,517 33,933
กรกฎาคม 20,242 18,802 39,044
สิงหาคม 20,684 19,625 40,309
กันยายน 21,898 20,367 42,265
ตุลาคม 22,201 20,815 43,016
พฤศจิกายน 20,166 19,059 39,225
ธันวาคม 18,269 17,360 35,629
รวม 238,070 223,351 461,421

แหล่งข้อมูล: สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย1

การติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของประชากรมาอย่างต่อเนื่องของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ประเทศไทยเคยมีเด็กเกิดเกิน 1 ล้านคนต่อปีในช่วงปี 2506-2526 และเคยมีเด็กเกิดจำนวนสูงสุดในปี 2514 มากถึง 1,221,228 คน ตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา จำนวนเด็กเกิดในประเทศไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนมีจำนวนเด็กเกิดต่ำ 6 แสนคนตั้งแต่ปี 2562 จำนวนเด็กเกิดได้ลดลงต่ำลงมาอีก จนในปี 2567 เด็กเกิดในประเทศไทยได้ลดลงมาต่ำกว่า 5 แสนคนเป็นปีแรก 

รูป 1 จำนวนเด็กเกิด พ.ศ. 2492-2567

สถานการณ์เด็กเกิดน้อยเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากร โดยจะเร่งการสูงวัยของประชากรไทยให้เร็วขึ้น จำนวนเด็กเกิดที่ลดลงอย่างมากนี้ ทำให้อัตราส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดเพิ่มสูงขึ้น ประเทศไทยได้กลายเป็นสังคมสูงวัยเมื่อปี 2548 คือมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปคิดเป็น 10% ของประชากรทั้งหมด จากนั้นประเทศไทยใช้เวลาอีกเพียงไม่ถึง 20 ปี จนกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2567 (อัตราส่วนผู้สูงอายุเกินกว่า 20 %ของประชากรทั้งหมด)

“คนไทยเห็นด้วยว่า เด็กเกิดน้อยเป็นวิกฤตของประเทศ”

สถาบันวิจัยประชากรและสังคมได้สำรวจความเห็นประชาชนไทยจำนวน 1,042 คน เพื่อสอบถามความคิดเห็นในประเด็น “สถานการณ์เด็กเกิดน้อยและสังคมสูงอายุ” ในช่วงเดือนพฤศจิกายน - เดือนธันวาคม 2567 พบว่า

  • 71% ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นด้วยว่าจำนวนเด็กเกิดน้อยเป็นวิกฤตของประเทศ
  • 44% เห็นด้วยกับนโยบายส่งเสริมให้คนไทยมีลูกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงเพียงประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เห็นด้วยว่าจะมีลูกถ้าอยู่ในสถานะที่พร้อมจะมีลูก สัดส่วนผู้ชายตอบว่าจะมีลูกถ้าอยู่ในสถานะที่พร้อมมากกว่าผู้หญิง (ชาย 60% ต่อ หญิง 53%)

ประชาชนที่อยู่ในสถานะสมรส ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด

  • เพียง 39% ที่ตัดสินใจมีลูกอย่างแน่นอน
  • 30% คิดว่าอาจจะตัดสินใจมีลูก
  • 20% จะไม่มีลูก

แบบสำรวจถามด้วยว่า ถ้าท่านมีคู่รักหรือมีคู่แต่งงานแล้ว ยังมีสุขภาพแข็งแรง และอยู่ในวัยที่มีลูกได้

  • 53% ตอบว่าจะมีลูก โดยเจนเนอเรชัน X ขึ้นไปมีสัดส่วนมากที่สุด (60%) รองลงมาคือ เจนเนอเรชัน Z (55%) และ Y (44%) ตามลำดับ

ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า การตัดสินใจมีลูกมีความแตกต่างกันระหว่างเจนเนอเรชัน โดยกลุ่มเจนเนอเรชัน X มีแนวโน้มที่จะมีลูกสูงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ในขณะที่เจนเนอเรชัน Y มีสัดส่วนความตั้งใจมีลูกต่ำที่สุด ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจดังกล่าว อาจรวมถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ค่านิยมของแต่ละช่วงวัย และปัจจัยทางสังคมอื่นๆ เช่น ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และความกังวลเกี่ยวกับความสมดุลระหว่างการทำงานและการเลี้ยงดูบุตร

เครดิตภาพ: AI Generate by www.freepik.com

การที่ประชากรเพียง 1 ใน 3 ของผู้ที่อยู่ในสถานะสมรส (36%) ยืนยันว่าจะมีลูก อาจเป็นสัญญาณที่แสดงถึงแนวโน้มอัตราเกิดที่ลดลง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ควรได้รับการพิจารณา หากรัฐบาลต้องการสนับสนุนให้มีจำนวนเด็กเกิดเพิ่มขึ้น

กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พยายามผลักดันให้มีนโยบายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดไปจนถึงอายุ 6 ปีแบบถ้วนหน้า2 แทนการสงเคราะห์เฉพาะผู้ปกครองในครัวเรือนรายได้น้อย (ครัวเรือนที่สมาชิกมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคน ต่อปี) ที่ปัจจุบันได้รับเงินอุดหนุนฯ ในอัตรา 600 บาท ต่อคนต่อเดือน ส่วนผู้ประกันตนจะได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรา (ดูตาราง)

เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี จำนวนเงินที่ได้รับ
ผู้ประกันตน กองทุนประกันสังคม ม.33 ม.39 800 บาทต่อคนต่อเดือน
ผู้ประกันตน กองทุนประกันสังคม ม.40 200 บาทต่อคนต่อเดือน
ครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี
(กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)
600 บาทต่อคนต่อเดือน


ผลการสำรวจความเห็นประชาชนไทยพบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น (49%) ที่เห็นด้วยว่าเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดจะช่วยส่งเสริมให้คนไทยมีลูกมากขึ้น ข้อมูลนี้สะท้อนให้เห็นว่า เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดเพียงอย่างเดียวไม่น่าจะทำให้คนไทยมีลูกเพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล

การเกิดที่วัดด้วยอัตราเจริญพันธุ์รวม ซึ่งหมายถึง จำนวนลูกเฉลี่ยที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะมีตลอดวัยเจริญพันธุ์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ต่ำกว่า 2.1 คน กล่าวคือ จำนวนเด็กเกิดใหม่ต่ำกว่าระดับทดแทนพ่อและแม่ ปัจจุบัน ประเทศในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จีน รวมทั้งประเทศไทยมีอัตราเจริญพันธุ์รวมต่ำมาก 

อัตราเจริญพันธุ์รวม (TFR) พ.ศ. 2567

เกาหลีใต้ 0.72
สิงคโปร์ 0.94
ประเทศไทย 1.03*
จีน 1.00
อิตาลี 1.20
ญี่ปุ่น 1.21
สวีเดน 1.43
เยอรมนี 1.44
อังกฤษ 1.56
สหรัฐอเมริกา 1.62

หมายเหตุ: *คาดประมาณโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

รัฐบาลในหลายประเทศมีความพยายามจะสนับสนุนให้ประชากรของตนมีลูกเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้อัตราเจริญพันธุ์รวมของประเทศเพิ่มขึ้นได้มากนัก ตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา สิงคโปร์ได้ดำเนินการมาตรการทางภาษีและเงินอุดหนุนหรือสมทบ นโยบายควบคุมและส่งเสริมการเกิดพิจารณาตามลำดับที่บุตร บริการหาคู่ นอกจากนี้ รัฐบาลยังตระหนักถึงสภาพแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจมีบุตรและการดูแลบุตร จึงสนับสนุนโครงการสมดุลชีวิตกับงาน (work-life balance) การเพิ่มจำนวนและคุณภาพของสถานเลี้ยงเด็ก

อัตราเจริญพันธุ์รวมของสิงคโปร์ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีมาตรการส่งเสริมการเกิดหลายอย่าง แต่อัตราเจริญพันธุ์รวมของสิงคโปร์ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเหลือเพียง 0.94 เท่านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะความกดดันทางเศรษฐกิจ ภาวะความเครียด วิถีชีวิตที่เร่งรีบ การเสียโอกาสการทำงานของแม่ และที่สำคัญคือค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรสูงมากจนความช่วยเหลือที่รัฐบาลสนับสนุนไม่เพียงพอ3

นอกจากนี้ เกาหลีใต้เป็นอีกประเทศที่มีอัตราเจริญพันธุ์รวมต่ำที่สุดในโลก (0.72)4 และได้กลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super-aged society) อย่างเป็นทางการแล้ว โดยมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด สถานการณ์ทางประชากรนี้ทำให้ประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล ได้เสนอแนวคิดในการจัดตั้งกระทรวงใหม่เพื่อการวางแผนและรับมือกับวิกฤตประชากรที่กำลังทวีความรุนแรง5

จากข้อมูลที่สำรวจ “สถานการณ์เด็กเกิดน้อยและสังคมสูงอายุ” ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ตระหนักถึงความท้าทายในการมีเด็กเกิดน้อยที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างประชากรของประเทศ แต่การตัดสินใจที่จะมีลูกยังคงขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคล เช่น สถานภาพทางเศรษฐกิจ ความพร้อมทางสุขภาพ และบทบาททางสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่มีความลังเลมากกว่า

แม้จะมีนโยบายส่งเสริมการมีบุตร แต่ยังจำเป็นต้องมีมาตรการที่สอดคล้องกับความต้องการและข้อกังวลของประชาชน เช่น การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู การเพิ่มสวัสดิการสำหรับครอบครัว และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลี้ยงดูบุตรอย่างสมดุล การลดช่องว่างระหว่างความตระหนักรู้และการลงมือปฏิบัติจริงจะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับโครงสร้างประชากรไทย

ติดตามการรายงานสถานการณ์ประชากรไทยและผลสำรวจความเห็นประชากรไทยต่อนโยบายประชากรในประเด็น “สถานการณ์เด็กเกิดน้อยและสังคมสูงอายุ” ได้จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2568 ได้ทาง facebook https://www.facebook.com/IPSRMAHIDOLUNIVERSITY


อ้างอิง

  1. สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, จำนวนเกิด, สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, Editor. 2564: กรุงเทพฯ.
  2. กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. พม. เตรียมชง เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดถ้วนหน้า X-Ray ค้นหาเด็กเข้าไม่ถึงสิทธิ พร้อมเสริมสวัสดิการเด็ก-เยาวชน เปราะบาง. 2567  [cited 2567 26 ธันวาคม]; Available from: https://www.dcy.go.th/multimedias/1660622899567/1732001270381.
  3. จงจิตต์ ฤทธิรงค์ and รศรินทร์ เกรย์, โครงสร้างและนโยบายประชากรของประเทศสิงคโปร์ในมุมมองของการพัฒนาประเทศไทยในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน. 2561, นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. 41-68.
  4. United Nations, D.o.E.a.S.A., Population Division, and World Population Prospects 2024, in Online Edition. 2024, United Nations, Department of Economic and Social Affairs, Population Division.
  5. Yoonjung Seo and Chris Lau. South Korea becomes ‘super-aged’ society, new data shows. 2024  [cited 2024; Available from: https://edition.cnn.com/2024/12/24/asia/south-korea-super-aged-society-intl-hnk/index.html.

Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th