The Prachakorn

ภูมิภาคที่เด็กไทยอยู่อาศัยมีผลต่อการพบเห็นโฆษณาและบริโภคอาหารหวานมันเค็มได้อย่างไร?


นงนุช จินดารัตนาภรณ์

21 มกราคม 2568
28



การเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ทำให้ประเทศรายได้น้อยและปานกลางหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยกำลังประสบกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากการบริโภคอาหารแบบดั้งเดิมหรืออาหารท้องถิ่นไปสู่การบริโภคอาหารแปรรูปที่มีรสชาติหวานมันเค็มเพิ่มขึ้น การบริโภคอาหารหวานมันเค็มเป็นปัจจัยเสี่ยงทางพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารของสำนักงานสถิติแห่งชาติยืนยันว่า เด็กไทยบริโภคอาหารหวานมันเค็มมากกว่าที่เคยเป็นมา และแนวโน้มนี้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนของเด็กไทยอายุ 6 – 14 ปี บริโภคเบเกอรี่ที่มีไขมันสูงทุกวันเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 90.4 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 94.6 ในปี 2564 และบริโภคอาหารจานด่วนทุกวันจากร้อยละ 46.8 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 64.8 ในช่วงเวลาเดียวกัน1

การพบเห็นโฆษณาอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีผลต่อการบริโภคอาหารหวานมันเค็มของเด็ก โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ศึกษาผลกระทบของการตลาดอาหารที่มีต่อเด็กไทย  โดยได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างอายุ 10 – 18 ปี ซึ่งเป็นตัวแทนเด็กไทยในระดับประเทศ จำนวน 4,117 คน เพื่อค้นหาปัจจัยส่วนบุคคลของเด็กและปัจจัยการทำการตลาดอาหารหวานมันเค็มที่มีผลกระทบต่อเด็ก ผลการศึกษาพบว่า เด็กไทยที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ พบเห็นโฆษณาอาหารหวานมันเค็มมากกว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือ2 สอดคล้องกับผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้สื่อของเด็กและเยาวชนอายุ 6 – 24 พบว่า เด็กไทย 15.9 ล้านคน (ร้อยละ 98.2) ใช้อินเทอร์เน็ต และเด็กไทยในกรุงเทพฯ (ร้อยละ 98.8) ภาคใต้ (ร้อยละ 98.5) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 98.5) และภาคกลาง (ร้อยละ 98.3) ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่าเด็กภาคเหนือ (ร้อยละ 97.4)3 ดังนั้น เด็กที่ใช้สื่อมากจึงมีโอกาสพบเห็นการโฆษณาอาหาร มากตามไปด้วย

นอกจากนี้ เด็กไทยที่อาศัยอยู่ในภาคกลางและภาคใต้มีแนวโน้มชอบและร้องขอให้ผู้ปกครองซื้ออาหารหวานมันเค็มที่โฆษณา มากกว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ขณะที่เด็กไทยที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแนวโน้มชอบและร้องขอให้ผู้ปกครองซื้ออาหารหวานมันเค็มที่โฆษณา น้อยกว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ2 ทั้งนี้ อาจสืบเนื่องมาจาก

(1) การลงทุนโฆษณา กล่าวคือ อาหารหวานมันเค็มที่โฆษณาส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทอาหารที่มีกำลังการผลิตและการลงทุนโฆษณาสูง ซึ่งข้อมูลจากเอซีเนลเซ่น ประเทศไทย (AC Nielsen Thailand) เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรก ของปี 2567 กลุ่มบริษัทอาหารใช้งบประมาณในการโฆษณามากถึง 4,476 ล้านบาท การลงทุนโฆษณาด้วยงบมหาศาลจึงทำให้เด็กไทยมีโอกาสพบเห็นโฆษณาและคุ้นเคยกับอาหารหวานมันเค็มมากขึ้น

(2) จุดจำหน่ายหรือการมีผลิตภัณฑ์อาหารหวานมันเค็มจำหน่ายอย่างแพร่หลาย กล่าวคือ บริษัทอาหารหวานมันเค็มเป็นพันธมิตรกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านการค้าส่งและค้าปลีก จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ของตนเองสามารถวางจำหน่ายในร้านค้าปลีกหรือร้านสะดวกซื้อได้ ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของร้านค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่ร้านค้าเหล่านี้ตั้งอยู่ในภาคกลาง มีจำนวนร้านมากถึง 4,593 แห่ง และภาคใต้ จำนวน 3,770 แห่ง โดยภาคกลางเป็นย่านธุรกิจและเป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ภาคกลางยังเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของประเทศไทย ในขณะที่ภาคใต้เป็นจุดหมายปลายทางหลักของนักท่องเที่ยว จึงเป็นสถานที่สำคัญสำหรับการดำเนินการของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ดังนั้น เด็กที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเหล่านี้จึงสามารถเข้าถึงร้านค้าปลีกสมัยใหม่ เพื่อซื้อและบริโภคอาหารหวานมันเค็มที่โฆษณา ได้มากกว่าเด็กที่อาศัยในกรุงเทพฯ และภูมิภาคอื่นๆ ในขณะที่ร้านสะดวกซื้อในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวน 1,500 กว่าแห่งและ 811 แห่ง ตามลำดับ ซึ่งเมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ ที่มีร้านสะดวกซื้อจำนวนมากถึง 3,557 แห่ง ทำให้กรุงเทพฯ มีจำนวนของจุดจำหน่ายสินค้ามากกว่าภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เด็กในกรุงเทพฯ จึงมีโอกาสซื้ออาหารหวานมันเค็มที่โฆษณา ได้มากกว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยสรุปแล้วภูมิภาคที่เด็กไทยอยู่อาศัยมีผลต่อการพบเห็นโฆษณาและบริโภคอาหารหวานมันเค็มที่แตกต่างกัน เราไม่สามารถห้ามเด็กใช้สื่อ และเราหยุดยั้งการเติบโตและการขยายสาขาของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในแต่ละภูมิภาคไม่ได้ แต่เราสามารถลดเวลาการใช้สื่อของเด็กได้ ด้วยการส่งเสริมให้มีการใช้กิจกรรมสันทนาการในยามว่างอื่นๆ ทดแทนการใช้เวลากับสื่อ เช่น การจัดกิจกรรมแข่งขันกีฬา การเล่นใบ้คำ และการประดิษฐ์ของเล่นให้แก่เด็ก รวมทั้ง การสร้างความร่วมมือกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ในการเพิ่มพื้นที่จำหน่ายอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้วางอยู่บนชั้นวางสินค้าให้มากขึ้น


บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Adolescence and Youth สามารถติดตามอ่านบทความฉบับเต็มได้จาก

Jindarattanaporn, N., Kelly, B., & Chuenchom, S. (2025). Associations between Thai children’s exposure to unhealthy food marketing and their diet-related outcomes: findings from a national cross-sectional survey. International Journal of Adolescence and Youth, 30(1). https://doi.org/10.1080/02673843.2025.2451657


เอกสารอ้างอิง

  1. สำนักงานสถิติแห่งชาติ, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม. การสำวรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ.2564. กรุงเทพฯ: สำนักงานสถิติแห่งชาติ; 2564.
  2. Jindarattanaporn N, Kelly B, Chuenchom S. Associations between Thai children’s exposure to unhealthy food marketing and their diet-related outcomes: findings from a national cross-sectional survey. International Journal of Adolescence and Youth. 2025;30(1):2451657.
  3. สำนักสถิติแห่งชาติ. การใช้ไอซีทีของเด็กและเยาวชน พ.ศ.2566. กรุงเทพฯ: สำนักงานสถิติแห่งชาติ; 2566.

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th