The Prachakorn

เด็กไทยเข้าใจฉลากโภชนาการแบบจีดีเอหรือไม่?


นงนุช จินดารัตนาภรณ์

10 กุมภาพันธ์ 2568
52



ฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (Guideline Daily Amount: GDA) หรือฉลากหวาน มัน เค็ม เป็นฉลากรูปทรงกระบอกขนาดเล็กอยู่ด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ แสดงข้อมูลโภชนาการ โดยแสดงค่าพลังงาน (กิโลแคลอรี่) น้ำตาล (กรัม) ไขมัน (กรัม) และโซเดียม (มิลลิกรัม) ฉลากโภชนาการแบบจีดีเอช่วยให้ผู้บริโภคสามารถระบุอาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมในปริมาณที่มากเกินไปได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และสะดวกต่อการใช้งาน ทำให้ผู้บริโภคเลือกบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้1 ประเทศไทยได้ออกประกาศใช้ฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ ในปี 2559 ในอาหาร 5 กลุ่ม และเพิ่มอีก 8 กลุ่มในปี 2561

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการศึกษาการรับรู้และความเข้าใจฉลากโภชนาการแบบจีดีเอในกลุ่มคนไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป2 และกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน3 แต่ยังขาดการศึกษาในกลุ่มเด็กไทย ดังนั้น บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความเข้าใจฉลากโภชนาการแบบจีดีเอของเด็กไทยอายุ 10-18 ปี ซึ่งเป็นงานวิจัยของสถาบันวิจัยประชากรและสังคมที่ได้ประเมินความเข้าใจฉลากฯ ของเด็กไทย โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากเด็กไทยทั่วประเทศจำนวน 2,113 คน ทีมวิจัยให้เด็กดูภาพฉลากฯ (รูป 1) จากนั้นให้เด็กตอบคำถามเกี่ยวกับข้อความและตัวเลขบนฉลากฯ จำนวน 6 ข้อ หากเด็กตอบถูกในแต่ละข้อแสดงว่าเด็กเข้าใจฉลากฯ ต่อมาทีมวิจัยให้เด็กดูภาพฉลากฯ 2 ฉลาก ซึ่งมีตัวเลขแตกต่างกัน (รูป 2) จากนั้นให้เด็กตอบคำถาม จำนวน 1 ข้อ หากเด็กตอบถูกแสดงว่าเด็กเข้าใจฉลากฯ ได้ถูกต้อง4

รูป 1: ฉลากโภชนาการแบบจีดีเอของขนมขบเคี้ยว

ผลการศึกษาพบว่า จากรูป 1 โดยภาพรวม เด็กไทยประมาณ 4 ใน 5 คน จะเข้าใจเมื่อเห็นตัวเลขปริมาณพลังงานและสารอาหารบนฉลากฯ โดยร้อยละ 83.3 ของเด็กไทยตอบคำถามถูกต้องเกี่ยวกับจำนวนพลังงานต่อบรรจุภัณฑ์ กล่าวคือ เด็กไทยเข้าใจว่าหากตนเองกินขนมซองนี้หมดซอง ตนเองจะได้รับพลังงานทั้งหมด 320 กิโลแคลอรี รองลงมาคือ ความเข้าใจต่อปริมาณไขมันต่อบรรจุภัณฑ์ คือ ร้อยละ 80.5 รู้ว่าเมื่อกินขนมซองนี้หมดซอง ตนเองจะได้รับไขมันทั้งหมด 18 กรัม และร้อยละ 77.4 เข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับปริมาณโซเดียมต่อบรรจุภัณฑ์ คือ รู้ว่าเมื่อตนเองกินขนมหมดซอง ตนเองจะได้รับปริมาณโซเดียมทั้งหมด 280 มิลลิกรัม หรือคิดเป็นร้อยละ 14 ของปริมาณสูงสุดที่บริโภคได้ต่อวัน

สำหรับความเข้าใจข้อความ “ควรแบ่งกิน 2 ครั้ง” และ “คุณค่าทางโภชนาการต่อ 1 บรรจุภัณฑ์” พบว่า เด็กไทยประมาณ 3 ใน 5 คน (ร้อยละ 66.3) เข้าใจข้อความ “ควรแบ่งกิน 2 ครั้ง” คือ รู้ว่าขนมซองนี้สามารถแบ่งกินได้ 2 ครั้ง ในขณะที่ร้อยละ 60.2 เข้าใจข้อความ “คุณค่าทางโภชนาการต่อ 1 ซอง” ว่า หากกินขนมซองนี้จะได้พลังงานและสารอาหารตามที่ระบุไว้บนฉลาก อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 39.6 ของเด็กไทยไม่เข้าใจข้อความ “ร้อยละของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคได้ต่อวัน” ที่เป็นการเปรียบเทียบปริมาณสารอาหารใน 1 ซองว่าเป็นสัดส่วนเท่าไรของปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคใน 1 วัน

A

B

รูป 2: การเปรียบเทียบฉลากโภชนาการแบบจีดีเอของขนมขบเคี้ยว A และขนมขบเคี้ยว B

เมื่อให้เด็กไทยเปรียบเทียบฉลากฯ 2 ฉลาก (รูป 2) โดยถามว่า “สองรูปนี้เป็นฉลากหวาน มัน เค็ม ของขนมขบเคี้ยว A และ B ถ้าให้หนูเลือกจากฉลาก ขนมขบเคี้ยวใดดีต่อสุขภาพมากกว่ากัน?” ผลการศึกษาพบว่า กว่า 3 ใน 5 ของเด็กไทย (จำนวน 1,371 คน คิดเป็นร้อยละ 64.9) เข้าใจและเลือกฉลากโภชนาการฯ บนบรรจุภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวได้ถูกต้อง ซึ่งหมายความว่า เด็กไทยเข้าใจว่า ขนมขบเคี้ยว B ดีต่อสุขภาพมากกว่าขนมขบเคี้ยว A

ถึงแม้เด็กไทยเข้าใจตัวเลขบนฉลากฯ แต่เด็กไทยบางส่วนยังไม่เข้าใจข้อความควรแบ่งกิน 2 ครั้ง และคุณค่าทางโภชนาการต่อ 1 บรรจุภัณฑ์ และเด็กไทยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจข้อความร้อยละของปริมาณสูงสุดที่บริโภคได้ต่อวันของฉลากฯ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการให้ความรู้หรือบรรจุความรู้เกี่ยวกับฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ ลงในหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษา


เอกสารอ้างอิง

  1. Pan American Health Organization (PAHO). (2020). Front-of-Package Labeling as a Policy Tool for the Prevention of Noncommunicable Diseases in the Americas. Pan American Health Organization (PAHO). https://iris.paho.org/bitstream/handle/10665.2/52740/ PAHONMHRF200033_eng.pdf. สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2568
  2. กานต์รวี มั่งมี. (2561). ความสัมพันธ์ระหว่างความเข้าใจฉลากโภชนาการภาคบังคับและการส่งเสริม การขายเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลกับพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลของผู้บริโภคในจังหวัดนนทบุรี. (ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต, วิชาเอกการจัดการระบบอาหารเพื่อโภชนาการสาขาวิชามนุษยนิเวศ ศาสตร์, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช). https://ir.stou.ac.th/bitstream/123456789/11171/1/ fulltext.pdf. สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2568
  3. Chantaradee, P. (2003). Understanding and Usage of Nutrition Labeling among Type 2 Diabetes Patients. (Master’s Thesis, Factualty of Graduate Studies, Mahidol University). https://mulinet11.li.mahidol.ac.th/e-thesis/4136121.pdf. สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2568
  4. นงนุช จินดารัตนาภรณ์, สลักจิต ชื่นชม, และกษมา ยาโกะ. (2567). การติดตามการตลาดอาหารและเครื่องดื่มในเด็กของประเทศไทย. นครปฐม: มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นเมื่อ 4 มกราคม 2568

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th