The Prachakorn

มองลักษณะการอยู่อาศัยร่วมกันของผู้สูงอายุในครัวเรือนแบบที่ต่างไป .... ได้หรือไม่?


ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

13 มิถุนายน 2561
593



ในช่วงนี้ ผู้เขียนดูแลนักศึกษาเพื่อทำวิทยานิพนธ์อยู่หลายคน มีอยู่ 2-3 คน ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุ จึงทำให้ได้มีโอกาสพินิจพิเคราะห์งานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในประเทศไทย กล่าวได้ว่างานเกือบทั้งหมดศึกษาผู้สูงอายุในภาพของปัจเจก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอยู่อาศัย สุขภาพ ความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน การดูแล การออม ฯลฯ ..... แต่ถ้าเราจะมองเรื่องเหล่านี้ให้อยู่ในภาพของครัวเรือนบ้าง! จะเป็นอย่างไร? ผู้เขียนคิดว่าเป็นไปได้และน่าสนใจไม่น้อย

ผู้เขียนขอยกประเด็นของ ‘ลักษณะการอยู่อาศัยร่วมกันในครัวเรือน’ เพราะเป็นเรื่องแรกๆ ที่ศึกษากัน ที่ผ่านมาเรารู้ว่ามีผู้สูงอายุร้อยละเท่าไรที่อยู่คนเดียว และอีกร้อยละเท่าไรที่อยู่ร่วมกับผู้อื่น แต่เราไม่รู้เลยว่ามีครัวเรือนผู้สูงอายุ (ครัวเรือนที่มีผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป อย่างน้อย 1 คน อาศัยในครัวเรือน) มากน้อยเท่าไรเมื่อเทียบกับครัวเรือนทั้งหมด ครัวเรือนผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น/ลดลงอย่างไร หรือจากครัวเรือนผู้สูงอายุ มากน้อยเท่าไรเป็นครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุเป็นหัวหน้าครัวเรือน เป็นต้น การจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ เราต้องศึกษาลักษณะการอยู่อาศัยในภาพของครัวเรือน จากข้อมูลสำมะโนประชากรหรือจากข้อมูลการสำรวจต่างๆ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่มีการจัดเก็บข้อมูลเป็นครัวเรือนโดยบันทึกลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจ สังคม ที่สำคัญของสมาชิกทุกคนในครัวเรือนนั้นๆ

ข้อมูลดังกล่าวเริ่มจากครัวเรือนทั้งหมด นำมาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1) ครัวเรือนผู้สูงอายุ และ 2) ไม่ใช่ครัวเรือนผู้สูงอายุ (ไม่มีผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป อาศัยในครัวเรือน) จากครัวเรือนผู้สูงอายุ แบ่งต่อได้อีก 2 กลุ่ม คือ 1.1) ครัวเรือนที่ผู้สูงอายุเป็นหัวหน้าครัวเรือน และ 1.2) ครัวเรือนที่ผู้สูงอายุไม่ได้เป็นหัวหน้าครัวเรือน กลุ่มย่อยๆ ทั้งสองนี้ ก็สามารถแบ่งต่อได้อีกโดยใช้กลุ่มอายุ ต่ำกว่า 15 ปี 15-59 ปี และ 60 ปีขึ้นไป (วัยเด็ก วัยทำงาน และวัยสูงอายุ ตามลำดับ) ของสมาชิกในครัวเรือนเป็นตัวแบ่ง สำหรับครัวเรือนที่ไม่มีผู้สูงอายุ ก็สามารถแบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ โดยใช้เกณฑ์กลุ่มอายุ 3 กลุ่มของสมาชิกในครัวเรือนเป็นตัวแบ่งเช่นกัน การแบ่งเช่นนี้ ทำให้เกิดลักษณะการอยู่อาศัยร่วมกันในครัวเรือนในอีกมิติ อย่างน้อยก็ 10 รูปแบบ ดังนี้ (ดูแผนภาพ)

 

ผู้เขียนเห็นว่าการแบ่งข้างต้น อาจเหมาะสมกว่าการแบ่งแบบเดิมๆ ที่แบ่งเป็น เช่น ครัวเรือนเดี่ยว ครัวเรือนขยาย ครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอยู่กับหลาน (ครัวเรือนแหว่งกลาง) สำหรับการศึกษาบางประเด็น โดยเฉพาะที่ไปสัมพันธ์กับเชิงเศรษฐศาสตร์ เช่น การศึกษารูปแบบการบริโภค การใช้จ่าย หรือการออมของครัวเรือน เพราะการแบ่งแบบที่ผู้เขียนเสนอ อย่างน้อยก็เอาอายุของสมาชิกในครัวเรือนมาใช้ร่วมเพื่อเป็นเกณฑ์แบ่ง

ทั้งหมดนี้ ผู้เขียนไม่ได้คาดหวังว่าผู้ที่ได้อ่านจะต้องเห็นพ้องด้วยทุกคน แต่ต้องการเพียงเป็นเชื้อเพื่อจุดประกายให้ผู้ที่สนใจได้หาแนวทางการศึกษาใหม่ๆ ขึ้นจากเดิม เท่านั้นเอง........


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th