การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในศตวรรษที่ 21 นำไปสู่ปรากฏการณ์ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ กล่าวคือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนาเช่นประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มที่ประชากร อายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2566 จำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 13.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าจะเกิน 28% ในปี พ.ศ. 2572 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมสูงอายุระดับสุดยอด” (Super-aged Society) การเพิ่มขึ้นดังกล่าวสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทุกมิติในด้านสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการสินค้าและบริการที่ตอบสนองต่อผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เริ่มมีการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรการออกแบบและพัฒนายานพาหนะถูกพัฒนาให้ตอบสนองความต้องการเฉพาะของผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหว อย่างเช่น รถยนต์ที่รองรับการใช้งานของวีลแชร์
การเป็นสังคมผู้สูงอายุนับเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่นำมาสู่ความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์คนเฉพาะกลุ่ม ตลาดรถยนต์ที่ออกแบบสำหรับผู้สูงอายุมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะรถยนต์ที่มีคุณลักษณะพิเศษ เช่น รถยนต์ดัดแปลงสำหรับผู้สูงอายุ ข้อมูลที่น่าสนใจจาก Japan Auto Seat Thailand โดยคุณธีรชัย แซ่ลิ้ม ผู้ประกอบการที่เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกรถยนต์ที่ปรับเปลี่ยนที่นั่งเพื่อรองรับผู้ใช้วีลแชร์ในประเทศไทย ได้ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนายานยนต์ให้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มประชากรสูงวัยเป็นโอกาสทางการตลาดที่สามารถเพิ่มโอกาสในการเติบโตของธุรกิจในระยะยาวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีการพัฒนาสินค้าในตลาดยานยนต์สำหรับผู้สูงอายุยังคงมีข้อจำกัดในการพัฒนาและมีช่องว่างทางการตลาดกว้าง รวมถึงยังไม่มีการผลิตหรือจำหน่ายยานยนต์ที่ออกแบบเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งการพัฒนายานพาหนะที่เหมาะสม เช่น รถยนต์หรือรถไฟฟ้าที่เอื้อต่อการเดินทางของผู้สูงอายุ จะช่วยเพิ่มความสะดวกในชีวิตประจำวันและส่งเสริมสุขภาวะที่ดีขึ้นสำหรับกลุ่มประชากรนี้ การใช้บริการรถยนต์ที่รองรับการใช้งานของวีลแชร์มีความจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหว เนื่องจากช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ลดการพึ่งพาผู้อื่น และลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุที่เกิดจากการขึ้น-ลงรถยนต์ทั่วไป รถยนต์ที่ออกแบบให้รองรับวีลแชร์ยังช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมและดำเนินชีวิตได้อย่างอิสระมากขึ้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดเรื่องค่าใช้จ่ายและการเข้าถึงบริการดังกล่าว การพัฒนาอุปกรณ์เสริม เช่น เบาะนั่งที่เหมาะกับสรีระผู้สูงอายุ รถเข็นวีลแชร์ที่ติดตั้งร่วมกับรถยนต์ส่วนตัว หรือบริการรถเช่าสำหรับผู้สูงอายุ จึงเป็นแนวทางที่ตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างตรงจุด ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ลดความเสี่ยงอุบัติเหตุ และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่อิสระและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“ผมอยู่ในตลาดรถยนต์มือสองมาก่อน เรามองเห็นถึงการเข้ามาของรถไฟฟ้า เศรษฐกิจฝืดเคือง ผู้สูงอายุในสังคมก็มากขึ้น เลยมีแนวคิดต่อยอดธุรกิจจากความถนัดเพื่อเจาะตลาดกลุ่มผู้สูงอายุโดยเฉพาะ” คุณธีรชัย แซ่ลิ้ม ผู้ประกอบการ
“เราประยุกต์ใช้รถคันเดิมที่ลูกค้ามี เพิ่มเติมตัวเบาะเข้าไปเพื่ออำนวยความสะดวกกับผู้สูงอายุ อุปกรณ์บางอย่าง เราไม่เพียงแต่นำเข้า แต่ยังปรับแต่งให้เข้ากับบริบทและความต้องการของลูกค้าด้วย และการคิดว่าเราเป็นลูกหลานของลูกค้าคนหนึ่ง มันช่วยให้เรานั่งในความคิดว่าลูกค้าอยากได้อะไร และความรู้สึกที่ดีที่ได้รับบริการจากเรา”
ในสังคมที่ประชากรสูงอายุเพิ่มมากขึ้น การพัฒนาบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของผู้สูงวัยจึงมีความสำคัญโดยบริการนี้เริ่มต้นจากการใช้รถยนต์เดิมที่ลูกค้ามีอยู่นำมาปรับแต่งเพิ่มเติม เช่น การติดตั้งเบาะและอุปกรณ์เสริมที่ช่วยให้การขึ้น - ลงรถเป็นไปอย่างสะดวกและปลอดภัย การปรับปรุงอุปกรณ์บางอย่างไม่เพียงแค่การนำเข้าแต่ยังมีการดัดแปลงให้ตรงกับความต้องการเฉพาะของลูกค้าแต่ละราย โดยการที่เราคิดว่าลูกค้าคือคนในครอบครัว ซึ่งจะช่วยให้การบริการของเรามีความใส่ใจและสร้างความประทับใจพร้อมทั้งสร้างความไว้วางใจในบริการให้กับลูกค้าได้อย่างยั่งยืน
การฟังเสียงของลูกค้าจึงเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ เพราะช่วยให้สามารถปรับปรุงและยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกลุ่มลูกหลานของผู้สูงอายุที่มุ่งเน้นการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในครอบครัวอันเป็นที่รัก เช่น ความสะดวกสบายในการเดินทาง ความรู้สึกมั่นใจที่เพิ่มขึ้นและความปลอดภัยที่มาจากการออกแบบที่ใส่ใจในรายละเอียด อาทิ การเพิ่มพื้นที่สำหรับอุปกรณ์ช่วยเดิน การติดตั้งที่มั่นคงและการใช้งานที่ง่ายต่อผู้ดูแล อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักประสบปัญหาด้านการเคลื่อนไหวและความสะดวกสบายในการเดินทาง ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ การมีอุปกรณ์เสริมที่ติดตั้งในรถยนต์ เช่น เบาะนั่งที่ออกแบบเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ หรือการติดตั้งอุปกรณ์ช่วยเดินในรถยนต์ ช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถเดินทางได้สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น การใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่เพียงแต่เพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ยังช่วยลดภาระการดูแลจากผู้ดูแลและเพิ่มอิสระให้ผู้สูงอายุ สามารถออกเดินทางได้อย่างมั่นใจ ส่งผลให้สมาชิกในครอบครัวรู้สึกอุ่นใจและสามารถดูแลผู้สูงอายุได้ดียิ่งขึ้น ผลกระทบเชิงบวกเหล่านี้จึงไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อผู้ดูแลและครอบครัวอีกด้วย
แม้รถยนต์ดัดแปลงจะมีราคาค่อนข้างสูงแต่เมื่อเทียบกับการมีโอกาสในการใช้ชีวิตอย่างอิสระ คุณภาพชีวิตของทั้งผู้สูงอายุและครอบครัวก็คุ้มค่าที่จะลงทุน โดยคุณธีรชัย มองว่าการปรับแต่งผลิตภัณฑ์ตามความต้องการเฉพาะบุคคล เช่น การวิเคราะห์สรีระร่างกาย น้ำหนัก ส่วนสูงของผู้ใช้งาน และเพิ่มอุปกรณ์เสริมตามความจำเป็น ทั้งการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่องและการออกแบบที่เฉพาะเจาะจงช่วยให้สินค้าตรงกับการใช้งานจริงและสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า
แม้ว่าธุรกิจนี้จะมีโอกาสเติบโตสูงแต่ต้นทุนการพัฒนาและการผลิตถือเป็นหนึ่งในความท้าทายหลัก โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ระบบยกไฟฟ้าและเซ็นเซอร์อัจฉริยะ ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถสื่อสารให้ผู้บริโภครับรู้ถึงผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นสำหรับผู้บริโภคกลุ่มผู้สูงอายุย่อมเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันได้เป็นอย่างดี โดยคุณธีรชัย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า
"เราไม่วิ่งหาตลาด แต่เลือกเอาเวลามาพัฒนาสินค้าและผลงาน เพราะถ้าสินค้าดีพอ ใครเห็นก็จะตื่นตาตื่นใจจนเกิดเสียงสะท้อนกลับมาเอง นี่คือสิ่งที่ทำให้เราก้าวหน้าได้เร็วในตลาดที่คนอื่นยังไม่กล้าเข้ามา"
ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในตลาดนี้ต้องใช้กลยุทธ์ที่เน้นการปรับตัว ควบคู่กับการนำหลักเศรษฐศาสตร์มาใช้ในเชิงธุรกิจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและสร้างความได้เปรียบในตลาดเฉพาะกลุ่ม ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตสูงในยุคเศรษฐกิจสูงวัย ซึ่งประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ที่น่าสนใจ ดังนี้
แม้ตลาดนี้ยังค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย แต่มีศักยภาพการเติบโตที่สูงในระยะ 20-30 ปีข้างหน้า ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์เพื่อผู้สูงอายุจะเติบโตเฉลี่ย 7.8% ต่อปีใน 5 ปีข้างหน้า โดยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยจะเติบโตมากกว่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ถึงแม้ผู้ประกอบการจะเผชิญความท้าทาย แต่ก็เป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาดอย่างต่อเนื่อง การเข้าสู่ตลาดที่มีการแข่งขันน้อยและการสร้างนวัตกรรมเฉพาะทางจะช่วยเปิดประตูสู่ธุรกิจใหม่ในยุคเศรษฐกิจสูงวัย โดยเฉพาะในตลาดผลิตภัณฑ์ติดตั้งในรถยนต์ เช่น การติดตั้งเบาะที่นั่งสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น และความต้องการเบาะที่ให้ความสะดวกสบายและรองรับสุขภาพ คาดว่าตลาดนี้จะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคต อีกทั้ง สะท้อนถึงความสำคัญของการปรับตัวและความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตลาดที่กำลังเติบโตนี้
บทความนี้ไม่เพียงช่วยให้เราเข้าใจโอกาสและความท้าทายในตลาดที่กำลังเติบโต แต่ยังช่วยชี้ให้เห็นถึงแนวทางที่ธุรกิจอื่น ๆ อาจนำไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบทางเศรษฐกิจในยุคที่สังคมเปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็ว เพราะในขณะที่ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งจากรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประมาณการใช้จ่ายของกลุ่มผู้สูงอายุไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.6 ต่อปี (CAGR 2560-2568) หรือกว่า 350,000 บาทต่อคนต่อปี ในปี พ.ศ. 2568 จะเป็นค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ และเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งตลาดรถยนต์ดัดแปลงสำหรับผู้สูงวัยถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่น่าจับตามอง การปรับตัวตามแนวโน้มนี้ไม่เพียงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุเท่านั้นแต่ยังสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจสำหรับผู้ประกอบการที่มองเห็นโอกาสในตลาดนี้
ขอขอบคุณ
คุณธีรชัย แซ่ลิ้ม จาก Japan Auto Seat Thailand
เอกสารอ้างอิง