ความเครียดและความวิตกกังวลทั้งสองอย่างเป็นปฏิกิริยาทางอารมณ์ แต่โดยทั่วไปความเครียดเกิดจากปัจจัยภายนอก ปัจจัยกระตุ้นอาจเกิดขึ้นในระยะสั้น เช่น กำหนดส่งงานหรือการทะเลาะกับคนที่รัก หรืออาจเกิดขึ้นในระยะยาว เช่น ถูกเลือกปฏิบัติ หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง
ในทางกลับกัน ความวิตกกังวลถูกกำหนดโดยความกังวลที่มากเกินไปและต่อเนื่องซึ่งไม่หายไปแม้ว่าจะไม่มีสิ่งกดดันก็ตาม ความวิตกกังวลนำไปสู่อาการที่คล้ายกับความเครียด ได้แก่ การนอนไม่หลับ สมาธิสั้น ความเหนื่อยล้า ความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ และความรู้สึกหงุดหงิด1
เครดิตภาพ: AI Generate by www.freepik.com
เมื่อบุคคลเกิดความเครียดจะแสดงปฎิกิริยาต่อด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ รวมทั้งด้านพฤติกรรม เช่น ด้านร่างกายระบบประสาทอัตโนมัติทำให้เกิดอาการหน้ามืด เจ็บหน้าอก ความดันสูง ด้านจิตใจและอารมณ์จะทำให้ขาดสมาธิ เศร้าซึม คับข้องใจ ขาดความภูมิใจในตนเอง ในบางรายที่ตกอยู่ในภาวะเครียดอย่างยาวนานมาก อาจก่อให้เกิดอาการทางจิต จนกลายเป็นโรคจิต โรคประสาทได้ ด้านพฤติกรรม บุคคลที่เครียดมากๆ บางรายจะมีอาการเบื่ออาหารหรือบางรายอาจจะรู้สึกว่าตัวเองหิวอยู่ตลอดเวลาและทำให้มีการบริโภคอาหารมากกว่าปกติ มีอาการนอนหลับยากหรือนอนไม่หลับหลายคืนติดต่อกัน2
ความวิตกกังวลเป็นสภาวะทางอารมณ์ที่มุ่งเน้นอนาคตซึ่งเกี่ยวข้องกับการเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์เชิงลบที่อาจเกิดขึ้น3 บุคคลมักรู้สึกวิตกกังวลเป็นอย่างมาก รู้สึกว่าตนอยู่ในภาวะตึงเครียด อึดอัด หวาดหวั่น หงุดหงิด กระวนกระวาย อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย สิ้นหวัง รู้สึกว่าตนเองไร้คุณค่า ตำหนิตนเองและผู้อื่น คิดกลับไปกลับมา และมีการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะมีเคราะห์ร้ายเกิดขึ้นกับตนเอง อีกทั้งรู้สึกไม่สามารถควบคุมความวิตกกังวลของตนเองได้ ส่งผลต่อด้านร่างกาย ทำให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป และนำมาซึ่งอาการต่าง ๆ เช่น หัวใจสั่น กล้ามเนื้อตึง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ท้องอืด รู้สึกชาบริเวณปลายมือและเท้า ประจำเดือนมาผิดปกติ มีปัญหาด้านการนอนหลับยาก อาจมีปัญหาการตื่นขึ้นกลางดึกและไม่สามารถนอนหลับได้อีก ด้านความคิดและการรับรู้ ไม่มีสมาธิ ลืมง่าย สับสน ความสามารถในการตัดสินใจลดลง ระดับการรับรู้ลดลง มีอาการโกรธง่าย ฉุนเฉียวกับเรื่องเล็กน้อย ด้านพฤติกรรม บุคคลจะแสดงออกทางพฤติกรรมทั้งทางคำพูดและท่าทาง เช่น หน้านิ่ว คิ้วขมวด กระสับกระส่าย กำมือแน่น พูดเร็ว พูดเรื่องซ้ำเดิมบ4
เครดิตภาพ: AI Generate by www.freepik.com
ความเครียดมักเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวล และความวิตกกังวลดังกล่าวอาจกลายเป็นความผิดปกติได้ โดยทั่วไปความเครียดจะเปลี่ยนเป็นความวิตกกังวลเมื่อบุคคลไม่สามารถรับมือกับความเครียดได้ การเผชิญกับความเครียดมากเกินไป หรือความเครียดที่คงอยู่เป็นเวลานาน จะส่งผลให้ระบบประสาทของบุคคลนั้นเกิดความวิตกกังวลเรื้อรัง5
ความเครียดและความวิตกกังวลสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดฝันทั้งจากปัจจัยภายนอก เช่น ปัญหาครอบครัว การทำงาน ความขัดแย้งในสังคม และปัจจัยภายใน เช่น นิสัยส่วนตัวเป็นคนคิดมาก ชอบวิตกกังวล หรือสารเคมีในสมองไม่สมดุล6 โดยอาการต่างๆ อาจเริ่มช้าและควบคุมได้ในตอนแรก จากนั้นก็แย่ลงจนควบคุมไม่ได้ และหลายคนคุ้นเคยกับความเครียดจนไม่พิจารณาการรักษาจนกว่าอาการจะแย่ลงมาก การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสามารถช่วยลดอาการเครียดและวิตกกังวลได้ โดยเฉพาะเมื่ออาการยังจัดการได้ค่อนข้างง่าย แต่หากคิดว่าตนเองไม่สามารถควบคุมได้แล้วก็ควรเข้าพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ
อ้างอิง