The Prachakorn

วิถีครัวเรือนเปลี่ยน พฤติกรรมบริโภคเสี่ยงในผู้สูงอายุ


ณัฐณิชา ลอยฟ้า

01 เมษายน 2568
42



ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยกลุ่มผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังคงอาศัยอยู่ในครัวเรือนหลายรุ่น ซึ่งมีสมาชิกจากหลายช่วงอายุ เช่น คนวัยทำงานและเด็กเล็ก การอาศัยในครัวเรือนลักษณะนี้มีผลกระทบต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารของผู้สูงอายุ โดยจากการศึกษา Influence of multigenerational and living-alone households on high fat, sugar or sodium (HFSS) food consumption pattern in aging population พบว่า ผู้สูงอายุที่อาศัยร่วมกับคนวัยทำงานและเด็กเล็กมีแนวโน้มบริโภคอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูงมากกว่าผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพัง รวมถึงอาหารทอด ขนมขบเคี้ยว และน้ำอัดลม ในขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่อาศัยเพียงลำพังก็มีแนวโน้มบริโภคอาหารสำเร็จรูปในปริมาณสูงเช่นกัน

โครงสร้างครัวเรือนที่เปลี่ยนแปลงสะท้อนอิทธิพลของคนรุ่นใหม่ที่อยู่ร่วมกันในบ้าน เยาวชนในปัจจุบันมักได้รับอิทธิพลจากกระแสการบริโภคอาหารแบบตะวันตก เช่น อาหารจานด่วนและขนมสำเร็จรูป ซึ่งเมื่อมีการบริโภคในครัวเรือนหลายรุ่น ผู้สูงอายุที่อยู่ร่วมด้วยอาจถูกชักจูงให้ปรับตัวตามพฤติกรรมการบริโภคดังกล่าว การบริโภคอาหารเหล่านี้อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ส่วนผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังอาจเผชิญกับปัญหาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคอาหารสำเร็จรูปจากร้านสะดวกซื้อ เพราะขาดแรงจูงใจในการทำอาหารทานเอง ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว หากขาดสารอาหารที่จำเป็นและมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล หรือโซเดียมสูง

ทั้งนี้ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในครัวเรือนหลายรุ่นหรืออยู่คนเดียว ผู้สูงอายุควรได้รับการส่งเสริมให้มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเริ่มจากการเลือกวัตถุดิบที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ผักและผลไม้สด หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปที่มีไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง รวมถึงเรียนรู้วิธีปรุงอาหารที่ง่ายและรวดเร็ว เพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำอาหารเองเพื่อรับมือกับปัญหาพฤติกรรมการบริโภคที่เสี่ยง ผู้สูงอายุควรได้รับคำแนะนำและสนับสนุนในการเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสม โดยเริ่มจากการเลือกวัตถุดิบที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น ผักและผลไม้สด หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปที่มีไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง รวมถึงเรียนรู้วิธีปรุงอาหารที่ง่ายและรวดเร็ว เพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำอาหารเอง ผู้สูงอายุในครัวเรือนหลายรุ่นควรสร้างความเข้าใจกับสมาชิกในครอบครัวเกี่ยวกับการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น การปรุงอาหารร่วมกันหรือการจัดเวลาในการรับประทานอาหารร่วมกัน หรือเข้าร่วมกิจกรรมชุมชน เช่น การเรียนทำอาหารหรือการรับประทานอาหารร่วมกับเพื่อนบ้าน เพื่อลดความเหงาและส่งเสริมสุขภาพทั้งกายและใจ รวมถึงควรเข้าถึงข้อมูลโภชนาการและคำปรึกษาจากนักโภชนาการ การสร้างสมดุลในครัวเรือนและส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง และยกระดับคุณภาพชีวิตในยุคที่วิถีครัวเรือนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว


เอกสารอ้างอิง

  • Loyfah N, Chamratrithirong A, Gray RS, Pattaravanich U, Jindarattanaporn N, Thapsuwan S, et al. Influence of multigenerational and living-alone households on high fat, sugar or sodium (HFSS) food consumption pattern in aging population. Appetite. 2025;204:107731.

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th