The Prachakorn

วินิจฉัยความสุข แม่หญิงการะเกด


สุภาณี ปลื้มเจริญ

21 มิถุนายน 2561
770



เวลานี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก “แม่หญิงการะเกด” จากละครดังที่เพิ่งลาจอไปเมื่อไม่นานมานี้ วันนี้จึงขอชวนออเจ้า (ผู้อ่าน)  ทั้งหลายมาร่วมวินิจฉัยความสุขของ “แม่หญิงการะเกด” ด้วยเครื่องมือวัดความสุขที่เรียกกันว่า HAPPINOMETER* ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดความสุขที่บุคคลสามารถวัดได้ด้วยตนเอง เป็นแนวคิดเสมือนการใช้ปรอทมาวัดความรู้สึกและประสบการณ์ที่สะท้อนจากมิติคุณภาพชีวิตของตนเอง สามารถใช้วัดความสุขได้ทั้งในระดับบุคคลและคนทำงานในองค์กร โดยมีพัฒนาการมาจาก “แบบสำรวจความสุขด้วยตนเอง: SELF ASSESSMENT” โครงการวิจัย “จับตาสถานการณ์ความสุขคนทำงานในประเทศไทย” ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม   มหาวิทยาลัยมหิดล

เรามาลองวินิจฉัยความสุขของ “แม่หญิงการะเกด” ทั้ง 9 มิติ ดังนี้

Happy Body (สุขภาพดี) หมายถึงบุคคลที่มีสุขภาพ ร่างกายแข็งแรง สมส่วน มีพฤติกรรมการบริโภคที่ดีมีความพึงพอใจสภาวะสุขภาพกายของตนเอง

“แม่หญิงการะเกด” เป็นหญิงเอวบางร่างน้อย เดินเหินคล่องแคล่ว อยู่ห่างไกลลิบลับกับสภาวะอ้วนลงพุง ไม่สูบบุหรี่ไม่กินเหล้า โดยรวมแบบนี้ “ออเจ้า” ต้องมีความพึงพอใจในสุขภาพกายแน่นอน

Happy Relax (ผ่อนคลายดี) หมายถึงบุคคลที่สามารถบริหารเวลาในแต่ละวันเพื่อการพักผ่อนได้อย่างมีคุณภาพ พอใจกับการบริหารจัดการปัญหาของตนเอง และทำชีวิตให้ง่ายสบายๆ

ทั่วทั้งอยุธยา คงไม่มีหญิงใด happy relax ได้เท่า “แม่หญิงการะเกด” อีกแล้ว มีชีวิตที่ง่ายๆ สบายๆ สามารถเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี มิเช่นนั้นแล้วเราจะเห็น “ออเจ้า” นั่งน้ำตาหยดอยู่แหมบๆ ก็สามารถฉีกยิ้มได้ในนาทีถัดไปได้อย่างไร

Happy Heart (น้ำใจดี) หมายถึงบุคคลที่มีจิตสาธารณะ มีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม และมีเมตตากับคนรอบข้าง

แม้ “แม่หญิงการะเกด” ไม่ค่อยโอ..กับ “แม่ปริก” เท่าไรนัก   แต่ก็ยังช่วยแก้ต่างให้เมื่อคราวที่ถูกต้องสงสัยว่าเป็นหัวขโมย   นับประสาอะไรกับบ่าวผู้จงรักภักดีทั้งสองที่ได้รับความเมตตาจาก “แม่หญิงการะเกด” อย่างสม่ำเสมอ

Happy Soul (จิตวิญญาณดี) หมายถึงบุคคลที่มีความตระหนักถึงคุณธรรม ศีลธรรม รู้แพ้รู้ชนะ รู้จักให้ และมีความกตัญญูรู้คุณ

“แม่หญิงการะเกด” ทำบุญใส่บาตรมิได้ขาด  ทั้งในยุคปัจจุบันที่จากมาและในยุคอยุธยาที่ไปอยู่ เรื่อง “การให้” ก็ชัดเจน “ออเจ้า” มีความห่วงใยบ่าวไพร่ ลงทุนซื้อมุ้งแจกให้บ่าวไพร่ทุกคนเพื่อป้องกันยุงกัดจนร่ำลือกันไปทั่วคุ้ง

Happy Family (ครอบครัวดี) หมายถึงบุคคลที่มีความรู้สึกผูกพัน เชื่อใจ มั่นใจ และอุ่นใจกับบุคคลในครอบครัวของตนเอง

ชีวิตในโลกปัจจุบัน “แม่หญิงการะเกด” อยู่กับแม่และยายท่ามกลางความรักความอบอุ่น ครั้นเมื่อมาเป็นแม่หญิงสมัยอยุธยา เมื่อได้แต่งงานก็มีความสุขกับครอบครัวที่อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา และที่สำคัญ “คุณพี่หมื่น” เอง ก็มิได้มีหญิงอื่นเป็นภรรยาอีกนอกจาก “แม่หญิงการะเกด” เพียงคนเดียว

Happy Society (สังคมดี) หมายถึงบุคคลที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนบ้าน ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่เอาเปรียบผู้คนรอบข้าง

“แม่หญิงการะเกด” มีน้ำใจ มีความเป็นกันเอง ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้ใด ให้ความเคารพยกย่องผู้อื่นเสมอ แม้แรกๆ จะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับว่าที่แม่สามี แต่สุดท้ายก็ลงเอยกันได้ด้วยดี นอกจากนี้ “แม่หญิงการะเกด” ก็ยังได้รับความรักใคร่เอ็นดูจากบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลาย ถึงขนาดได้ร่วมวงสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย จึงประมาณได้ว่า “ออเจ้า” ต้องเป็นหญิงที่มี happy society ที่ดีทีเดียว

Happy Brain (ใฝ่รู้ดี) หมายถึงบุคคลที่มีความตื่นตัวกระตือรือล้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อปรับตัวให้เท่าทัน และตั้งรับการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

“แม่หญิงการะเกด” เป็นหญิงที่ช่างซักถาม มีความสนใจใฝ่รู้ ดูจากการซักถาม “พระยาโกษาปาน” เป็นอย่างไร ถามไม่หยุดถึงเหตุการณ์บ้านเมืองต่างๆ อีกทั้งยังกระตือรือล้นที่จะไปวัดต่างๆ ตามที่ได้เคยเรียนมาในประวัติศาสตร์ ถึงขนาด “คุณพี่หมื่น” เองยังต้องออกปากว่า “ออเจ้าไปวัดมาทั่วทั้งอยุธยาแล้ว ไม่มีวัดใดให้เจ้าไปอีกแล้วหนา...”

Happy Money (สุขภาพเงินดี) หมายถึงบุคคลที่มีวินัยในการใช้จ่ายเงิน มีความสามารถและพึงพอใจในการบริหารจัดการระบบการรับจ่ายและออมเงิน

แม้จะไม่เห็นการใช้จ่ายเงินของ “แม่หญิงการะเกด” เท่าใดนัก  แต่ “ออเจ้า” ก็สามารถซื้อได้ทุกอย่าง โดยมี “คุณพี่หมื่น”  เป็นผู้จ่ายให้ อีกทั้งในสมัยอยุธยา ข้าวในนาปลาในน้ำอุดมสมบูรณ์ จึงไม่มีเหตุอะไรให้ใช้เงินมากนัก นอกจากนี้เมื่อตอน  “แม่หญิงการะเกด” แต่งงานก็มีค่าสินสอดมากถึง 100 ชั่ง เทียบค่าของเงินสมัยนี้ก็ว่ากันไปเป็นหลักร้อยล้านบาท ฉะนั้นแล้วเรื่องการเงินนี้ บอกได้เลยว่า “ออเจ้า” ไม่ธรรมดา

Happy work-life (การงานดี) หมายถึงการที่บุคคลมีความสบายใจในที่ทำงาน มีความรัก ความผูกพัน และความภาคภูมิใจในองค์กร มีความมั่นใจในอาชีพรายได้หญิงสมัยอยุธยา ไม่อาจมีบทบาทการทำงานนอกบ้านได้นอกจากการเป็นแม่บ้านแม่เรือนเท่านั้น แต่หากมองเรื่อง

งานในบ้านแล้ว “แม่หญิงการะเกด” มีความสามารถเฉพาะตัวไม่ใช่น้อย ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานคือ การร้อยมาลัย การพับกลีบบัว ฯลฯ ไปจนถึงการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาภายในครัวเรือน เช่นการคิดเมนูอาหารแปลกใหม่ ทั้งมะม่วงน้ำปลาหวาน กุ้งแม่น้ำเผาพร้อมน้ำจิ้มรสแซ่บ การออกแบบและสั่งทำกระทะเพื่อมาทำหมูกระทะ การออกแบบเครื่องกรองน้ำไว้ใช้ในครัวเรือน ฯลฯ หากเป็นสมัยนี้เมื่อสามารถคิดอะไรแปลกใหม่ได้ “แม่หญิงการะเกด” คงได้เป็นเจ้าของธุรกิจกันไปบ้างแล้ว

วินิจฉัยความสุขทุกๆ มิติแล้ว อาจสรุปได้ว่า “แม่หญิงการะเกด” คงมีระดับคะแนนความสุขปริ่มๆ 100 ทีเดียว เพราะไม่เพียงแต่ “ออเจ้า” จะประคองตัวเองให้มีความสุขอยู่ได้ในยุคสมัยอยุธยาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับยุคปัจจุบัน แต่ยังส่งต่อความสุขให้กับผู้คนในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ทำให้ทีวีกลับมาเป็นศูนย์รวมความสุขของคนในครอบครัวได้อีกครั้ง ผู้คนได้พักยกจากสังคมก้มหน้า อีกทั้งกระแส “บุพเพสันนิวาส” ก็มาแรง ทำให้เรื่องของประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยถูกหยิบยกมาเป็น talk of the town กันมากขึ้น รายได้จากการท่องเที่ยวตามสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ก็เพิ่มมากขึ้น event ต่างๆ พากันโหนกระแส “บุพเพสันนิวาส” มาเป็น theme มีการแต่งกายกันด้วยชุดไทยสวยงาม ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใสมีความสุข ฉะนี้แล้ว....จึงกล่าวได้ว่า “แม่หญิงการะเกด” สมควรเป็นบุคคลต้นแบบแห่งการสร้างสุขจริงๆ หนา ... 

* สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.happinometer.com


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th