The Prachakorn

อิสระที่ถูกผูกมัด: เมื่อความยืดหยุ่นในการทำงานกลายเป็นดาบสองคม


ปรียา พลอยระย้า

02 เมษายน 2568
23



เรากำลังทำงานเพื่อความสุข เพื่อมีชีวิตที่ดีขึ้น  หรือกำลังแลกชีวิตไปกับงาน?

เป็นคำถามที่คนทำงานหลายคนกำลังถามตัวเองอยู่หรือไม่ เพราะในยุคที่การแข่งขันสูงขึ้น ภาระหน้าที่มากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยลงคนทำงานต้องเผชิญกับความเครียดและความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง พื้นที่ของชีวิต "การทำงาน" และ "ชีวิตส่วนตัว" เหมือนจะหลอมรวมเป็นพื้นที่เดียวกันเข้าทุกที หลายคนเริ่มต้นวัน ด้วยการประชุมที่ยุ่งเหยิงและจบวันลงด้วยงานที่ค้างคา แม้แต่วันหยุดสุดสัปดาห์ก็กลายเป็น พื้นที่ของการ “เคลียร์งาน” แทนการพักผ่อน "นี่เป็นรูปแบบการทำงานที่นำไปสู่ความสุข หรือเป็นเพียงการแลกทั้งชีวิตไปกับงาน?"

"ความยืดหยุ่น" ที่ดูเหมือนเป็นอิสระ แต่แฝงด้วยกับดักพันธนาการ

ผลสำรวจ สมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงานของคนทำงาน (ในองค์กร) ปี 2566 โดยศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า มากกว่า 70% ของคนทำงานรู้สึกว่า การทำงานของตนเองมีความยืดหยุ่นในระดับปานกลางถึงมาก สอดคล้องกับ แนวคิดเรื่อง "ความยืดหยุ่นในการทำงาน (Flexible Working)" ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งช่วยให้คนทำงานสามารถกำหนดเวลาและสถานที่ทำงานของตนเองได้ โดยเฉพาะการทำงานแบบ Hybrid Work และ Remote Work กลายเป็นทางเลือกสำคัญ (Kossek & Lautsch, 2018) ปัจจุบันหลายองค์กรปรับตัวให้คนทำงานสามารถผสมผสานเวลาที่ใช้ในการทำงานให้เหมาะสมลงตัวกับไลฟ์สไตล์ โดยมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยและตัวเชื่อมกับองค์กรได้ตลอด 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม คนทำงานจำนวนไม่น้อยยังคงทำงานหนักเกินกว่าเวลามาตรฐาน เพราะข้อมูลจากผลสำรวจเดียวกันชี้ให้เห็นว่า มากกว่าครึ่งของคนทำงาน รู้สึกว่า ตนเองทำงานมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน (55%) (โดยทำงาน 9-10 ชม. 28.4%, 11-12 ชม. 24.4% และทำงานมากกว่า 12 ชม. ขึ้นไป อยู่ที่ 3.4%) ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่า “ความยืดหยุ่น” ช่วยให้ชีวิตสมดุลหรือเป็นเพียงมายาคติที่ยังมีคนทำงานหลายคนรับรู้ว่า “ชีวิตต้องอุทิศให้งาน เราต้องทำงานตลอดเวลา เราจึงจะประสบความสำเร็จในอนาคต”

ชีวิตที่ดีขึ้น หรือชีวิตที่หนักขึ้น?

“ขยันและอดทนในการทำงานหนัก” เป็นหนทางสู่ความก้าวหน้า เป็นโอกาสในการสร้างรายได้และความมั่นคงของคนทำงาน แต่ในขณะเดียวกัน ความขยันและอดทนทำงานหนักเกินกำลังอยู่ตลอดเวลาอาจเป็นต้นเหตุของโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ปัญหาทางอารมณ์ ความเครียด สุขภาพจิต ซึมเศร้า ที่สำคัญ ปัญหาความสัมพันธ์กับครอบครัวและคนรอบข้าง เพราะจากผลการสำรวจเดียวกัน ยังชี้ว่า คนทำงานมีเวลาให้ครอบครัวและทำกิจกรรมร่วมกันไม่ถึง 60% (ศูนย์วิจัยความสุขฯ, 2566)

คนทำงานทุกคนกำลังพยายาม "ทำงานให้มีชีวิตที่ดีขึ้น" หรือเพียงแค่ "อุทิศชีวิตและเวลาทั้งหมดเพื่อทำงาน" หากต้องแลกชีวิตและเวลาส่วนตัวกับความสำเร็จในอาชีพ ความสำเร็จนั้นคุ้มค่าเพียงใด การบริหารจัดการผสมผสานชีวิตและเวลาให้ลงตัว เพื่อชีวิตและงานที่ดีขึ้นน่าจะเป็นความสำเร็จที่แท้จริง

ถึงเวลาทบทวน: อะไรคือ "ชีวิตที่เราต้องการ"?

มายาคติที่ยกย่องคนทำงานหนัก อาจลืมไปว่าความสำเร็จไม่ได้วัดจากจำนวนชั่วโมงที่ใช้ไปกับงานเสมอไป ก่อนที่คนทำงานจะอุทิศชีวิตเรี่ยวแรงและเวลาทั้งหมดไปกับความสำเร็จที่อาจไม่คุ้มค่า ลองประเมินความรู้สึกของตัวเองว่า “งานกำลังกลืนกินชีวิตชีวิตทั้งหมดของเราหรือไม่” ลองสะท้อนความรู้สึกของตัวเองว่า

  • "ถ้าทำงานหนักขนาดนี้ แล้วชีวิตส่วนตัวของเรายังเหลืออะไร?"
  • "หากวันนี้เป็นวันสุดท้ายของชีวิต เราอยากใช้มันไปกับอะไร?"

คำตอบที่ได้จะช่วยให้เราพิจารณาทบทวน ในการผสมผสานคุณค่าที่แท้จริงของการทำงานและการใช้ชีวิต “การทำงานหนักเพื่อความสำเร็จ" อาจเป็นแนวคิดที่ดีแต่ การผสมผสานงานกับชีวิตให้เหมาะสมลงตัว: Work life integration" อาจเป็นแนวคิดที่ดีกว่า


เอกสารอ้างอิง

  • ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย. (2566). ผลสำรวจความสุขของคนทำงาน (ในองค์กร) ประจำปี 2566. สืบค้นจาก https://www.happinometer.com/web/
  • Kossek, E. E., & Lautsch, B. A. (2018). Work-life flexibility for whom? Occupational status and work-life inequality in upper, middle, and lower-level jobs. Academy of Management Annals, 12(1), 5–36. https://doi.org/10.5465/annals.2016.0059

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th