ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดผลสำรวจพฤติกรรมสุขภาพ จากกลุ่มคนทำงาน จำนวน 19,563 คน ในองค์กร 251 แห่ง ของภาคอุตสาหกรรม 13 ประเภทของประเทศไทย ประจำปี 2566 ด้วยแอปพลิเคลัน “HAPPINOMETER”พบว่า มากกว่าครึ่งของคนทำงาน มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน เพราะพฤติกรรมการกิน ไม่ว่าจะเป็นอาหารรสหวานจัด รสมันจัด และรสเค็มจัด
ผลสำรวจพบว่า คนเหล่านี้เป็นเพศหญิงร้อยละ 57.4 เพศชายร้อยละ 40.5 และ เพศทางเลือกร้อยละ 2.2 กลุ่มคนทำงานกลุ่มนี้ เป็นคนเจน Y ร้อยละ 52.4 คนเจน X ร้อยละ 26.1 คนเจน Z ร้อยละ 19.5 มีคนเจน BB เพียงเล็กน้อย (ร้อยละ 2.0) ทำงานอยู่ในประเภทอุตสาหกรรมการผลิตมากที่สุด (ร้อยละ 40.9) และอยู่ในประเภทอุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารน้อยที่สุด (ร้อยละ 0.4) (แผนภูมิ 1)
แผนภูมิ: 1 ร้อยละของคนทำงานจำแนกตามเจน (บน) และจำแนกตามประเภทอุตสาหกรรม (ล่าง)
ที่มา: การสำรวจความสุขคนทำงาน (ในองค์กร) ระดับประเทศ พ.ศ. 2566 (เดือนตุลาคม 2566 - มีนาคม 2567),
ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
เมื่อใช้ค่าดัชนีมวลกาย (body mass index: BMI) มาแสดงภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนที่มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับปัญหาการเกิดโรค NCDs อาทิ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ และโรคไขมันในเลือดสูง โดยนำค่า BMI ที่คำนวณจากน้ำหนักตัวและส่วนสูงของคนทำงานจากการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพปี 2566 มาเทียบกับการแปรผลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (ตาราง 1)
BMI (กิโลกรัม/เมตร2) | กลุ่มความเสี่ยง |
< 18.5 | ภาวะน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ |
18.5-22.9 | ร่างกายสมส่วน |
23.0-24.9 | ภาวะน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วนระดับที่ 1 |
25.0-29.9 | โรคอ้วน หรือโรคอ้วนระดับที่ 2 |
>= 30.0 | โรคอ้วนอันตราย หรือโรคอ้วนระดับที่ 3 |
ตาราง: 1 การแปรผลค่าดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index; BMI
ที่มา: “รู้ตัวเลข รู้ความเสี่ยงสุขภาพ” กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขฃ
ผลสำรวจพบว่า ภาพรวมคนทำงานทั้งหมดมีน้ำหนักเฉลี่ย 64.8 กิโลกรัม และส่วนสูงเฉลี่ย 163.6 เซนติเมตร เมื่อแปรผลแล้วน่าตกใจว่า ราวครึ่งหนึ่งของคนทำงาน (ร้อยละ 54.1) อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงโรคอ้วนระดับที่ 1-3 และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นโรคอ้วนระดับที่ 2 ในขณะที่ร้อยละ 38.8 มีค่า BMI อยู่ในเกณฑ์ปกติ และร้อยละ 7.1 มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
คนทำงานกำลังเดินเข้าหาความเสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อ
แม้รู้ว่า “คนชอบกินรสจัดเสี่ยงเป็นหลายโรค” แต่เราก็ชอบกินอาหารรสจัดทั้งหลาย ไม่ว่าจะรสหวานจัด เค็มจัด มันจัด เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด ขนมปัง ไอศกรีม อาหารปิ้งย่างต่างๆ การกินอาหารเหล่านี้จนเป็นนิสัยส่งผลโดยตรงต่อค่า BMI ที่พุ่งสูง และนำไปสู่โรค NCDs ในท้ายที่สุด
ผลสำรวจพฤติกรรมการกินของคนวัยทำงาน ปี 2566 พบว่า คนวัยทำงานเกือบทั้งหมดมีพฤติกรรมการกินที่เสี่ยงต่อโรค NCDs โดยมีพฤติกรรมการกินอาหารรสหวานจัด รสมันจัด รสเค็มจัดหรือมีโซเดียมสูง ใกล้เคียงกัน กลุ่มที่กินอาหารรสหวานโดยรวมร้อยละ 90.6 กินอาหารมันโดยรวมร้อยละ 91.2 และอาหารรสเค็มหรือมีโซเดียมสูงโดยรวมร้อยละ 88.5 ขณะที่ คนวัยทำงานที่มีพฤติกรรมการกินไม่เสี่ยงต่อโรค NCDs มีเพียง 1 ใน 10 ของคนวัยทำงานทั้งหมดที่ไม่กินอาหารรสจัด (แผนภูมิ 2)
แผนภูมิ: 2 ร้อยละของพฤติกรรมการกินของคนวัยทำงาน
ที่มา: การสำรวจความสุขคนทำงาน (ในองค์กร) ระดับประเทศ พ.ศ. 2566 (เดือนตุลาคม 2566 - มีนาคม 2567),
ศูนย์วิจัยความสุขคนทำงานแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
ทำอย่างไรให้คนทำงาน ซึ่งเป็นกำลังเข้มแข็งของครอบครัว องค์กร สังคม และประเทศ เป็นคนทำงานที่สุขภาพดีและแข็งแรง คนทำงานลองท้าทายตัวเองซิว่า “กินจืด ตัดจัด…สกัด NCDs” หลีกเลี่ยงหรือกินให้น้อยที่สุด หรือไม่กินอาหารรสจัดเลย นอกจากมีสุขภาพดีห่างไกล NCDs แล้วยังส่งผลให้หุ่นของเราดีอีกด้วย