ในปี 2021 องค์การอนามัยโลกระบุว่ามลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 7 ล้านคนต่อปีทั่วโลก นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรในทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ โดยงานวิจัยและข้อมูลทางสถิติยืนยันว่ามลพิษทางอากาศส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง สำหรับเด็ก มลพิษทางอากาศสามารถชะลอการเจริญเติบโต และลดประสิทธิภาพการทำงานของปอด ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น รวมถึงกระตุ้นให้อาการหอบหืดรุนแรงขึ้นขณะที่ในผู้ใหญ่ มลพิษทางอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร นอกจากนี้ยังพบหลักฐานที่เชื่อมโยงมลพิษทางอากาศกับโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวานและภาวะเสื่อมของระบบประสาท1
ฝุ่น PM 2.5 (particulate matters: PM) คืออนุภาคขนาดเล็กในอากาศที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มีขนาดเพียง 1 ใน 25 ของเส้นผ่าศูนย์กลางเส้นผม สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและกระแสเลือด ส่งผลให้เกิดอาการระคายเคือง เช่น แสบตา แสบจมูกและไอ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดและโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะยาว2 หรืออาจกล่าวได้ว่า ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากรเป็นอย่างมากทั้งในประเทศไทยและอีกหลายประเทศ
จากรายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย ปี 2567 พบว่า ค่า PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงในไทยอยู่ระหว่าง 4.8-218.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีระดับฝุ่นเกินมาตรฐาน 64 จังหวัดและมีระดับฝุ่นกระทบต่อสุขภาพ 44 จังหวัด ทั้งนี้ภาคเหนือมีอัตราป่วยจากโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษฝุ่น PM 2.5 สูงสุด คิดเป็น 6,270 รายต่อประชากรแสนคน ซึ่งสอดคล้องกับระดับค่าเฉลี่ยฝุ่นที่สูงที่สุดในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาตามช่วงอายุ พบว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมาคือเด็กอายุ 5-9 ปี3
สถานการณ์มลภาวะทางอากาศที่เกิดขึ้นดังกล่าว แม้จะไม่ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนมากเท่ากับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในอดีตที่ผ่านมา ทว่ากำลังเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงมากขึ้นทุกขณะ พร้อมๆ กับการตั้งคำถามด้านการบริหารจัดการไปยังรัฐบาล เนื่องด้วยสถานการณ์ปัญหานี้เริ่มส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชากร ไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ ภูมิแพ้อากาศ รวมไปถึงมีผลกระทบต่อพฤติกรรมทางสุขภาพในด้านต่างๆ
ในระหว่างรอการแก้ปัญหาฝุ่นพิษจากภาครัฐ ประชาชนควรป้องกันตนเองเพื่อลดผลกระทบจาก PM 2.5 แต่ไม่ควรกังวลจนกระทบต่อชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถทำได้โดยการตรวจสอบคุณภาพอากาศจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น เว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ หรือแอปพลิเคชัน Air4Thai และปฏิบัติตามคำแนะนำ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อสุขภาพได้
แผนภาพ: เกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศ (จัดทำโดยผู้เขียน)
ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ4
แม้ว่าจะมีพรรคการเมืองเสนอนโยบายแก้ปัญหา PM 2.5 เช่น พ.ร.บ. อากาศสะอาด หรือมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม แต่หลายมาตรการยังขับเคลื่อนล่าช้าหรือไม่เป็นรูปธรรม จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และชุมชนที่สำคัญคือต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบาย เพื่อให้มาตรการที่ออกมาสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และตอบโจทย์ปัญหาได้อย่างแท้จริง ก่อนที่มลพิษทางอากาศจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพในวงกว้างมากขึ้น
เอกสารอ้างอิง