การสูงวัยอย่างมีพลัง จะต้องทำให้ผู้คนอยู่ได้ด้วยตัวของตัวเอง สามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องพึ่งพาหรือเป็นภาระแก่ผู้อื่น ทั้งในด้านสุขภาพ การเงิน และการอยู่อาศัย รัฐและสังคมต้องมีระบบดูแลและจัดการกับสิ่งแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพของคนในสังคม
(ที่มา: http://popterms.mahidol.ac.th/showmean.php?id=a00306&keyword=active%20ageing)
เนื้อหาส่วนที่อยู่ในพื้นที่แลเงาข้างบนนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของศัพท์บัญญัติ “การสูงวัยอย่างมีพลัง” ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษ “active ageing” โดยมีความหมายว่าเป็นกระบวนการที่คนในสังคมเจริญวัยขึ้นอย่างมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ มีความมั่นคงในชีวิต มีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องในกิจการทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และทำหน้าที่พลเมืองที่ดีที่เป็นประโยชน์แก่ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ เหตุที่ผู้เขียนหยิบยกประเด็นการสูงวัยอย่างมีพลังมาเป็นหัวเรื่อง เพียงเพราะความอยากรู้เท่านั้นเองว่าผู้ที่กำลังย่างเข้าสู่สูงวัยและผู้สูงวัยไทยมีสภาวะสูงวัยอย่างมีพลังมากน้อยเพียงไร และมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ-เวลา-รุ่นวัย อย่างไร
เมื่อหลายประเทศบนโลกใบนี้ได้ก้าวพ้นสังคมเยาว์วัยกลายเป็นสังคมสูงวัย และอีกหลายประเทศที่กำลังจะก้าวสู่สังคมสูงวัยให้ความตระหนักต่อประชากรของตนว่าจะสูงวัยอย่างมีพลังกันอย่างไร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีความพยายามพัฒนาดัชนีชี้วัดที่เป็นรูปธรรมขึ้น โดยองค์การอนามัยโลกเป็นผู้เสนอให้นำมิติด้านสุขภาพ การมีส่วนร่วม และความมั่นคงในชีวิต มาเป็นแนวคิดหลัก (องค์การอนามัยโลก ใช้คำว่า “three pillars”) ของการสร้างดัชนีที่เหมาะสม แม้ว่าจะมีแนวคิดหลักใช้เป็นกรอบแล้วก็ตาม ดัชนีชี้วัดที่สร้างขึ้นก็อาจมีการปรับปรุง เพิ่มเติม ทำให้เกิดความแตกต่างกันไปบ้างตามบริบทของผู้ที่พัฒนา ตัวอย่างเช่น ดัชนีการสูงวัยอย่างมีพลังสำหรับใช้ในประเทศสหภาพยุโรป ถูกพัฒนาขึ้นตามกรอบแนวคิด 4 ด้าน ประกอบด้วย การจ้างงานผู้สูงอายุ กิจกรรมทางสังคมและการมีส่วนร่วมของผู้สูงอายุ การใช้ชีวิตอย่างอิสระและไม่ต้องพึ่งพาของผู้สูงอายุ และศักยภาพรวมทั้งสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสูงวัยอย่างมีพลัง ซึ่งกรอบแนวคิดแต่ละด้านยังประกอบด้วยตัวชี้วัดย่อยๆ ดัชนีการสูงวัยอย่างมีพลังเช่นนี้ ถูกนำไปใช้วัดเปรียบเทียบระดับภาพรวม เช่น เปรียบเทียบระหว่างประเทศ เพื่อดูศักยภาพของประชากรสูงวัยโดยรวม ไม่สามารถนำไปประเมินในระดับบุคคลได้
รูป: ผู้สูงวัยวิ่งออกกำลังกาย
เครดิตภาพ: AI Generate by www.freepik.com
ประเทศไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้ศึกษาการสูงวัยอย่างมีพลังของผู้สูงอายุไทยเมื่อปี 2560 ซึ่งการศึกษานั้นได้นำแนวคิดขององค์การอนามัยโลกมาเป็นกรอบของการศึกษาเช่นกัน และได้เรียกดัชนีที่ศึกษาว่า “ดัชนีพฤฒพลัง” โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2557 การสำรวจภาวะการทำงานของประชากร พ.ศ. 2557 และการสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของครัวเรือน พ.ศ. 2557 ซึ่งดัชนีที่ได้นี้ยังเป็นการประเมินในภาพรวม ใช้สำหรับเปรียบเทียบระหว่างภาค และระหว่างจังหวัด
เพราะความจำกัดของดัชนีที่พัฒนาตามแนวคิดขององค์การอนามัยโลกที่ไม่สามารถนำมาใช้วัดการสูงวัยอย่างมีพลังในระดับบุคคลได้ ดังนั้น ในปี 2563 นายแพทย์พินิจ ฟ้าอำนวยผล นักวิจัยไทยท่านหนึ่ง จึงได้พัฒนาเครื่องมือวัดเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ได้ว่า ผู้สูงอายุแต่ละรายเมื่อใช้เครื่องมือนี้วัดแล้วมีระดับการสูงวัยอย่างมีพลังมากน้อยเพียงใด ภายใต้โครงการวิจัยชื่อ “โครงการพัฒนาเครื่องมือประเมินภาวะ Active ageing สำหรับผู้สูงอายุไทย” ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยและสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (สามารถดาวน์โหลดเอกสารรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้ที่ https://thaitgri.org/?p=39600)
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นดัชนีที่ใช้วัดในระดับภาพรวม หรือระดับบุคคลก็ตาม เมื่อขึ้นชื่อว่า “ดัชนี” แล้ว มักไม่ได้ประกอบด้วยข้อคำถามเพียงข้อเดียวที่นำมาใช้สร้างดัชนีนั้นๆ อย่างแน่นอน ดัชนีที่พัฒนาโดยสหภาพยุโรปตามกรอบแนวคิดขององค์การอนามัยโลก ประกอบด้วยตัวชี้วัดย่อยๆ 22 ตัว ขณะที่ดัชนีพฤฒพลังของ สสช. มีตัวชี้วัดอยู่ 16 ตัว หรือแม้กระทั่งเครื่องมือประเมินภาวะ Active ageing สำหรับผู้สูงอายุไทยที่พัฒนาให้สามารถประเมินระดับบุคคล ก็ยังประกอบด้วยคำถามถึง 25 ข้อ ดังนั้น กว่าจะรู้ว่า “การสูงวัยอย่างมีพลัง” มีระดับมากน้อยเพียงไรต้องอาศัยความพยายามอย่างมากเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ระบุตัวชี้วัดย่อยๆ เหล่านั้นอย่างครบถ้วน
เนื่องจากผู้เขียนเป็นขาประจำของ สสช.ในฐานะผู้ใช้ข้อมูล แต่ก็มีข้อมูลอย่างจำกัด จึงเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้เขียนวิเคราะห์ข้อมูลเท่าที่มี โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบจากข้อคำถามในเรื่องของสุขภาพโดยรวม การมองเห็น การได้ยิน และความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน ของข้อมูลการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2545 กับ พ.ศ. 2567 คือ ใช้เรื่องสุขภาพกายเพียงประการเดียว ผู้เขียนมองว่า ถ้าผู้สูงวัยคนหนึ่งทำกิจวัตรประจำวันได้เอง มีสุขภาพดี มองเห็นและได้ยินชัดโดยไม่สวมแว่นหรือเปลี่ยนเลนส์ หรือไม่ต้องใส่เครื่องช่วยฟังย่อมบอกได้โดยอ้อมว่ามีการสูงวัยอย่างมีพลังสูงกว่าอีกคนที่ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เอง หรือสุขภาพไม่ดี หรือ มองเห็น ได้ยินไม่ชัด และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดในช่วงเวลาเกือบ 20 ปีมานี้ คนรุ่นก่อนคนรุ่นหลัง คนรุ่นไหนมีพลังมากกว่ากัน
กิจวัตรประจำวันที่ทำได้เองในที่นี้หมายถึง รับประทานอาหาร ล้างหน้า/แปรงฟัน/หวีผม/โกนหนวด อาบน้ำ แต่งตัว ใช้ห้องน้ำ/ห้องส้วม เคลื่อนที่ภายในบ้าน ขึ้นลงบันได 1 ขั้น ได้เองโดยไม่ต้องมีใครช่วย และผู้เขียนขอเรียกบุคคลที่อายุระหว่าง 50–59 ปี ว่าเป็นผู้ที่กำลังย่างเข้าสู่สูงวัย ซึ่งพบว่า แม้บุคคลกลุ่มนี้ยังไม่ได้เป็นผู้สูงวัยก็ตาม แต่ประมาณร้อยละ 3–5 เป็นผู้ที่ต้องมีคนช่วยในการทำกิจวัตรประจำวันแล้ว ร้อยละเหล่านี้เพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ครั้นเปรียบเทียบจากข้อมูลการสำรวจปี 2545 กับ 2567 ตามรุ่นเกิด ด้วยวิธีนี้ บุคคลที่อยู่ในกลุ่มอายุเดียวกันในการสำรวจครั้งก่อนจะเป็นบุคคลที่เกิดก่อนผู้ที่อยู่ในการสำรวจครั้งหลังประมาณ 20 ปี (ดูแผนภูมิ 1 ประกอบ) พบความน่าสนใจ คือ บุคคลกลุ่มอายุต่ำกว่า 70–74 ปี ของรุ่นที่เกิดก่อน มีสัดส่วนของผู้ที่ต้องพึ่งพาคนอื่นในการทำกิจวัตรประจำวันสูงกว่าคนกลุ่มอายุเดียวกันแต่เป็นรุ่นเกิดหลังอยู่เล็กน้อยแต่สำหรับคนที่อายุ 70 ปีขึ้นไป คนรุ่นเกิดหลังกลับมีสัดส่วนของผู้ที่ต้องพึ่งพาคนอื่นในการทำกิจวัตรประจำวันสูงกว่าคนอายุเดียวกันของรุ่นเกิดก่อนค่อนข้างมาก
แผนภูมิ 1: ร้อยละผู้ที่อายุตั้งแต่ 50 ปี ที่ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้เองโดยไม่ต้องมีคนช่วย
ที่มา: วิเคราะห์โดยผู้เขียน จากข้อมูลการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2545 และ 2567
เมื่อรวมว่ามีคนที่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เองพร้อมๆ กับมีสุขภาพดี (สุขภาพโดยรวม การมองเห็น การได้ยิน) พบว่าสัดส่วนของผู้ที่มีลักษณะเช่นนี้กลับลดต่ำลงไปอย่างมากเมื่อเทียบกับเพียงการทำกิจวัตรประจำวันอย่างเดียว ในทุกๆ กลุ่มอายุ ทั้งสองปีที่สำรวจ (ดูแผนภูมิ 2 เปรียบเทียบกับแผนภูมิ 1) และเมื่อพิจารณาตามรุ่นเกิด บุคคลในแต่ละอายุของคนรุ่นเกิดหลังมีสัดส่วนของผู้ที่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเองรวมทั้งมีสุขภาพดีสูงกว่าคนอายุเดียวกันของรุ่นเกิดก่อน ที่เด่นชัดอย่างมาก คือผู้ที่อายุ 50–54 ปี ในปีสำรวจ 2567 ซึ่งเกิดในช่วง พ.ศ. 2513–2517 ราวร้อยละ 60 ที่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเองรวมทั้งมีสุขภาพดี ขณะที่คนอายุ 50–54 ปี ในปีสำรวจ 2545 ซึ่งเกิดในช่วง พ.ศ. 2493–2497 มีอยู่เพียงร้อยละ 40 ที่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเองรวมทั้งมีสุขภาพดี สูงกว่ากันถึงร้อยละ 20 ทีเดียว
แผนภูมิ 2: ร้อยละผู้ที่อายุตั้งแต่ 50 ปี ที่ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้เองโดยไม่ต้องมีคนช่วย และสุขภาพดี
ที่มา: วิเคราะห์โดยผู้เขียน จากข้อมูลการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2545 และ 2567
การสูงวัยอย่างมีพลังเป็นความต้องการอย่างยิ่งยวดในสังคมสูงวัย ผู้เขียนได้ลองเอาข้อมูลที่ตนเองมีอยู่อย่างจำกัดมาแสดง ก็สามารถสะท้อนว่าในสังคมไทย ยังมีผู้คนส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวของตัวเอง หรือดำรงชีวิตได้อย่างอิสระ จำเป็นต้องพี่งพาผู้อื่น แม้กระทั่งผู้ที่กำลังย่างเข้าสู่วัยสูงอายุก็มีลักษณะเช่นนี้