เมษายนเป็นเดือนที่ผมคุ้นเคยมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อย พอพูดถึงเมษายน ผมจะนึกถึงช่วงเวลาของการหยุดเทอม ไม่ต้องไปโรงเรียน เมษายนเป็นเดือนที่เรารู้จักกันดีว่าเป็นช่วงเวลาที่มีอากาศร้อนที่สุดของปี เมษายนเป็นเดือนที่แห้งแล้งมาก ผมนึกถึงทุ่งนาสีน้ำตาลของตอซังข้าวที่ทาบผืนนากว้างไกลสุดสายตา เมษายนเป็นเดือนที่มีวันสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ไทย ที่พวกเราเด็กๆ ได้เล่นสาดน้ำกัน
เดือนเมษายนที่จะถึงนี้จะมีวันสงกรานต์ที่เปลี่ยนปีจาก “มะโรงงูใหญ่” ไปเป็น “มะเส็งงูเล็ก” ปีนักษัตรไทยกับนักษัตรจีนใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์ตระกูลเดียวกัน อย่างเช่นปีงูใหญ่ของไทยก็ตรงกับปีมังกร (หลง) ของจีน งูใหญ่ของเราถ้าจะให้ยิ่งใหญ่จริงๆ ก็ต้องเป็น “นาคราช” ที่พอจะเทียบได้กับมังกรของจีน รูปร่างของนาคราชกับมังกรจะต่างกันเล็กน้อย ตรงที่มังกรมีขา 4 ขา คล้ายกิเลน แต่นาคราชไม่มีขา ส่วน “งูธรรมดา” ที่จีนเรียกว่า “เสอ” ก็ดูเหมือนกับ “งูเล็ก” ของไทย ผมคิดอยู่เสมอว่า ปีมะโรงงูใหญ่ของไทยเมื่อเรียกเป็นปีมังกรอย่างจีนแล้ว จะฟังดูยิ่งใหญ่และสง่างามมาก ยิ่งถ้าเติมคำว่า “ทอง” ต่อท้าย “มังกร” เข้าไปด้วยกลายเป็นปี “มังกรทอง” ก็ยิ่งฟังดูมีศักดิ์ศรีสง่างามยิ่งขึ้น (ผมไม่รู้จริงๆ ว่ามีเกณฑ์อะไรที่จะเรียกว่าปีใดเป็นปีมังกรทองหรือปีใดเป็นปีมังกรธรรมดาๆ)
ผมเขียนมายืดยาวเกี่ยวกับปีมังกร คงเป็นเพราะในใจลึกๆ แล้ว ผมคงอาลัยอาวรณ์ที่ปีมังกรกำลังจะจากไป แล้วไม่แน่ใจว่างูน้อยตัวเล็กๆ ที่กำลังจะเลื้อยเข้ามาแทนในเดือนเมษายนนี้จะมีพิษฤทธิ์แรงขนาดไหน
ก่อนหน้านี้หลายคนคาดหวังว่าปี 2567 ซึ่งเป็นปีมังกรจะมีเด็กเกิดมากกว่าสองสามปีก่อนหน้าที่มีเด็กไทยเกิดปีละ 5 แสนกว่าคนประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดน้อยกว่าจำนวนคนตายมาแล้วสองสามปีติดต่อกัน ชื่อปีมังกรทองเป็นความหวังว่าจะช่วยจูงใจให้เด็กมาเกิดในเมืองไทยมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศจำนวนเด็กเกิด จำนวนคนตาย และประชากรที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 ตัวเลขจำนวนเด็กเกิดในปี 2567 ซึ่งเป็นปีมังกรทำให้หลายคนผิดหวังเพราะผิดคาด เด็กเกิดในปีมังกรรอบนี้มีจำนวนเพียง 4 แสน 6 หมื่นรายเท่านั้น เท่ากับว่าประเทศไทยมีเด็กเกิดต่ำกว่าหลัก 5 แสนคนเป็นปีแรกในรอบ 70 ปีที่ผ่านมา มีคำถามว่า หนุ่มสาวไทยไม่เห็นความสำคัญของนาคราชหรือมังกรทองกันเลยหรือ จึงไม่มีลูกฉลองปีนักษัตรสำคัญนี้ น่าประหลาดใจนัก ปีมังกรที่ผ่านมากลับมีเด็กไทยเกิดน้อยเป็นประวัติการณ์ น้อยลงจนต่ำกว่าจำนวนคนตาย ทำให้อัตราเพิ่มประชากรไทยติดลบเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน
จำนวนเกิดที่น้อยลงอย่างมากในปีงูใหญ่ ทำให้เราพอจะคิดได้ว่า คนไทยรุ่นใหม่จะมีลูกหรือไม่มีลูกไม่ได้อยู่ที่ความเชื่อเรื่องชื่อปี ไม่ว่าจะเป็นปีงูเล็ก งูใหญ่ หนู หมู หมา ม้า ไก่ กระต่าย เสือ แพะ วัว ลิง ก็ไม่มีผลอะไรต่อการมีลูกของคนสมัยนี้ คนรุ่นใหม่จำนวนมากเลือกที่จะอยู่เป็นโสด ใช้ชีวิตอย่างอิสระ หรือถ้ามีคู่ก็ไม่จำเป็นต้องมีคู่ที่เป็นเพศกำเนิดตรงข้ามกัน คนที่มีคู่แต่งงานแล้วไม่ต้องการจะมีลูกหลายคน เดี๋ยวนี้คู่แต่งงานที่มีลูกคนเดียวหรือมีลูกเพียงสองคนกลายเป็นค่านิยมทั่วไป ไม่น่าเชื่อว่ามีคู่แต่งงานจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะไม่มีลูก คำอวยพรให้คู่สมรส “มีลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง” ของคนรุ่นเก่าน่าจะเป็นที่ขบขันของคนรุ่นใหม่ไปแล้วอย่างแน่นอน
เด็กเกิดใหม่ในประเทศไทยอาจจะไม่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และยิ่งต่อไปนี้จำนวนผู้หญิงในวัยมีบุตรจะลดน้อยลง อันเป็นผลมาจากการเกิดที่ลดลงเมื่อ 20-30 ปีก่อน ทำให้ความหวังที่จะผลักดันให้จำนวนการเกิดในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจะยิ่งริบหรี่ลง
วันสงกรานต์ในเดือนเมษายนนี้จะมี “วันผู้สูงอายุไทย” ซึ่งตรงกับวันที่ 13 เมษายน
ปีนี้ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเอาข้อมูลจากสำนักทะเบียนราษฎรของกระทรวงมหาดไทย มาคิดคำนวณเป็นตัวชี้วัดทางประชากรต่างๆ แล้วแถลงข่าวว่าปี 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้กลายเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” แล้ว เมื่อมี “อัตราผู้สูงอายุ” สูงกว่าร้อยละ 20 ต่อประชากรทั้งหมด ถ้าเรายังใช้คำจำกัดความว่า ผู้สูงอายุ คือ ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่าร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 ของคนไทยจะมีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดง่ายๆ คือ ขณะนี้ประเทศไทยมีประชากรราว 65 ล้านคน ก็จะมีคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปราว 13 ล้านคน
ผมไม่แน่ใจว่าปีนี้สถาบันฯ จะจัดพิธีรดน้ำอวยพรผู้ใหญ่ในวันสงกรานต์เหมือนเคยหรือเปล่า เมื่อสองปีก่อนผมเคยไปนั่งเป็นผู้อาวุโสระดับหัวแถวให้เด็กๆ ในที่ทำงานมารดน้ำกัน เราใช้อายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นเกณฑ์เรียก “ผู้สูงอายุ” ไม่น่าเชื่อว่ามีผู้สูงอายุมานั่งเรียงหน้ากระดานรอให้รดน้ำในสถาบันฯ เล็กๆ ของเรามีจำนวนมากนับสิบคน ผมเหลือบไปดูหน้าพวกเราที่นั่งอยู่แถวเดียวกันแล้วรู้สึกประหลาดใจ นึกไม่ถึงว่าบางคนมีอายุ 60 ปีแล้วหน้าตาก็ยังดูอ่อนเยาว์ บุคลิกยังดูเด็ก เหมือนเคยเห็นเป็นเด็กที่เคยทำงานด้วยกันมาเมื่อไม่นานมานี้ นึกไม่ถึงว่าพวกเธอจะก้าวผ่านกาลเวลามาเป็นผู้สูงอายุเร็วมากขนาดนี้ ผมรู้สึกว่ามีอายุมากขึ้นแล้วจริงๆ เพราะเด็กๆ หลายสิบคนที่ต่อคิวกันเพื่อมารดน้ำหน้าตาอ่อนวัยอยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกับลูกของผมทั้งสิ้น
ได้เห็นการเปลี่ยนสถานภาพจากคนที่เราเคยเห็นเป็นเด็กอยู่เมื่อไม่กี่วันก่อน กลายเป็น “ผู้สูงอายุ” ในช่วงวันสงกรานต์แล้ว ก็ได้แต่คิดอยู่ในใจว่า “วันเวลาช่างผ่านไปไวเสียเหลือเกิน” ไม่น่าเชื่อว่าตัวผมเองซึ่งเคยเป็นเด็กเมื่อไม่นานมานี้ เดี๋ยวนี้ผมต้องมานั่งเป็นผู้อาวุโสอันดับแรกให้เด็กๆ รดน้ำในวันสงกรานต์ไปเสียแล้ว
รูป: รดน้ำผู้สูงอายุในวันสงกรานต์
ที่มา: https://www.freepik.com (Premium)
สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2568
ผมพูดซ้ำๆ หลายครั้งว่า ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดในเร็ววันนี้ตั้งแต่เมื่อหลายปีมาแล้ว ผมพูดอยู่เสมอว่า สถานการณ์ประชากรสูงวัยของประเทศไทยนั้นเป็นปัญหาท้าทายในอนาคต แม้ทุกวันนี้การสูงวัยของประชากรจะส่อเค้าการเป็นปัญหาบ้างแล้ว แต่ปัญหาจะยิ่งท้าทายหนักขึ้นอย่างแน่นอนในอีกไม่กี่ปี เราต้องไม่ลืมว่ายิ่งจำนวนเด็กเกิดลดลงเร็วมากเท่าไหร่ คนมีอายุยืนยาวขึ้นมากเท่าไหร่ สัดส่วนประชากรสูงอายุก็ยิ่งจะเพิ่มเร็วมากขึ้นเท่านั้น
ขณะนี้ “ประชากรรุ่นเกิดล้าน” หรือ “สึนามิประชากร” กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ คนที่เกิดตั้งแต่ปี 2506 กำลังทยอยกลายเป็นผู้สูงอายุ จากวันนี้ต่อไปอีก 10 กว่าปีข้างหน้า จะมีประชากรเข้าสู่วัยสูงอายุประมาณปีละเกือบล้านคน อีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ก็จะมีจำนวนราว 20 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด 63-64 ล้านคน
ขอย้ำอีกครั้งอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” อย่างแน่นอน
ความท้าทายของสังคมสูงวัยระดับสุดยอดอยู่ที่การดูแลผู้สูงอายุในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ค่าใช้จ่ายในการยังชีพเมื่อผู้สูงอายุหลุดพ้นจากวัยทำงานแล้ว ค่าใช้จ่ายในการดูแลและรักษาพยาบาลเมื่อผู้สูงอายุอยู่ในวัยที่เสี่ยงต่อการเป็นโรค โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะกลายเป็นภาระที่หนักและท้าทายมากสำหรับตัวผู้สูงอายุเอง ครอบครัว สังคม และรัฐ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ความท้าทายของคนไทยรุ่นใหม่ คือ ทำอย่างไรตัวเองจึงจะมีสุขภาพแข็งแรงพอที่จะมีชีวิตอยู่โดยช่วยตัวเองได้ไปจนกระทั่งวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ทำอย่างไรให้ตัวเองมีพลัง มีอาชีพการงานต่อไปให้นานที่สุด ทำอย่างไรจึงจะเก็บออมมีเงินสักจำนวนหนึ่ง เพื่อใช้จ่ายในการยังชีพยามชรา รัฐก็ต้องมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมสวัสดิการการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน จัดสรรสวัสดิการด้านรายได้ที่เพียงพอต่อการยังชีพสำหรับคนไทยทุกคนอย่างถ้วนหน้า
ตัวบุคคลแต่ละคน สังคม และรัฐ จะรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ทันหรือไม่ เมื่อสังคมไทยกำลังสูงวัยขึ้นรวดเร็วมากเหลือเกิน ในขณะที่ประชากรไทยโดยรวมกำลังลดจำนวนลง แต่ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป กำลังเพิ่มขึ้นด้วยอัตราประมาณร้อยละ 4-5 ต่อปี และประชากรสูงอายุวัยปลาย (อายุ 80 ปีขึ้นไป) กำลังเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่เร็วยิ่งกว่านั้น คือ สูงถึงประมาณร้อยละ 7-8 ต่อปี ประชากรไทยกำลังมีอายุสูงขึ้นเร็วมากจริงๆ
นั่นเป็นความท้าทายของคนรุ่นใหม่แต่ละคน แต่ละครอบครัว และรัฐในอนาคตอันใกล้นี้
อีก 10 ปีข้างหน้า ผมก็จะมีอายุเกือบ 90 ปี ผมไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ถึงอีก 10 ปีหรือเปล่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมชาติ ถ้าผมดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองให้ดี นอนให้หลับ ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสังขาร กินอาหารที่ไม่เป็นพิษ และมีอารมณ์ที่แจ่มใสไม่หม่นหมอง ก็เป็นไปได้เหมือนกันว่าผมจะมีชีวิตอยู่อย่างมีสุขภาพดี มีพลัง ยังแข็งแรง และช่วยตัวเองได้จนถึงอายุ 90 ปี แต่เมื่อถึงตอนนั้น เพื่อนๆ ผมคงจะเหลืออยู่ไม่มากนัก งานชุมนุมรุ่น พบปะเพื่อนฝูงที่คุยสนุกสนานเฮฮากันเหมือนทุกวันนี้ ก็คงไม่มีอีกแล้ว