The Prachakorn

ความปลอดภัยและคุณภาพชีวิต กรณีผู้ถูกบังคับย้ายถิ่น


อมรา สุนทรธาดา

23 เมษายน 2568
106



ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง กำลังอยู่ในความสนใจของประชาคมโลกด้วยนโยบายสร้างจีนเป็นผู้นำโลกด้วยนโยบายล้ำลึก เช่น ผูกขาดการค้าโลกด้วยทุนการผลิตนอกประเทศ และดำเนินนโยบาย“จีนเดียว 2 ระบบ” เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเขตปกครองตนเอง เช่น การจัดการกับชนกลุ่มน้อยอย่างชาวอุยกูร์ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (Xinjiang Uygur Autonomous Region) ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับกลุ่มประเทศนับถือศาสนาอิสลาม เช่น คีร์กิซสถาน อุซเบกิสถาน คาซัคสถาน กลุ่มประเทศเหล่านี้ล้วนมีวัฒนธรรมและความเชื่อใกล้เคียงกันมาก รัฐบาลกลางของจีนจำเป็นต้องเข้าแทรกแซง ด้วยการส่งเสริมการย้ายถิ่นฐานของพลเมืองเชื้อสายฮั่นไปตั้งรกรากในซินเจียง เพื่อสร้างความสมดุลทางประชากรและเสริมสร้างการควบคุมทางการเมืองในภูมิภาค

ข้อมูลสำมะโนประชากร ปี 2020 มณฑลซินเจียง มีพื้นที่ 1,664,900 ตารางกิโลเมตร หรือ 1 ใน 6 ของพื้นที่ประเทศ ประกอบด้วยประชากร รวม 25,852,345 คน แยกเป็นประชากรเชื้อสายอุยกูร์ ร้อยละ 45 ฮั่น ร้อยละ 42 และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ 19 กลุ่ม (จีนมีเขตปกครองตนเอง 5 แห่ง ประชากรรวม 110,879,058 คน) นอกจากนี้ ซินเจียงเป็นมณฑลที่อุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะแร่ธาตุและพลังงานลม ที่สร้างรายได้มหาศาล อีกทั้งยังมีศักยภาพทางการท่องเที่ยวที่กำลังติดอันดับต้นๆของโลก เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีความมหัศจรรย์ และสวยงาม เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

ภาพที่ค้านสายตาประชาคมโลก เช่น การสร้างค่ายเพื่อเปลี่ยนทัศนคติของผู้เห็นต่างโดยเฉพาะกลุ่มต่อต้านรัฐบาลกลาง ที่อ้างว่าเป็นสถานฝึกอาชีพ แม้ว่าสถานที่ดังกล่าวล้อมรอบด้วยกำแพงสูงและรั้วรวดหนามตลอดแนวกำแพง


รูป 1: ศูนย์การศึกษาและฝึกอบรมอาชีวศึกษา ค่ายการอบรมใหม่ซินเจียง
ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Xinjiang_internment_camps
สืบค้นเมื่อ 11 มีนาคม 2568

 กองกำลังพลเรือนอุยกูร์ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายผู้ก่อการร้ายเพื่อแบ่งแยกดินแดน เมื่อมาถึงจุดนี้กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองจำเป็นต้องหาที่หลบภัยชั่วคราว เช่น เหตุการณ์ถูกบังคับย้ายถิ่นเมื่อปี 2558 ที่มีประเทศมาเลเซียเป็นจุดหมายปลายทาง ด้วยการใช้ประเทศไทย เป็นเส้นทางผ่าน แต่ไม่สำเร็จเพราะรัฐบาลไทยได้ควบคุมชาวอุยกูร์กลุ่มนี้ในข้อหาผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายและถูกกักบริเวณจำนวน 230 คน ตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ดำเนินการตามมาตรฐานสากล ด้วยการส่งผู้หญิงและเด็กจำนวน 170 คน ลี้ภัยไปที่ประเทศตุรเคีย จำนวน 109 คน ถูกส่งกลับซินเจียง และเสียชีวิต 5 คน ขณะพำนักในไทย ที่เหลืออีก 43 คน ถูกคุมขังที่สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และถูกส่งกลับจีนทั้งหมดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568

ประเด็นสำคัญที่ประชาคมโลกรวมทั้งหน่วยงานสากลที่เกี่ยวข้องได้ตั้งคำถามต่อรัฐบาลไทย คือระยะเวลาคุมขังผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายที่ต้องอยู่ในฐานะ ผู้ต้องขัง นานถึง 10 ปี โดยไม่มีแผนการช่วยเหลือที่เหมาะสม เช่น ส่งกลับประเทศต้นทางหรือการส่งไปประเทศที่ 3 ที่พร้อมรับผู้ถูกคุมขัง แม้รัฐบาลไทยอ้างเหตุว่า ไม่มีประเทศที่สามรับผู้อพยพกลุ่มนี้ แต่ประชาคมโลกยังคงมีท่าทีไม่เห็นด้วยกรณีการส่งชาวอุยกูร์กลับจีนในครั้งนี้ พร้อมทั้งเรียกร้องประชาคมโลกให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เช่น ควรมีมาตรการตรวจสอบกระบวนการส่งกลับประเทศต้นทาง รวมทั้งความปลอดภัย โดยเน้นความร่วมมือเพื่อการติดตามสวัสดิภาพของผู้ถูกส่งกลับ


รูป 2: ครอบครัวกลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์ เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์
ที่มา: https://www.bbc.com/news/world-asia-china-22278037
สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2568

ปัจจุบันสถานการณ์การเข้าเมืองของชนกลุ่มน้อยหรือผู้หนีภัยสงครามในประเทศไทยเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ที่ต้องใช้ประสบการณ์ เมตตาธรรม และความรอบรู้ในหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะมาตรา 3 การไม่ผลักดันกลับ (non-refoulement) ในอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (the Convention Against Torture-CAT)* สำหรับผู้ถูกบังคับย้ายถิ่น ยกเว้นกรณีมีประเทศที่สามที่ผ่านการตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยให้เป็นถิ่นพำนักในระยะเวลาที่เหมาะสม เพราะผู้ย้ายถิ่นเหล่านี้อาจจะมีภัยอันตรายหรือถูกกระทำทรมาน ในขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees-UNHCR) ทำงานร่วมกับรัฐบาลและองค์กรต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ เคารพหลักการไม่ผลักดันกลับ

เมื่อพลเมืองถูกเลือกปฏิบัติ ถูกลิดรอนเสรีภาพเพื่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ สิ่งที่ต้องรักษาไว้คืออุดมการณ์และการปฏิบัติเพื่อจุดหมายและการคงอยู่ของชุมชนถิ่นเกิด


เอกสารค้นคว้า

  • https://www.britannica.com/topic/Uyghur
  • https://www.bbc.com/news/world-asia-china-22278037
  • UNHCR. (2017). World Directory of Minorities and Indigenous People -China: Uyghur, available at: https://www.refworld.org/reference/countryrep/mrgi/2017/en/52207

* ประเทศไทยเป็นภาคี อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ตั้งแต่ ปี 2550

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th