The Prachakorn

ประชากรโลก กินไม่อิ่มนอนไม่หลับ: ความขัดแย้งและสภาพภูมิอากาศโลก


อมรา สุนทรธาดา

21 มิถุนายน 2561
404



วันที่ 11 กรกฏาคม ของทุกปี เป็นวันประชากรโลก ซึ่งได้กำหนดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติตั้งแต่ปี 2533 เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและการเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีการเพิ่มประชากรประมาณ 7.6 พันล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 8.6 พันล้านคน ภายในปี 25731

ข้อมูลจากรายงาน 2018 Global Report on Food Crises2 คาดประมาณว่า ในปี 2560 มีประชากรประมาณ 124 ล้านคนใน 51 ประเทศ กำลังเผชิญกับวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะความขัดแย้งและความมั่นคงภายในประเทศ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอย่างรุนแรง การที่อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นราว 2-4 องศาเซลเซียส รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เป็นสาเหตุของการเกิดภัยธรรมชาติ เช่น ความแห้งแล้ง น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด ส่งผลให้พื้นที่เกษตรกรรมได้รับผลกระทบจนไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอ ดังตัวอย่างในประเทศต่อไปนี้

ทวีปเอเชีย ประเทศที่ประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหารขั้นวิกฤตคือประเทศอัฟกานิสถาน เนื่องจากอยู่ในภาวะสงครามมายาวนานถึง 35 ปี มีประชากรราว 8.5 ล้านคน หรือร้อยละ 32 ของประชากรทั้งหมด อยู่ในภาวะอดอยากและต้องการความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ อย่างเร่งด่วน

 สงครามกลางเมืองและสภาพอากาศเป็นสาเหตุหลักของการขาดแคลนอาหารในอัฟกานิสถานภาพ https//www.unicef.org/infobycountry/afghanistan_46791.html

กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกกลาง ประเทศที่อยู่ภาวะขาดแคลนอาหารระดับรุนแรงได้แก่ อิรัก ซีเรีย และเยเมน ภาวะอดอยากที่รุนแรงในซีเรียที่น่าสลดใจคือเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีประมาณ 86,000 คน มีภาวะทุพโภชนาการระดับรุนแรง เช่นเดียวกับเด็กในประเทศเยเมน 1 ใน 10 คนที่ขาดสารอาหาร

ทวีปแอฟริกา เช่น ประเทศเอธิโอเปีย มีประชากรราว 10 ล้านคน ที่อดอยากเพราะการผลิตอาหารไม่เพียงพอเนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ขาดแคลนเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานสำหรับระบบเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิต ในช่วงปี 2515-2516 เกิดวิกฤตฝนแล้ง พื้นที่เกษตรกรรม ร้อยละ 50-90 ของประเทศได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง

กลุ่มประเทศในทวีปอเมริกาใต้ เช่น กัวเตมาลา หนึ่งในสิบอันดับของโลกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกรวมทั้งภัยธรรมชาติอื่นๆ บ่อยครั้ง  เช่น ในปี 2553 ประสบภัยจากภูเขาไฟ Pacaya ระเบิด มีผู้เสียชีวิต 1,500 คน และ 500,000 คน ต้องไร้ที่อยู่ พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกมีสภาพไม่สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจ ประเมินความเสียหายประมาณ 30,000 ล้านบาท ภัยธรรมชาติครั้งนั้นมีผลต่อการผลิตอาหารในภาคเกษตรกรรมอย่างรุนแรง

สาธารณรัฐเฮติ แถบหมู่เกาะแคริบเบียน ประเทศขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากพายุเฮอริเคนบ่อยครั้ง เช่น ในปี 2016 พื้นที่เกษตรกรรมของประเทศประมาณ ร้อยละ 75 เสียหาย มีผลทำให้ราคาอาหารพื้นฐานสูงขึ้นจนเกินกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้ประชากรประมาณ 3.6 ล้านคน ขาดแคลนอาหาร และในจำนวนนี้ 1.5 ล้านคน ขาดแคลนในระดับรุนแรงที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้

ความมั่นคงทางอาหารสำหรับประชากรโลกยังพอมีทางออก Eric Holt-Gimenez, ผู้อำนวยการ Institute for Food and Development Policy  เสนอแนวคิดการผลิตอาหารระดับชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาวิกฤตโลกด้านอาหาร 7 มุมมอง ดังนี้

  1. สนับสนุนการผลิตเพื่อการบริโภคระดับครัวเรือนโดยเน้นรูปแบบสังคมชุมชน ระบบนิเวศน์ เศรษฐกิจที่เป็นธรรมและรักษาสิทธิในการผลิตอาหารปลอดภัย
  2. ประกันราคาผลผลิตให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ในราคาที่เป็นธรรม
  3. สนับสนุนหรือชะลอการขยายการผลิตพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ผลผลิตการเกษตรเป็นสารเริ่มต้น
  4. ทบทวนมาตรการเพื่อการลงทุนสินค้าเพื่อการบริโภค
  5. สนับสนุนธุรกิจเพื่อการเกษตรขนาดเล็ก
  6. สนับสนุนเกษตรเชิงนิเวศน์โดยชุมชนเป็นหุ้นส่วนในการผลิตและการบริหารจัดการ
  7. เน้นระบบความเท่าเทียมเชิงนิเวศน์และวัฒนธรรมชุมชนในการผลิตอาหาร

ทั้ง 7 แนวคิดนี้จะทำให้ประชากรโลกกินอิ่มนอนหลับหรือไม่ต้องทดลองและติดตาม


United Nations (UN). 2018. World Population Prospects: The 2017 Revision. Population Division.

Food Security Information Network (FSIN). 2018 The Global Report on Food Crises 2018).


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th