“วันที่ 28 มี.ค. 2568 คงเป็นอีกหนึ่งวันในชีวิตที่จะไม่มีวันลืม” ในวันนี้ผู้เขียนมีความตั้งใจไปเดินเล่นที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติหลังจากวางแผนไว้แล้วว่าจะไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เมื่อเดินทางถึงสถานที่จัดงานเมื่อเวลา 13.15 น. ผู้เขียนเริ่มเดินสำรวจร้านหนังสือที่ตั้งใจจะซื้อเพื่อมาจัดมุมหนังสือที่บ้าน เดินไปมาได้สักระยะจึงตัดสินใจได้ว่าจะเลือกเข้าบูธนี้ที่เป็นบูธประจำและมีหนังสือทางสังคมศาสตร์ออกใหม่ที่น่าสนใจ ในใจกำลังคิดว่าวันนี้คงต้องเสียเงินอย่างน้อยคงสัก 700-1,000 บาท เมื่อกำลังเดินเข้าไปในบูธอยู่ๆ ก็เกิดความรู้สึกเวียนหัวคล้ายจะหน้ามืด เมื่อมองขึ้นด้านบนของสถานที่จัดงานโคมไฟได้ห้อยไปห้อยมาเป็นเสมือนการส่งสัญญาณให้ผู้เขียนรู้ตัวว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ปกติ ผู้คนเริ่มตื่นตระหนกและวิ่งออกจากพื้นที่ที่ผู้เขียนกำลังอยู่ โชคดีที่บูธที่ผู้เขียนกำลังเดินเข้าไปอยู่ใกล้กับประตูทางออก จึงรวบรวมสติไม่รีบร้อนค่อยๆ เดินออกมา ระหว่างนั้นพบเจอผู้คนมากมายที่มีการแสดงออกถึงสถานการณ์ไม่ปกตินี้แตกต่างกัน บางคนเลือกหยิบโทรศัพท์เพื่อไลฟ์สด บางคนเลือกถอดรองเท้าเพื่อให้รีบวิ่งออกจากพื้นที่นั้นให้เร็วที่สุด บางคนที่ต้องรับผิดชอบร้านค้าก็ต้องตรวจสอบให้ครบถ้วนว่าจะไม่เกิดเหตุที่จะสร้างความเสียหายซ้ำซ้อนแล้วจึงตัดสินใจออกมา
เมื่อออกจากสถานที่จัดงานมาอยู่ภายนอกอาคารได้ คุณแม่และคุณพ่อต่างโทรเข้ามาไม่หยุด คงเป็นเพราะรู้สึกถึงความสั่นไหวได้พร้อมๆ กัน แต่ก็พบว่าสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตหยุดชะงักลงชั่วขณะ เมื่อเดินต่อมาเรื่อยๆ เวลา 13.35 น. ก็เหมือนว่าจะเริ่มกลับมามีสัญญาณ เพราะแอปพลิเคชัน CUNEX ได้ส่งแจ้งเตือนว่า “มีเหตุแผ่นดินไหว ขอให้ออกจากอาคารสูงทันทีเพื่อความปลอดภัย” จึงสามารถฟันธงได้แล้วว่าเหตุการณ์ไม่ปกตินี้เป็นผลมาจากแผ่นดินไหว และเมื่อเริ่มสามารถเข้าทวิตเตอร์ (X) ได้แล้วก็เริ่มรู้สาเหตุว่าแผ่นดินไหวมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมาซึ่งจะทำให้ประเทศไทยรับรู้ถึงความรู้สึกถึงความสั่นไหวนั้นด้วย รายงานข่าวอย่างเป็นทางการจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุว่าเป็นแผ่นดินไหวบนบก ขนาด 7.4 มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนมายังประเทศไทย โดยสามารถรับรู้ได้เกือบทุกพื้นที่ในเมือง
ภาพที่ 1 ข้อความแจ้งเตือนแผ่นดินไหวจากแอปพลิเคชัน CUNEX
ปัจจุบันกรุงเทพฯ กลายเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจและสังคมที่มีรวมตัวกันแบบหลายเขตเมือง (urban agglomeration) การหลั่งไหลของประชากรเข้ามาสู่เมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ใน ค.ศ. 2000 กรุงเทพฯ มีประชากรเมืองอยู่ที่ 6,395,000 คน และ ค.ศ. 2018 กรุงเทพฯ มีประชากรเมืองมากถึง 10,156,000 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 29.4 จากประชากรทั้งประเทศ มีการคาดการณ์ว่าอีก 5 ปีต่อจากนี้ กรุงเทพฯ จะมีประชากรเมืองอยู่ที่ 12,101,000 คน1
การเพิ่มขึ้นของประชากรเมืองที่รวดเร็วมีความสัมพันธ์ไปกับความเปราะบางของเมือง (urban vulnerability) เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ หรือที่อาจเรียกว่า ความเปราะบางของสังคมเมือง (urban social vulnerability) เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในระยะเวลาไม่กี่นาที แต่ก็ได้เปิดเผยให้เห็นความเปราะบางทางสังคมที่สะสมในเมืองแห่งนี้มาเป็นระยะเวลานานปรากฏขึ้นมาให้เห็นอีกครั้ง ผู้ที่ต้องทำงานในตึกสูงใหญ่ ผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนแออัด ผู้สูงอายุ เด็ก คนไร้บ้าน แรงงานข้ามชาติ รวมถึงคนยากจนอีกหลากมิติต่างต้องเผชิญหน้ากับความเปราะบางที่แตกต่างกัน อีกทั้งยังถูกจำกัดในด้านการรับรู้ข่าวสารและการเข้าถึงการช่วยเหลือทางสังคม2 นอกจากนี้ คนเมืองที่มีความเสี่ยงจากการทำงานค่อนข้างมีอยู่มากโดยเฉพาะกลุ่มทำงานก่อสร้าง (construction workers) และกลุ่มทำงานก่อสร้างข้ามชาติ (migrant construction workers) ที่ต้องตกอยู่ในอันตราจากตึกถล่มที่จตุจักรหลังจากเกิดแผ่นดินไหว3
เมื่อพิจารณาในมิติของการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับการเติบโตของประชากรและการย้ายถิ่นเข้าสู่เมือง โดยเฉพาะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ที่เมืองส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกออกแบบโครงสร้างพื้นฐานมาเพื่อให้รองรับกับความพร้อมต่อภัยพิบัติมากนัก อีกทั้งยังมีการอยู่อาศัยที่ค่อนข้างแออัดที่อาจมีวัสดุโครงสร้างที่ใช้ในการก่อสร้างไม่มั่นคงและไม่สามารถรองรับเมื่อเกิดแผ่นดินไหวได้ รวมไปถึงกลไกทางสังคมที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากการอยู่อาศัยส่วนใหญ่ในเมืองไม่ได้เอื้อให้เกิดความเป็นปึกแผ่นทางสังคมมากนัก ทั้งยังขาดเครือข่ายทางสังคมที่เหนี่ยวแน่นในการรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวอีกด้วย4 อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผู้เขียนกำลังออกจากอาคารและหยุดพักที่สวนสาธารณะก็พบว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ก็มีคนที่คอยช่วยเหลือบอกต่อข่าวสาร การบอกตำแหน่งที่ที่อยู่ปัจจุบัน ช่วยปฐมพยาบาลให้กับผู้ที่จะเป็นลมอยู่ด้วย ซึ่งปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเหล่านี้เป็นกลไกทางสังคมชั่วคราวที่จะเกิดในสังคมเมือง และคงไม่ได้กลับมาพบกันอีก หากอธิบายผ่านสายตาของ Georg Simmel5 นักสังคมวิทยาคนสำคัญคงอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ได้ผ่านแนวคิดเรื่องคนแปลกหน้า (stranger) ที่เป็นคนที่เหมือนจะอยู่ใกล้ในสังคม แต่ก็ห่างไกลจากความรู้สึกที่จะผูกพันกันทางสังคม
เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่กำลังเป็นที่รับรู้และได้รับความสนใจในสังคมได้สะท้อนถึงผู้กระทำการที่หลากหลายที่มาข้องเกี่ยวกัน หากมองด้วยแว่นตาที่ข้อเสนอของ Sangkhamanee6 เหตุการณ์ที่สร้างความเปราะบางให้กับกรุงเทพฯ จนทำให้สภาวะความเป็นเมืองและกิจกรรมภายในเมืองหยุดชะงักลงคงไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกับคนอีกต่อไป เมื่อการหยุดพักของผู้เขียนหลังจากอพยพเคลื่อนย้ายตนเองออกมาจากจุดที่จะเสี่ยงเรียบร้อยแล้ว บนท้องถนนกลับเต็มไปด้วยปรากฏการณ์ที่หลากหลาย เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้นรถไฟฟ้าที่เป็นเครื่องยืนยันของความทันสมัยแบบเมืองเองก็หยุดชะงักลงทันที ผู้คนไม่สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้าได้ซึ่งรวมถึงผู้เขียนด้วย มากไปกว่านั้นแอปพลิเคชันที่ให้บริการด้านการขนส่งเองก็ไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่จากสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ถูกส่งมาอย่างไม่เสถียร หลังจากสัญญาณเริ่มกลับมาเป็นปกติ ผู้เขียนได้ลองกดเรียกรถเพื่อกลับบ้านในฐานะที่ที่ปลอดภัยที่สุดก็กลับพบว่าราคามีการขึ้นๆ ลงๆ และยังไม่มีคนขับที่กดรับอีกด้วย
ผู้เขียนเลือกเดินไปเรื่อยๆ อย่างไร้ทิศทางพร้อมกับร่างกายที่กำลังโหยหาน้ำดื่มเพิ่มความสดชื่น จนมาถึงสวนเบญจกิติ ได้เห็นผู้คนเริ่มพูดต่อ ๆ กันว่าจะเกิด Aftershock อีกครั้งในเวลา 15.00 น. ผู้เขียนจึงเลือกหยุดพักชั่วคราวที่สวนแห่งนี้ด้วยเป็นพื้นที่ที่เปิดโล่ง มีต้นไม้ที่พอจะให้ความร่มรื่นได้อยู่บ้าง และห่างไกลจากตึกสูงพอสมควร ในระหว่างนั้นได้พยายามกดเรียกรถเพื่อกลับบ้านไปด้วย แต่ก็ไม่มีคนขับกดรับเช่นเดิม ใจที่มีความหวังว่ารถไฟฟ้าคงจะกลับมาใช้ได้แล้วจึงตัดสินใจเดินออกจากสวนไปทางสะพานข้ามคลองไผ่สิงห์โตไปยังรถไฟฟ้าสถานีอโศก ซึ่งก็ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ ผู้เขียนเลือกเดินต่อไปเรื่อยๆ จนถึงมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และได้รอประกาศการเปิดให้บริการอีกครั้ง ในครั้งนี้ผู้เขียนได้มีน้องคนสนิทเป็นผู้ร่วมชะตากรรมที่ไม่สามารถกลับบ้านได้
จากนั้นเวลา 17.00 น. พวกเราตัดสินใจหาทางกลับบ้านด้วยรถเมล์ ซึ่งพบเห็นบรรทัดฐานทางสังคม (social norms) ที่ขาดสะบั้นลงไปชั่วขณะ หรือที่อาจเรียกได้ว่าเป็นสภาวะไร้บรรทัดฐานทางสังคม (anomie) ในช่วงที่ข้ามทางม้าลายรถหลายคันเลือกฝ่าไฟแดงพร้อมๆ ไปกับการไม่ยอมหยุดจอดเมื่อสัญญาณไฟเขียวสำหรับคนข้ามถนนกำลังแสดงสถานะอยู่ ผู้เขียนจึงพูดกับน้องที่มาด้วยกันว่า “นี่แหละความโกลาหลของกรุงเทพฯ ที่แท้ทรู” เดินเรื่อยมาจนถึงป้ายรอรถ รถเมล์ที่ผ่านมาแล้วพอจะช่วยให้พวกเรากลับบ้านได้กลับแน่นขนัดไปด้วยผู้คนและคนขับเลือกขับอยู่ในเลนใน เนื่องจากไม่สามารถที่จะรับผู้โดยสารขึ้นรถได้อีกแล้ว แต่ผู้คนที่ต้องการจะกลับบ้านเลือกวิ่งกรูไปเพื่อขึ้นรถเมล์คันนั้นที่ไม่สามารถที่จะบรรจุความต้องการที่อยากจะกลับบ้านของทุกคนเข้าไปได้ พวกเราเลือกตัดสินใจอีกครั้งไปเสี่ยงรอรถไฟที่วิ่งข้างล่าง หรือที่พวกเราเรียกกันเล่น ๆ ว่า “รถไฟร้อน” จึงทำให้พวกเราสามารถกลับถึงบ้านได้โดยสวัสดิภาพ
ภาพที่ 2 ถนนเพชรบุรีในช่วงที่รถไฟฟ้างดให้บริการ
ที่มา: ภาพถ่ายโดยผู้เขียน (2568)
ถึงแม้เหตุการณ์แผ่นดินไหวจะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถทำนายได้ล่วงหน้าเป็นระยะเวลานาน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงการขาดระบบการแจ้งเตือนภัยที่รวดเร็วและตอบสนองทันทีต่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน ผู้เขียนได้รับข้อความแนะนำแนวทางการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุ Aftershock จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เมื่อเวลา 18.48 น. ซึ่งล่าช้าไปเป็นอย่างมากในการลดความตื่นตระหนกของคนในทุกพื้นที่ที่ต้องประสบกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ รัฐบาลควรเริ่มเอาจริงกับระบบการแจ้งเตือนภัยที่มีความรวดเร็ว กระฉับฉับไว ซึ่งจะช่วยลดความกังวลใจของผู้คนลงไปได้เป็นอย่างมาก หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ผ่านพ้นไป ผู้เขียนคิดว่าควรจำเป็นต้องมีการให้ความรู้อย่างเคร่งครัดด้วยการมีเนื้อหาเกี่ยวกับการรับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างเข้มข้น มีความเข้มงวดในการตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อให้สามารถที่จะรองรับต่อภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ต่อไป
เอกสารอ้างอิง
________________________________________
หมายเหตุ “แผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ คงเป็นเหตุการณ์ที่ตัวเราคงไม่ได้คุ้นเคยกับมันมากนัก คงเป็นเพราะความเป็นเมืองได้ผลักความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวออกจากการรับรู้ของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยากหลากหลายในสังคมเมือง เหตุการณ์ในครั้งนี้ยังได้สะท้อนภาพความสัมพันธ์ทางสังคมหลายชั้นในวันที่เมืองกำลังเสียศูนย์”