The Prachakorn

แผ่นดินไหวและบาดแผลทางใจ: ทำความรู้จักภาวะเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD)


ณัฐพร โตภะ

18 เมษายน 2568
185



เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่เขย่าผืนดิน แต่ยังเขย่าจิตใจของผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวและผู้ที่อยู่ในตึกสูง ซึ่งต่างประสบกับประสบการณ์ที่ไม่เคยคาดคิด บ้านหรือห้องพักสั่นสะเทือน เสียงโครมคราม โคมไฟสั่นไหว เสาไฟฟ้าไหวโยก ในขณะบางคนยังเห็นภาพตึกถล่มไปต่อหน้า จนหลายคนคิดว่า “จะตายหรือเปล่า” ขณะเกิดเหตุ

สำหรับผู้รอดชีวิต ความกลัวกลับไม่จางหายไปพร้อมแรงสั่นสะเทือน หากแต่ฝังลึกในจิตใจกลายเป็นความหวาดระแวง หลายคนรู้สึกว่าทุกเสียงสั่นสะเทือนคือภัยคุกคาม ไม่กล้ากลับเข้าที่พัก กลางคืนไม่กล้านอน ตกใจง่าย หัวใจเต้นแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของ ภาวะเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (Post-traumatic stress disorder; PTSD) ที่ยังคงเป็นเรื่องที่เข้าใจน้อยในสังคมไทย วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับภาวะนี้กันให้มากขึ้นค่ะ

ลักษณะสำคัญของ PTSD

จากเกณฑ์ของ American Psychiatric Association (2022)1 ผู้ที่มีภาวะ PTSD มักแสดงอาการหลักๆ ดังนี้

  1. การย้อนคิดซ้ำ (Intrusion): เช่น ความฝันร้าย ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นย้อนกลับมาโดยไม่ตั้งใจ หรือรู้สึกเหมือนกลับไปอยู่ในเหตุการณ์
  2. การหลีกเลี่ยง (Avoidance): หลีกเลี่ยงสถานที่ บุคคล หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้น
  3. การเปลี่ยนแปลงด้านความคิดและอารมณ์ (Negative changes in cognition and mood): มีอารมณ์ซึมเศร้า ขาดความสนใจในสิ่งที่เคยชอบ รู้สึกผิดหรือโทษตนเอง
  4. ภาวะตื่นตัวสูง (Hyperarousal): สะดุ้งง่าย หวาดระแวง หรือมีปัญหาในการนอนหลับ

อาการเหล่านี้ต้องดำเนินต่อเนื่องเกินหนึ่งเดือน และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น PTSD

ที่มา https://freepik.com (Premium License)

การรักษาและฟื้นฟู

  1. การบำบัดทางจิตวิทยา (Psychotherapy): การบำบัดพฤติกรรมทางปัญญา (Cognitive Behavioral Therapy - CBT) เป็นหนึ่งในแนวทางที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในการรักษา PTSD โดยเน้นให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีเปลี่ยนแปลงความคิดและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กระทบจิตใจ1
  2. การใช้ยา (Medication): ยาต้านซึมเศร้าในกลุ่ม Selective Serotonin Reuptake Inhibitors (SSRIs) เช่น sertraline และ paroxetine ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาว่าใช้ในการรักษา PTSD ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยช่วยลดอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า และอาการตื่นตัวสูง ทั้งนี้การใช้ยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของจิตแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะอาการตอบสนองต่อยาอาจแตกต่างกันในแต่ละบุคคล1
  3. การสนับสนุนจากครอบครัวและสังคม (Social Support): ผู้ป่วย PTSD ที่ได้รับการสนับสนุนทางอารมณ์จากครอบครัว เพื่อน หรือกลุ่มช่วยเหลือ มักมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้น เนื่องจากความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ช่วยลดความเครียดทางอารมณ์และฟื้นฟูความมั่นคงภายในจิตใจ2
  4. การดูแลตนเองและการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง (Self-care and Recovery): การนอนหลับให้เพียงพอ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และการฝึกเทคนิคการผ่อนคลาย เช่น การฝึกสติ หรือ โยคะ ช่วยลดอาการตื่นตัวสูงและส่งเสริมสุขภาวะจิตใจในระยะยาว การดูแลสุขภาพกายอย่างต่อเนื่องถือเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัดที่ส่งเสริมการฟื้นฟูโดยรวม3

ที่มา https://freepik.com (Premium License)

“ภัยพิบัติทางธรรมชาติ” ไม่ควรถูกมองว่าเป็นเพียงเหตุการณ์ชั่วคราวที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งปลูกสร้างหรือทรัพย์สินทางกายภาพเท่านั้น แต่ควรตระหนักว่า ภัยพิบัติเหล่านี้สามารถทิ้ง ‘บาดแผลทางใจ’ ที่ฝังลึกและยาวนานในผู้ที่เผชิญเหตุการณ์ได้ แม้ภาพของตึกถล่ม หรือบ้านเรือนพังพินาศจะเป็นสิ่งที่ปรากฏชัดเจนหลังภัยพิบัติ แต่สิ่งที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าคือ ‘สภาวะทางจิตใจ’ ที่อ่อนไหว บอบบาง และยากต่อการเยียวยา เช่น ภาวะเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD) ซึ่งงานวิจัยจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศพบว่า เป็นผลกระทบที่พบได้ในผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวโดยตรง4 การเตรียมความพร้อมของสังคมไทยจึงควรครอบคลุมทั้ง “ด้านกายภาพ” เช่น ระบบเตือนภัยล่วงหน้า มาตรฐานสิ่งปลูกสร้าง และ “ด้านจิตใจ” ได้แก่ การประเมินภาวะความเครียด การส่งเสริมสุขภาพจิต การให้ความรู้เกี่ยวกับ PTSD รวมถึงการฟื้นฟูเชิงจิตสังคม (psychosocial support) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการฟื้นตัวจากภัยพิบัติ5


อ้างอิง

  1. American Psychiatric Association. (2022). What is Posttraumatic Stress Disorder (PTSD)? สืบค้นจาก https://www.psychiatry.org/patients-families/ptsd/what-is-ptsd สืบค้นเมื่อ 2 เมษายน 2568
  2. Brewin, C. R., Andrews, B., & Valentine, J. D. (2000). Meta-analysis of risk factors for posttraumatic stress disorder in trauma-exposed adults. Journal of Consulting and Clinical Psychology, 68(5), 748–766.
  3. Polusny, M. A., Erbes, C. R., Thuras, P., et al. (2015). Mindfulness-based stress reduction for posttraumatic stress disorder among veterans. JAMA, 314(5), 456–465.
  4. Neria, Y., Nandi, A., & Galea, S. (2008). Post-traumatic stress disorder following disasters: a systematic review. Psychological Medicine, 38(4), 467–480.
  5. World Health Organization. (2013). Building back better: Sustainable mental health care after emergencies. Geneva: WHO.

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th