The Prachakorn

คนทำงานมีความสุข เพิ่มผลิตภาพ องค์กรยั่งยืน


กัญญาพัชร สุทธิเกษม

21 มิถุนายน 2561
410



สถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญ แต่ที่ผ่านมา พบว่า SME เกือบทั้งหมดเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ข้อมูลปี 2557 พบว่า ประเทศไทยมี SME 2,736,744 ราย แต่มีเพียง 586,958 รายเท่านั้นที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล โดยเป็น SME ขนาดกลางเพียง 12,812 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5 ของ SME ทั้งหมด และระหว่าง ปี 2555-2558 มี SME ที่ยกเลิกกิจการสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการประคับประคองรากฐานเศรษฐกิจและพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน จึงเป็นความท้าทายของประเทศไทย

เมื่อปี พ.ศ. 2559 – 2560 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนิน “โครงการส่งเสริมผลิตภาพและสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มผลิตภาพโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นปัจจัยความสำเร็จประการหนึ่งที่จะช่วยให้ SME เติบโตอย่างมีคุณภาพ และสร้างความตระหนักให้ SME เห็นความสำคัญของการเพิ่มผลิตภาพ บนความเชื่อมั่นการเป็นองค์กรแห่งความสุขตามหลักของ Happy Workplace ซึ่งจะนำองค์กรที่เป็น SME ไปสู่การเพิ่มผลิตภาพที่ยั่งยืน

การดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวข้างต้น สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในด้าน “การติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการส่งเสริมผลิตภาพและสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม”* โดยมีบทบาทด้านการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานกิจกรรมนำร่องทดสอบรูปแบบการพัฒนาผลิตภาพควบคู่ไปกับการสร้างสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวน 159 แห่งที่เข้าร่วมโครงการ และนำข้อเสนอแนะที่ได้มาพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานต่อไป

จากการศึกษาพบว่า การส่งเสริมสุขภาวะในองค์กร มีส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานให้ดีขึ้น ถึงแม้ปริมาณงานจะมากเท่าเดิม แต่บรรยากาศการทำงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย SME ที่เข้าร่วมโครงการ มีผลิตภาพเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.7 และ พบว่าร้อยละ 99.2 ของ SME มีบรรยากาศความร่วมมือในการทำงานดีขึ้นหลังจากส่งเสริมความสุขในองค์กร1

มีตัวอย่าง SME ที่เข้าร่วมโครงการ พบว่า สถานที่ทำงานมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยมากขึ้น หลังจากที่มีการส่งเสริมสุขภาวะในองค์กร โดยเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลสถิติอุบัติเหตุ 3 ปี ระหว่างปี 2558-2559 (ช่วงก่อนเข้าร่วมโครงการฯ) กับข้อมูลสถิติอุบัติเหตุในปี พ.ศ. 2560 (หลังเข้าร่วมโครงการฯ) พบว่าอุบัติเหตุลดลงอย่างชัดเจน ส่งผลให้มีพนักงานที่ต้องหยุดงาน และจำนวนวันที่เสียไปเนื่องจากอุบัติเหตุลดน้อยลงไปด้วย (ดูตาราง) 

ค่าสถิติ 2558 2559 2560
จำนวนครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ 11 6 5
จำนวนพนักงาน 150 200 250
อัตราความถี่การประสบอันตราย (ราย : 1,000,000 ชม. การทำงาน) 30.6 12.5 8.3
จำนวนคนหยุดงานมากกว่า 3 วัน 6 2 2
จำนวนวันที่เสียไปเนื่องจากอุบัติเหตุ 20.9 15.5 14

 

“ผลลัพธ์ที่ได้จากกิจกรรมสร้างสุขภาวะ “ได้ผลเกินคาด” เพราะพนักงานเกิดแรงจูงใจ...มันมีความซึมซับแล้วก็มีความสุข  พนักงานเขามีความสุข...ผลประโยชน์ที่ได้จากการทำตรงนี้จึงเกินคาด แต่จริงๆ ผลประโยชน์มีได้หลายอย่างทั้งผู้บริหาร พนักงาน คือความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานก็ดีขึ้น team work ดีขึ้น แล้วก็ทำให้ฝ่ายบริหารกับพนักงานใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วย... และมีอยู่อย่างหนึ่งที่กลับหายไป ก็คือการยึดครองจากพนักงาน คือแต่ก่อนพนักงานก็จะเรียกนู่นเรียกนี่ จะเอาโน่นเอานี่จากบริษัท แต่พอทำ.กิจกรรมแล้วก็หายไป ก็ไม่ได้หมดนะ แต่น้อยลงมาก...”2 (ผู้บริหารจาก SME ในพื้นที่ภาคเหนือ)

ผลิตภาพ จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า องค์กรนั้นเห็นถึง “คุณค่าของความเป็นมนุษย์” ของคนทำงานในองค์กรมากน้อยแค่ไหนผลิตภาพที่มีคนเป็นศูนย์กลาง จะนำไปสู่การสร้างผลลัพธ์ทั้งด้านการเงินและด้านที่ไม่ใช่การเงิน ได้แก่ การมีอิสรภาพในการทำงาน ความรู้สึกมั่นคง ความพอใจในงาน การมีสัมพันธภาพที่ดี และมีความร่วมมือระหว่างผู้บริหารและพนักงาน เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้มีความจำเป็นที่ทำให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพนักงาน เพื่อผลักดันให้องค์กรเดินหน้าไปสู่ความยั่งยืน


*ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินการจาก สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม  กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมปี 2560

1, 2 จากรายงานผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ “โครงการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการการส่งเสริมผลิตภาพและสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ประจำปี 2560


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th