The Prachakorn

เลี้ยงลูกอย่างไร…ให้มีคุณภาพ


มนสิการ กาญจนะจิตรา

21 มิถุนายน 2561
259



ปีทองของการพัฒนาลูกช่วงไหนที่สำคัญที่สุด งานวิจัยหรือนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยเห็นตรงกันว่าการพัฒนาเด็กต้องเริ่มให้เร็วที่สุด เหมือนหนังสือเรื่อง รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว ที่เขียนโดย มาซารุ อิบุกะ แปลโดย พรอนงค์ นิยมค้า และ ธีระ สุมิตรหนังสือเล่มนี้ทำให้สังคมตื่นตัวเรื่องการพัฒนาเด็กตั้งแต่แรกเกิด จนถึง 3 ขวบ ไม่ใช่รอจนไปโรงเรียนแล้วฝากความหวังไว้กับครู และการพัฒนานั้นไม่ใช่การอัดเนื้อหาวิชาการ แต่เน้นที่การให้ความรัก ให้ได้รับการกระตุ้นประสาทสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้นและกายเพื่อสร้างเซลล์สมองให้งอกงาม ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาเมื่อเติบโตขึ้น

ในขณะที่ยูนิเซฟให้ความสำคัญกับช่วง 5 ปีแรกของชีวิต เพื่อพัฒนาทางการรับรู้ ภาษา สังคม อารมณ์และกล้ามเนื้อ1 ยูนิเซฟก็ให้ความสำคัญกับคุณภาพของการเลี้ยงดูของพ่อแม่ เด็กทารกที่ได้รับความรัก ความอบอุ่น พ่อแม่มีเวลาให้กับลูกอย่างเต็มที่ ลูกได้รับการกอด การเล่นด้วย จะมีพัฒนาการที่ดีในทุกๆ ด้าน จะเติบโตอย่างแข็งแรง มีความเชื่อมั่นและรู้จักคุณค่าในตัวเอง

ส่วนงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet ในปี 2016 เรื่อง Early childhood development coming of age: science through the life course2 ให้ความสำคัญกับช่วง 1,000 วันแรกของชีวิตนับตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึง 2 ขวบ เพราะการดูแลเอาใจใส่ในช่วงเวลานี้จะมีผลต่อการเจริญเติบโต การพัฒนาสติปัญญา และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของลูกเมื่อเข้าโรงเรียน และให้ความสำคัญกับการมีมาตรการที่เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตัวอย่างเช่น งานวิจัยในประเทศเนปาลพบว่าการให้ธาตุเหล็กและกรดโฟลิคเมื่อแม่ตั้งครรภ์ จะทำให้ลูกมีพัฒนาการทางสติปัญญาและการคิดเชิงบริหาร (executive function) ที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยเรียน แต่ถ้าให้ธาตุเหล็กและกรดโฟลิคกับเด็กอายุ 12-35 เดือนจะไม่ได้ผลเหมือนให้เมื่อแม่ตั้งครรภ์

พ่อแม่สามารถมีกิจกรรมเพื่อพัฒนาลูกที่ทำได้ง่าย เช่นอ่านนิทานให้ลูกฟัง ร้องเพลง หรือเล่นด้วย ก็จะทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี เมื่อมาดูว่าพ่อแม่คนไทยมีกิจกรรมเหล่านี้กับลูกมากน้อยแค่ไหน ก็พบว่าแม่ทำกิจกรรมมากกว่าพ่อ และครอบครัวร่ำรวยทำมากกว่าครอบครัวยากจน โดยแม่ในครอบครัวร่ำรวยมากร้อยละ 87.1 ที่มีกิจกรรมร่วมกับเด็ก เทียบกับเพียงร้อยละ 45.6 ของแม่ในครอบครัวยากจนมาก ส่วนพ่อครอบครัวร่ำรวยมากทำกิจกรรมร่วมกับลูกร้อยละ 51.9 เทียบกับเพียงร้อยละ 24.7 ของพ่อในครอบครัวยากจนมากที่มีกิจกรรมร่วมกับลูก ข้อมูลจากทั่วโลกก็พบอย่างเดียวกัน คือครอบครัวร่ำรวยมากอ่านหนังสือให้ลูกฟังร้อยละ 62.4 แต่ครอบครัวยากจนมากอ่านหนังสือกับลูกเพียงร้อยละ 36.4 เท่านั้น การที่พ่อแม่ไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับลูกๆ ทำ.ให้ลูกไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเต็มที่ ครอบครัวยากจนที่ไม่มีเวลาทำกิจกรรมกับลูกก็ยิ่งทำให้โอกาสพัฒนาของลูกน้อยลงไปด้วย ความเหลื่อมล้ำก็มีโอกาสที่จะกว้างขึ้น เพราะการพัฒนาสติปัญญา อารมณ์และสังคมของลูกก็ช้ากว่าเด็กในครอบครัวที่มีโอกาส

การพัฒนาลูกให้เติบโต มีความพร้อมทั้งกายใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม จึงเริ่มตั้งแต่ในท้องแม่ และต่อเนื่องไปจนโต ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไร ยิ่งดีเท่านั้น พ่อแม่ ครอบครัวและชุมชนมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเด็กไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน และการพัฒนาเด็กเริ่มได้ง่ายๆ ที่บ้าน โดยให้บ้านเป็นบ้านที่อบอุ่น มีความรัก ความเอาใจใส่ต่อกัน พ่อแม่มีกิจกรรมร่วมกับลูกอย่างสม่ำเสมอ สังคมไทยก็จะมีเด็กที่เติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต


UNICEF, การพัฒนาเด็กปฐมวัย accessed to https://www.unicef.org/thailand/tha/education_6555.html

Maureen M Black et al (2016). Early childhood development coming of age: science through the life course, Lancet 2017; 389: 77–90.


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th