ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คำว่า “แฝง” เป็นได้ทั้งคำกริยา และคำวิเศษณ์ เมื่อเป็นคำกริยาจะหมายถึงหลบ แอบ ซ่อน เร้น โดยอาศัยสิ่งกำบัง หากเป็นคำวิเศษณ์ จะหมายถึง เคลือบคลุม ที่ซ่อนเร้น เช่น ความร้อนแฝง ดังนั้น ผู้เขียนจึงคิดว่า เมื่อนำ “แฝง” มาต่อท้าย “ประชากร” เป็น “ประชากรแฝง” ก็ควรมีความหมายตรงๆ ว่า คือ ประชากรที่ซ่อนเร้น
ลักษณะที่โดดเด่นของประชากรแฝง คือ ยากต่อการนับว่ามีจำนวนมากน้อยเท่าใด นักประชากรจึงมักถูกร้องขอให้ประมาณจำนวนประชากรแฝงอยู่บ่อยๆ จากผู้ดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมของพื้นที่ต่างๆ ในฐานะที่ผู้เขียนซึ่งเป็นนักประชากรคนหนึ่ง จึงอยากนำคำง่ายๆ คำนี้มาขยายความตามทัศนะของผู้เขียน
นักประชากรมองประชากรแฝงว่าเป็นผู้คนที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่หนึ่งโดยที่ผู้นั้นมีหลักฐานการอยู่อาศัย ซึ่งก็คือทะเบียนบ้าน อยู่ในพื้นที่อื่น เมื่อมองอย่างนี้แล้ว ประชากรแฝงจึงรวมทั้งผู้คนที่อาศัยอยู่อย่างเปิดเผย คือย้ายที่อยู่แต่ไม่ย้ายทะเบียนบ้านตาม กับผู้คนที่เข้ามาอยู่อย่างหลบซ่อนไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ประชากรแฝงแบบคนกลุ่มหลังนี้นับว่ายากต่อการนับมากกว่าคนกลุ่มแรกมาก ตัวประชากรแฝงเอง ยังแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประชากรแฝงกลางวัน และประชากรแฝงกลางคืน ประเภทแรกเป็นกลุ่มที่เข้ามาในเวลากลางวันเพื่อเรียนหนังสือหรือทำงาน เป็นผู้เดินทางไป-กลับ (commuter) ส่วนประเภทหลังเป็นกลุ่มที่เข้ามากินอยู่หลับนอนอย่างถาวรซึ่งเป็นกลุ่มที่ผู้เขียนจะกล่าวต่อไป
ผู้เขียนเคยได้รับคำบอกเล่าจากอาจารย์ของผู้เขียนว่า ในอดีต เมื่อต้องการประมาณจำนวนประชากรแฝง ก็จะดูจากค่าความแตกต่างระหว่างข้อมูลประชากรตามที่ปรากฏในทะเบียนราษฎร กับข้อมูลประชากรที่นับได้จากการทำสำมะโนประชากร การประมาณประชากรแฝงแบบนี้ จะทำได้ทุกๆ 10 ปี ตามรอบของการทำสำมะโนประชากรเท่านั้น และประชากรแฝงที่สนใจก็มักเป็นของกรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือหัวเมืองใหญ่ๆ ที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ถ้ามองเฉพาะเมืองสำคัญๆ เหล่านี้ แน่นอน จำนวนประชากรที่นับได้จากสำมะโนฯ ย่อมสูงกว่าจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร อยู่มาก เช่น ในปี 2553 ประชากรของกทม. ตามทะเบียนราษฎร เท่ากับ 5.7 ล้านคน แต่นับได้ตามสำมะโนฯ ถึง 8.3 ล้านคน ตามการประมาณก็จะได้ว่าประชากรแฝงของกทม. มีอยู่ประมาณ 2.6 ล้านคน หรือราวร้อยละ 46 (เกือบครึ่ง) ของประชากรตามทะเบียนราษฎร
ตามทัศนะของผู้เขียน การประมาณตามวิธีดังกล่าวเป็นการมองเพียงด้านเดียว ขอยกกรณีของกทม. อีกครั้ง เพราะอันที่จริงแล้ว คน กทม. ตามทะเบียนราษฎรจำนวนหนึ่งได้ไปอยู่ที่อื่นโดยไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านตามไปก็มี พูดง่ายๆ ก็คือ มีคนจากที่อื่นแฝงเข้ามาอยู่ใน กทม. และคน กทม. ไปแฝงอยู่ที่อื่นด้วยเช่นกัน การเปรียบเทียบจำนวนประชากรจากสำมะโนฯ กับประชากรตามทะเบียนราษฎร เช่นที่เคยปฏิบัติกันมาในอดีตนั้น จึงเสมือนหนึ่งไม่มีประชากรตามทะเบียนราษฎรที่ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ซึ่งตรงนี้ก็คือความจำกัดของข้อมูลที่มีอยู่ในอดีต ว่าเรามีอยู่แค่นั้น และนักประชากรก็ต้องพยายามหาวิธีประมาณเพื่อตอบโจทย์ให้กับผู้ที่ต้องการได้ตัวเลขประชากรแฝง
10 ลำดับจังหวัดที่มีร้อยละประชากรแฝงสูงสุด เมื่อ พ.ศ. 2553
ที่มา: รายงานประชากรแฝง พ.ศ. 2553, สำนักงานสถิติแห่งชาติ
ในปี 2553 เมื่อสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดนั้น นับเป็นครั้งแรกที่มีการเพิ่มข้อคำถามเกี่ยวกับเรื่องการมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ดังนี้ “......(ชื่อ)..... มีชื่อในทะเบียนบ้านนี้หรือไม่” และตัวเลือกของคำตอบมีอยู่ 5 แบบคือ 1) มีอยู่ที่บ้านนี้ 2) มีอยู่ที่อื่นแต่จังหวัดนี้ 3) มีอยู่ที่จังหวัดอื่น 4) ไม่มีในประเทศไทย แต่มีในประเทศอื่น และ 5) ไม่มีที่ใดเลย ซึ่งคำถามนี้จะบอกเราได้ว่ามีคนอยู่มากน้อยเพียงใดที่ไม่ได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของพื้นที่จังหวัดหนึ่งๆ โดยคำตอบข้อ 3) ถึงข้อ 5) เท่านั้น ที่นับเป็นประชากรแฝง และจากสำมะโนฯ 2553 นี้ ประชากรแฝงได้รวมทั้งคนไทยและชาวต่างชาติไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม คำถามเรื่องการมีชื่อในทะเบียนบ้านในการทำสำมะโนฯ 2553 ยังคงขาดการถามต่อสำหรับคนที่มีชื่อตามทะเบียนบ้านแต่อยู่จังหวัดอื่น ว่าเป็นจังหวัดใด ก็เลยทำให้ไม่สามารถตอบคำถาม เช่น แล้วคน กทม. ไปแฝงอยู่ในจังหวัดอื่นมากน้อยเท่าไรได้
นับจากการทำสำมะโนประชากร พ.ศ. 2553 สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ปรับปรุงการถามเรื่องการมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยเพิ่มสิ่งที่ขาดหายไป คือ ให้มีการระบุจังหวัดในกรณีที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านแต่อยู่ที่จังหวัดอื่น และนำไปใช้กับการสำรวจต่างๆ ของสำนักงานสถิติ ขณะนี้ ผู้เขียนก็กำลังรออย่างใจจดใจจ่อที่จะเห็นตัวเลขประชากรแฝงอีกครั้งในสำมะโนประชากรครั้งหน้าที่จะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ. 2563 เพราะคงได้เห็นตัวเลขของทั้งคนที่แฝงเข้ามาอยู่ในจังหวัดหนึ่งๆ และคนจากจังหวัดนั้นๆ ไปแฝงอยู่ในจังหวัดอื่นอย่างแน่นอน
ภาพจาก https://www.matichon.co.th/local/news_3715