The Prachakorn

พรจากพระเจ้า


จงจิตต์ ฤทธิรงค์

06 ตุลาคม 2561
494



“พรจากพระเจ้า” ที่จะกล่าวในบทความนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนาใด แต่ต้องการหมายถึงของขวัญอันประเสริฐตลอดช่วงชีวิตของคนๆ หนึ่งที่จะมีได้เสมือนการได้รับพร ใครที่เป็นคุณพ่อหรือคุณแม่คงจะคิดไม่ต่างกันว่า “บุตรคือของขวัญที่ดีที่สุดในชีวิต” แต่หากใครจะคิดต่างก็คงไม่แปลกเพราะการมีบุตรนั้นเกิดขึ้นพร้อมกับคำว่าความรับผิดชอบซึ่งบางคนอาจจะยังไม่พร้อม

งานวิจัยเรื่องโครงสร้างและนโยบายประชากรของสิงคโปร์ทำ.ให้ผู้เขียนได้มีโอกาสทำความรู้จักกับประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก และกำลังเผชิญปัญหาด้านโครงสร้างประชากร อัตราเจริญพันธุ์รวม1 ที่ลดต่ำลงจนเท่ากับ 1.16 ในปี 2017 และดูเหมือนว่าจะยังไม่ถึงจุดต่ำสุด ทำให้สัดส่วนประชากรวัยเยาว์ลดลง และประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นจนเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน ปัจจุบันสิงคโปร์มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 19.5 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 24 ในปี 2030 อาจกล่าวได้ว่าอีกประมาณ 12 ปี 1 ใน 4 ของประชากรสิงคโปร์ (ไม่นับรวมผู้ย้ายถิ่น) จะเป็นผู้สูงอายุ

อัตราเจริญพันธุ์รวมของสิงคโปร์ที่ลดลงต่ำกว่าระดับทดแทน2 ต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่ปี 1977 ส่งผลให้ประชากรวัยแรงงานมีสัดส่วนน้อยลงเช่นกัน คาดว่าประชากรอายุ 20-24 ปีที่เรียนจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยและเข้าสู่ตลาดแรงงานจะน้อยกว่าประชากรวัยแรงงานที่เกษียณอายุออกจากตลาดแรงงานในปีเดียวกันมากกว่า 1 แสนคน

ต้นตอของปัญหาโครงสร้างประชากรนั้นอยู่ที่พลเมืองไม่มีบุตร รัฐบาลสิงคโปร์มีความพยายามอย่างมากเพื่อสร้างนโยบายส่งเสริมการเกิดโดยสร้างแรงจูงใจให้พลเมืองมีบุตรมากขึ้น เช่น เบบี้โบนัสหรือเงินสมทบเพื่อดูแลบุตร มาตรการทางภาษีที่ลดหย่อนให้แก่มารดาที่มีบุตร การเพิ่มวันหยุดและปรับเวลาทำงานให้ยืดหยุ่นเพื่อให้แม่ที่มีบุตรได้ทำงาน รวมทั้งการให้วันหยุดแก่พ่อเพื่อให้ผู้ชายมีส่วนร่วมในการดูแลบุตรมากขึ้น สิงคโปร์มีนโยบายที่เป็นประโยชน์มากมาย แม้กระนั้นแนวโน้มอัตราเจริญพันธุ์รวมดูเหมือนจะไม่มีทางที่จะกลับขึ้นมาที่ระดับทดแทนได้เลย

ผู้เขียนได้พูดคุยกับคนสิงคโปร์ทั้งชายและหญิงอายุ 20-35 ปีหลายคน ส่วนมากไม่ได้ให้ความสำคัญกับการมีบุตรเพราะความคาดหวังและเป้าหมายในชีวิตที่ต้องการเวลามาก จนไม่อาจจัดสรรเพื่อการสร้างครอบครัวและมีบุตร จนกระทั่งผู้เขียนได้พบกับสุภาพบุรุษท่านหนึ่งที่มีต้นทุนทางสังคมไม่แตกต่างไปจากคนอื่นๆ เขากำลังเริ่มชีวิตการทำงานและวางแผนจะมีบุตร เหตุผลเพราะ “การมีบุตรคือพรจากพระเจ้า” ประโยคนี้คือกุญแจไขปริศนาที่ไม่มีใครในประเทศนี้ทำได้สำเร็จ

การเปลี่ยนเงื่อนไขทางสังคมที่หลากหลายด้วยนโยบายที่ซับซ้อนไม่อาจเปลี่ยนอัตราเจริญพันธุ์รวมให้เพิ่มขึ้นได้ ถ้าไม่เปลี่ยนความคิดของคนในสังคม ประเทศไทยกำลังมีนโยบายส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพด้วยการให้วิตามินและเบบี้โบนัสที่ใช้งบประมาณมาก บทความนี้จึงชวนคิดให้ลองเปลี่ยนความคิด (mindset) ของพลเมือง เผื่อจะช่วยทำให้อัตราเจริญพันธุ์ของไทยไม่วิกฤตไปกว่าที่เป็น

 

ภาพ: จงจิตต์ ฤทธิรงค์

1 อัตราเจริญพันธุ์รวม (Total fertility rate-TFR): จำนวนบุตรเฉลี่ยต่อผู้หญิงคนหนึ่งตลอดวัยมีบุตรของตน
2 อัตราเจริญพันธุ์รวมต่ำกว่าระดับทดแทน: จำนวนบุตรเฉลี่ยต่อผู้หญิงคนหนึ่งน้อยกว่า 2 คน ซึ่งไม่เพียงพอที่จะทดแทนพ่อและแม่


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th