The Prachakorn

อยากให้คนไทยเจริญวัยอย่างมีพลัง


ปราโมทย์ ประสาทกุล

08 ตุลาคม 2561
920



กระแสผู้สูงอายุเต็มเมืองมาแรง

ทุกวันนี้ พวกเราคงเห็นแล้วว่าสังคมไทยมีอายุสูงขึ้นจริงๆ ไปที่ไหนเราก็จะเห็นแต่คนอายุมากๆ (เขาขอให้หลีกเลี่ยงคำว่า “คนแก่” “คนชรา”) อยู่ทั่วไปหมด ไม่ว่าจะเป็นตามถนนหนทางศูนย์การค้า หรือตามงานต่างๆ หันซ้าย หันขวา เหลียวหน้า แลหลังก็ต้องเจอผู้สูงอายุเข้าจนได้

วันก่อนขับรถไปตามถนนเลียบคลองมหาสวัสดิ์ เหลือบไปเห็นป้ายชี้ทางไปยังบ้าน “รับดูแลผู้สูงอายุ” อ้าว! เมื่อก่อนเป็นป้ายที่เขียนว่า “รับดูแลเด็กเล็ก” นี่นา เปลี่ยนเป้าหมายของกิจการจากดูแลเด็กเป็นดูแลผู้สูงอายุไปเสียแล้ว

เมื่อวันก่อนอีกเช่นกัน ผ่านไปทาง “ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง” อ้าว ! เห็นป้ายชื่อเปลี่ยนไปเป็น “ศูนย์สร้างสุขทุกวัยกรุงเทพมหานคร ดินแดง” เสียแล้ว ผมสงสัยว่าศูนย์เยาวชน กทม.เปลี่ยนไปเป็นศูนย์รวมทุกวัยตั้งแต่เมื่อไร ค้นหาข้อมูลเรื่องนี้จากกูเกิ้ล จึงได้รู้ว่าท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อัศวิน ขวัญเมือง ได้ยกระดับศูนย์เยาวชนของ กทม.ให้บริการประชาชนทุกวัยไม่ว่าจะเป็นเด็กเยาวชน หรือผู้ใหญ่วัยต่างๆ แต่ที่เจาะจงเป็นพิเศษคือต้องการให้ครอบคลุมผู้สูงอายุซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยใช้ชื่อว่า “ศูนย์สร้างสุขทุกวัย” แทน “ศูนย์เยาวชน” ตั้งแต่เดือนเมษายนปีนี้เอง เป็นไปตามกระแสการมีอายุสูงขึ้นของประชากร กทม. ... ก็ทันสมัยดีเหมือนกันนะครับ

เจ็ดสิบยังแจ๋ว

เมื่อเดือนก่อน เพื่อนเข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมกัน (เมื่อปี 2509) จัดงานชุมนุมรุ่น ตอนนี้เพื่อนรุ่นเดียวกับผมก็มีอายุผ่านหลัก 70 กันหมดแล้ว งานชุมนุมรุ่นปีนี้และปีกลาย มีเพื่อนมาร่วมพบปะสังสรรค์กันเกือบร้อยคน เท่ากับประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนเพื่อนๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ พวกเรามีอายุเข้าเกณฑ์เป็น “ผู้สูงอายุวัยกลาง” (อายุ 70–79 ปี) แล้ว แต่หลายคนก็ยังคึก ร้องรำทำเพลงกันสนุกสนาน เรียกได้ว่าเพื่อนๆ รุ่นเดียวกับผมที่มางานชุมนุมรุ่นในวันนั้น เป็นผู้สูงอายุที่มีพลัง คือ มีสุขภาพดี มีความมั่นคงในชีวิต และพร้อมที่จะออกมาร่วมงานในสังคม ตอนผมยังเป็นหนุ่มเมื่อ 40-50 ปีก่อน ผมไม่เคยเห็นและไม่เคยได้ยินว่าคนอายุกว่า 70 ปีจะมาร่วมชุมนุมกันมากมาย และมีพฤติกรรมสนุกสนานเฮฮากันเหมือนงานชุมนุมของรุ่นผมในวันนั้น

เมื่อเดือนก่อนอีกเช่นกัน ผมมีโอกาสไปร่วมงานชุมนุมของรุ่นน้องรัฐศาสตร์หลังผมสองรุ่น งานนี้มีคนมาร่วมงานร้อยกว่าคน อายุเฉลี่ยของน้องรุ่นนี้ก็คงใกล้หลักเจ็ดสิบเช่นเดียวกัน แต่ลีลาการแสดงทุกชุดของน้องๆ ทั้งการเดินแฟชั่นโชว์ การเต้น การร้องเพลง ก็สดใส สนุกสนาน และมีพลัง (ไม่แพ้ และไม่ชนะรุ่นผม) ผมชอบรายการที่ “เสือ” อนุชา โมกขะเวส (อดีตผู้บริหารระดับสูงของมหาดไทย) ขึ้นไปร้องเพลง “เจ็ดสิบยังแจ๋ว” ซึ่งเป็นเนื้อแปลมาจากเพลง “สามสิบยังแจ๋ว”

            “... พอทราบอายุขวัญตา น้องเอยพี่มานั่งทำ.ตาปริบๆ

                        เพื่อนอายุเจ็ดสิบ เจ็ดสิบทำไมยังสวย ...

            “... โถใครจะเชื่อ ว่าแม่บุญเหลืออายุมากแล้ว

                        เจ็ดสิบยังแจ๋ว แจ๋วเสียจนน่าจีบ ...”

            “... โอ้แม่มะพร้าวเนื้อตัน น้องเอยมามันเอาเมื่อตอนเจ็ดสิบ

                        โถแม่แก้มสองหยิบ เจ็ดสิบดูซิยังสวย ...”

ที่จริงน้องๆ ผู้หญิงที่มาในงานชุมนุมรุ่นในวันนั้น ทั้งสวยและน่ารักกันทุกคน แม้จะอายุเหยียบหลักเจ็ดสิบแล้ว อายุเจ็ดสิบยังแจ๋วจริงๆ อย่างในเนื้อเพลงนั่นทีเดียว

ภาพจาก http://www.thaihealth.or.th/Content/36740-สร้างสรรค์นวัตกรรมยุค%204.0%20อำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ.html

อายุ “เจ็ดสิบ” สมัยนี้ยังไม่แก่

ไม่รู้ผมจะเข้าข้างตัวเองเกินไปหรือเปล่า ผมและเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน และคนไทยที่มีอายุหลักเจ็ดสิบขึ้นไปอีกเป็นจำนวนมาก แน่ใจว่าอายุเจ็ดสิบต้นๆ นี่ กาลเวลายังไม่สามารถทำร้ายสังขารและจิตใจของพวกเรามากนัก อายุเจ็ดสิบเรียกได้ว่าอายุสูงมากแล้วก็จริง แต่พวกเราส่วนใหญ่ก็ยังแข็งแรง อวัยวะต่างๆ ของร่างกายยังคงทำงานได้ดี แม้ตาจะสั้นจะยาวไปบ้าง แต่ก็ยังพอมองเห็นและแว่นตาก็ยังพอเป็นอุปกรณ์ช่วยสายตาได้ แม้หูจะตึงไปนิด แต่ก็ยังไม่ถึงกับดับสนิท แม้ฟันจะหลุดไปบ้าง แต่ก็ยังใส่ฟันปลอมเสริมได้

ผมนึกไม่ออกว่าเมื่อ 50 ปีก่อน สมัยผมยังเป็นวัยรุ่น คนอายุ 70 ปีสมัยนั้นจะยังคิดว่าตัวเองยังไม่แก่เหมือนอย่างพวกเราอายุ 70 ปีสมัยนี้หรือเปล่า ผมคิดว่าไม่มีคนอายุ 70 ปีสมัยนั้นจัดงานชุมนุมร้องรำทำเพลงสนุกสนานเหมือนพวกเราที่อายุ 70 ปีสมัยนี้ สมัยนั้น คนอายุ 70 ปีน่าจะเรียกได้ว่าเป็นผู้มีอายุสูงมากๆ เพราะประเทศไทยยังเป็นสังคมเยาว์วัยที่ประชากรมีอายุเฉลี่ยไม่สูงนัก เมื่อ 50 ปีก่อน ครึ่งหนึ่งของประชากรมีอายุต่ำกว่า 20 ปี

สังคมไทยมีอายุสูงขึ้น

เมื่อ 50 ปีก่อน ประเทศไทยมีประชากรไทยราว 30 ล้านคนในจำนวนนี้ เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพียง 1 ล้าน 5 แสนคน และคนที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปก็น่าจะมีไม่เกิน 5 แสนคนเท่านั้น

เปรียบเทียบประชากรไทยเมื่อ 50 ปีก่อนกับปัจจุบันนี้ คาดประมาณว่าประชากรไทย (ไม่รวมแรงงานข้ามชาติ) ในปี 2561 นี้มี 66 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุหรือคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป11 ล้าน 7 แสนคน หรือเท่ากับ 18% ของประชากรทั้งหมด คนที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป (ซึ่งมีผมรวมอยู่ด้วย) มีประมาณ 5 ล้านคน

เดี๋ยวนี้กลุ่มคนไทยที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปอย่างผมมีเป็นจำนวนมากพอสมควร มากกว่าเมื่อ 50 ปีก่อนถึง 10 เท่าตัว และในอนาคต อีก 20 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจะมีอายุสูงขึ้นอีกอย่างมากจำนวนคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (หรือผู้สูงอายุ) จะเพิ่มมากขึ้นถึง 20 ล้านคน และคนที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 11 ล้านคน

การสูงวัยอย่างมีพลัง

เมื่อดูตัวเลขแนวโน้มจำนวนประชากรสูงอายุที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตแล้ว ก็น่ากลัวอยู่เหมือนกัน ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มจากเกือบ 12 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 20 ล้านคน ผู้สูงอายุวัยปลายหรือคนที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป จะเพิ่มจาก 1 ล้าน 6 แสนคนในปัจจุบันเป็น 3 ล้าน 5 แสนคนในอีก 20 ปีข้างหน้า

โดยธรรมชาติ คนเราเมื่อมีอายุมากขึ้น สมรรถภาพการทำงานของอวัยวะต่างๆ ก็จะถดถอยลง ร่างกายของคนที่มีอายุมากก็ยิ่งจะเปราะบางมากขึ้น ภูมิคุ้มกันโรคภัยต่างๆ จะลดน้อยลง เมื่อคนเรามีอายุสูงขึ้นถึงวัยหนึ่งก็ต้องออกจากกำลังแรงงาน ไม่สามารถเป็นผู้ผลิตที่ทำรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวอีกต่อไป ถ้าหากไม่มีเงินเก็บ หรือเงินออม หรือไม่มีแหล่งรายได้จากลูกหลาน หรือรายได้จากบำเหน็จบำนาญหรือสวัสดิการของรัฐ หรือรายได้จากแหล่งต่างๆ เหล่านี้ มีไม่เพียงพอยังชีพผู้สูงอายุเหล่านั้นก็จะต้องตกอยู่ในสภาวะทุกข์ยาก เมื่อมองในแง่นี้ จำนวนผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นก็จะกลายเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ของตัวผู้สูงอายุเอง ครอบครัว สังคม และรัฐ

แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง หากผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก เป็นผู้สูงอายุที่มีพลัง มีสุขภาพดี ยังคงอยู่ในกำลังแรงงานต่อไป ยังคงมีคุณค่าในครอบครัวและสังคม เก็บออมมาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มสาวจนมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพยามชรา ผู้สูงอายุเหล่านี้ก็จะไม่เป็นภาระ หากแต่จะเป็นทรัพย์สินหรือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่ทรงคุณค่าในสังคม

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้สูงอายุในวันนี้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุวัยต้น (อายุ 60-69 ปี) และผู้สูงอายุวัยกลาง (70-79 ปี) และ คนวัยกลางคนที่จะเป็นผู้สูงอายุต่อไปในอนาคตจำนวนไม่น้อยที่มีเงินออม หรือมีรายได้จากแหล่งต่างๆ ถ้าหากมีวิธีการที่จะทำให้ผู้สูงอายุเหล่านี้นำเงินออมและรายได้ของตนออกมาใช้จ่าย ก็น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโตขึ้นได้

คิดบวกอย่างนี้ก็สบายใจดี สังคมไทยที่กำลังมีอายุสูงขึ้น และมีผู้สูงอายุเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ก็จะนับเป็นโอกาสทองของประเทศไทย ที่จะใช้ภูมิปัญญาและศักยภาพของผู้สูงอายุให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

ส่วนผมขอเป็นผู้สูงอายุที่มีพลังและมีคุณค่าต่อไปอีกสัก 10 ปี หลังจากนั้นก็ค่อยมาว่ากันใหม่นะครับ

ภาพจาก http://www.click.senate.go.th/wp-content/uploads/2015/07/กำลังกาย.jpg

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th