The Prachakorn

สื่อสังคมออนไลน์ แหล่งข้อมูลสำคัญที่สะท้อนปัญหาครอบครัวยุคใหม่


มนสิการ กาญจนะจิตรา

09 ตุลาคม 2561
408



ปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตมีบทบาทในแทบทุกมิติของชีวิตคนสมัยนี้ ตั้งแต่การรับข่าวสารต่างๆ การติดต่อกับสังคมเพื่อน การซื้อของ หรือการค้นคว้าหาข้อมูล นอกจากนั้น อินเทอร์เน็ตยังมีบทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งในชีวิตของคนยุคนี้ คือ เป็นที่พึ่งในการปรึกษาปัญหาชีวิต หลายคนเลือกที่จะนำปัญหาส่วนตัวมาปรึกษากับชุมชนออนไลน์มากกว่าปรึกษากันครอบครัวหรือคนใกล้ตัว

อินเทอร์เน็ตจึงกลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญ ในการสร้างความเข้าใจประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ยกตัวอย่างเช่น ในพันทิป ซึ่งเป็นเว็บบอร์ดที่ได้รับความนิยมที่สุดในประเทศ จะพบว่าเป็นแหล่งที่คนทุกเพศทุกวัยจำนวนมาก เลือกใช้ปรึกษาปัญหาส่วนตัว อาจเป็นเพราะการปรึกษาปัญหาส่วนตัวในชุมชนออนไลน์เช่นนี้ ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน ทำให้คนกล้าเล่าปัญหาของตนเองมากขึ้น นอกจากนี้ สังคมออนไลน์นั้นเปิดกว้างให้คนสามารถเข้ามาช่วยแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้หลากหลาย ทำให้ได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาจำนวนมาก

จากมุมมองคนทำวิจัย จึงมองว่าการดึงข้อมูลที่มีอยู่ในสังคมสื่อออนไลน์มาวิเคราะห์ประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง จึงได้ทำงานวิจัยที่สำรวจข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์สองแหล่ง คือ พันทิป และเฟซบุ๊ก โดยประเด็นที่ผู้เขียนสนใจ คือ เรื่องผลกระทบของการมีลูกต่อชีวิตการทำงานของคนในครอบครัว เนื่องจากการมีลูกมักส่งผลต่อการจัดการเวลาระหว่างชีวิตการทำงานและการเลี้ยงลูก

โดยทั่วไปแล้ว การวิจัยในประเด็นลักษณะนี้มักใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ ผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึก หรือการสนทนากลุ่ม ซึ่งทำให้ได้ความคิดเห็นที่เป็นระดับลึกแต่จากจำนวนคนไม่มากนักการใช้ข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์จึงมีข้อดีคือ สามารถได้ข้อมูลที่เป็นเชิงคุณภาพจากคนจำนวนมากกว่าที่นักวิจัยสามารถไปสัมภาษณ์เองได้ อย่างในประเด็นเรื่องผลกระทบของการมีลูกต่อชีวิตการทำงาน พบว่า ภายในช่วงระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา มีแม่ๆ (และพ่อๆ ด้วย แต่ในสัดส่วนที่น้อยกว่า) มาเขียนปรึกษาปัญหาเรื่องการมีลูกและชีวิตการทำงานประมาณกว่า 300 กระทู้ในพันทิป และมีคนเขียนโพสต์แบ่งปันประสบการณ์ของตนเองในเพจสาธารณะเฟซบุ๊กอีกราว 300 โพสต์ (ในเฟซบุ๊ก มีความยากในการเข้าถึงข้อมูลมากกว่าพันทิป เพราะการโพสต์โดยมากเป็นการโพสต์ส่วนตัว งานวิจัยนี้จึงเลือกเฉพาะข้อความในเพจสาธารณะของเฟซบุ๊ก)

ผู้ที่มาปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับชีวิตการทำงานหลังมีลูกในสังคมออนไลน์ สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ คนที่ได้ลาออกจากงานเพื่อมาเป็นแม่เต็มเวลา (หรือพ่อเต็มเวลา) และคนที่ยังคงทำงานอยู่ โดยแต่ละกลุ่มต่างมีประเด็นความทุกข์ใจแตกต่างกันไป เนื่องจากข้อมูลที่ได้จากทั้งพันทิปและเฟซบุ๊กมีจำนวนมาก จึงสามารถนำมาวิเคราะห์ประเด็นโดยใช้เทคนิคต่างๆ ได้หลายรูปแบบ เช่น การหาความสัมพันธ์ของคำ คือ การนำข้อความทั้งหมดมาประมวลว่า เมื่อผู้ตั้งกระทู้/โพสต์ข้อความใช้คำๆ หนึ่ง มักมีคำอะไรปรากฏใกล้ๆ บ้าง

การนำคำทั้งหลายมาหาความสัมพันธ์ของคำกัน ก็สามารถสะท้อนภาพปัญหาที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มคนที่ออกจากงานและคนที่ยังคงทำงานอยู่ เช่น สำหรับคนที่ออกจากงาน เมื่อพูดคำว่า “เลี้ยงลูก” คำที่มักปรากฏอยู่ใกล้เคียงมีคำว่า “เบื่อ” “เหงา” “ลำ.บาก” และ “น้อยใจ” ในขณะที่สำหรับคนที่ยังคงทำงานอยู่ เมื่อพูดคำว่า “เลี้ยงลูก” คำที่มักปรากฏอยู่ใกล้เคียง จะมีคำว่า “ขอโทษ” “เสียใจ” และ “คิดถึง” ซึ่งเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นประเด็นปัญหาที่รบกวนจิตใจที่แตกต่างกันระหว่างคนสองกลุ่มนี้เป็นอย่างดี

การนำ.ข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์มาใช้จำเป็นต้องเข้าใจถึงข้อจำกัดของข้อมูลประเภทนี้ด้วย ประเด็นหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การตระหนักว่าข้อมูลที่ได้จากออนไลน์นี้ ไม่ได้สะท้อนปัญหาของคนทั้งประเทศ ประการแรก คนที่มาโพสต์ข้อความเพื่อตั้งกระทู้ คือ คนที่มีปัญหา ส่วนคนที่ไม่มีปัญหาก็ไม่ได้มาตั้งกระทู้ ดังนั้นปัญหาที่พบในโลกออนไลน์จึงอาจจะดูรุนแรงกว่าในโลกความเป็นจริง ประการที่สอง คนที่มาโพสต์ข้อความออนไลน์ จะเป็นกลุ่มที่สามารถเข้าถึงสื่อสังคมเหล่านี้ ดังนั้นจึงอาจสะท้อนภาพของเพียงบางกลุ่มคนเท่านั้น การเลือกประเด็นที่จะนำมาวิจัยจึงต้องมีความเหมาะสมกับลักษณะของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์มีขนาดใหญ่มาก และมีศักยภาพอย่างมากในการสร้างความเข้าใจประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ จึงเป็นแหล่งข้อมูลที่นักวิจัยทั้งหลายไม่ควรมองข้าม

 

ภาพจาก https://news.mthai.com/webmaster-talk/news-focus/623978.html

 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th