พัฒนาการของเศรษฐกิจและสังคมทำให้โลกในความคิดกว้างใหญ่ขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัยและไม่ต้องการคำอธิบายใดๆ เพิ่มเติม ทว่าความทันสมัยและความก้าวหน้าของชีวิตในโลกยุคใหม่มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตที่นับแต่จะแพงขึ้นทุกวัน บีบเค้นการทำมาหากินให้หนักขึ้น ออกไปไกลจากบ้านมากขึ้น และใช้เวลากับที่บ้านน้อยลง ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นอุปสรรคต่อการมีลูก แต่ยังไม่เอื้อต่อการดูแลสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวด้วย กลายเป็น “ความเปราะบาง” รูปแบบใหม่ที่กำ.ลังท้าทายสถาบันครอบครัวของไทยในปัจจุบัน
นอกจากนี้ การพลัดพรากของสมาชิกในครอบครัวไม่ว่าจะด้วยความจำเป็นในการศึกษา หรือการทำมาหากินล้วนแต่สะท้อนการกระจายการพัฒนาของสังคมไทยที่ยังไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร ทำให้เกิด “ระยะทาง” ที่คั่นกลางระหว่างสมาชิกในครอบครัว กระทบต่อ “เวลา” ที่สมาชิกในครอบครัวจะมีให้กัน และส่งผลต่อ “ระยะห่าง” ของความสัมพันธ์อย่างเลี่ยงไม่ได้ ครอบครัวไทยจึงต้องหันไปหาตัวช่วยอื่นๆ
ในปี 2560-2561 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ได้ดำเนินชุดโครงการวิจัย “การดูแลครอบครัวเปราะบางในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและสังคมไทย” ซึ่งสนับสนุนทุนวิจัยโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มุ่งศึกษาความเปราะบางของครอบครัวไทยในประเด็นดังกล่าว โดยชุดโครงการวิจัยนี้เป็นภาคต่อจากชุดโครงการวิจัย “ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทย” ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ปี 2558 ชุดโครงการวิจัยนี้ ประกอบด้วยโครงการวิจัยย่อย 4 โครงการ ได้แก่ (1) การปรับวิถีการทำงานของครอบครัวเมื่อมีบุตรi (2) การดูแลผู้สูงอายุในครัวเรือนซึ่งมีรูปแบบการอยู่อาศัยที่หลากหลายในสังคมไทย เพื่อประเมินความเข้มแข็งและความต้องการสนับสนุนครัวเรือนii (3) กลไกของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดูแลครัวเรือนเปราะบาง: กรณีศึกษาครัวเรือนข้ามรุ่น และครัวเรือนที่ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวiii (4) ระบบการสนับสนุนผู้สูงอายุแบบบูรณาการ: การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและกิจการเพื่อสังคมiv
ข้อค้นพบจากโครงการย่อยทั้ง 4 โครงการนี้ เชื่อมร้อยต่อภาพการดูแลครอบครัวไทยจากการที่สมาชิก “ในบ้าน” ช่วยดูแลกันและกันไปจนถึงการพึ่งพาคน “ข้างบ้าน” ในยามที่สมาชิกในครอบครัวที่พอจะพึ่งพาได้มีเหตุต้องย้ายออกไปต่างถิ่น เหลือแต่เพียงคนวัยพึ่งพิงที่ต้องอยู่ลำพัง จนถึงการขับเคลื่อนกลไกท้องถิ่นซึ่งขึ้นกับความเอาจริงเอาจังของผู้นำท้องถิ่น กลไกภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยเฉพาะในรูปแบบของวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ซึ่งยังต้องการองค์ความรู้ในการบริหารจัดการเพื่อให้ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้เป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่าเรื่องของครอบครัว ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ของคนในครอบครัวเสียแล้ว แต่เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องระดมกำลังและทรัพยากรเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ครอบครัวไทย แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจ สังคม และโครงสร้างประชากรจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นนี้ เพื่อให้ครอบครัวไทย และสังคมไทยดำเนินไปได้อย่างเข้มแข็ง
ชุดโครงการนี้ยังได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในหลายประเด็น อาทิ การลงทุนในศูนย์ดูแลเด็กเล็กให้ทั่วถึง การลดอุปสรรคในการทำงานของผู้มีบุตรโดยเฉพาะในช่วงที่ลูกยังต้องการการดูแล การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการรับผู้ที่ออกจากงานเนื่องจากการมีบุตรเข้าสู่ตลาดแรงงาน การมีระยะวันลาที่เหมาะสม และการปรับแรงจูงใจสำหรับภาคเอกชนในการรับผู้ที่ออกไปเลี้ยงลูกผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การลดหย่อนภาษี การสร้างศักยภาพ ความรู้ อาชีพ การคมนาคมและสังคม เพื่อศักดิ์ศรีและการพึ่งพาตนเองของผู้สูงอายุในครัวเรือนเปราะบาง กลไกการเอื้อต่อการให้ลูกหลานกลับไปเยี่ยมผู้สูงอายุ การพัฒนาสมรรถนะของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครผู้ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน (อผส.) การพัฒนาระบบเพื่อนบ้านที่ดีและพึ่งพาได้ การพัฒนาฐานข้อมูลครัวเรือนเปราะบางระดับท้องถิ่น การให้ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุมีบทบาทในการสร้างเสริมศักยภาพของผู้สูงอายุ และขยายระยะเวลาของการเจริญวัยอย่างมีพลัง (active aging) การขยายบทบาทศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในการดำเนินกิจกรรมพิเศษสำหรับครัวเรือนข้ามรุ่น การสร้างเวทีเพื่อทำความเข้าใจระหว่างองค์กรปกครอบส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานตรวจสอบระเบียบการเงินเพื่อให้การดำเนินการช่วยเหลือผู้สูงอายุมีความคล่องตัว การสร้างคู่มือต้นแบบการดูแลครัวเรือนเปราะบางการพัฒนาเครือข่ายการสูงอายุแห่งชาติ เพื่อเป็นศูนย์กลางการระดมภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเกี่ยวกับผู้สูงอายุ การส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือธุรกิจขนาดเล็กเพื่อริเริ่มบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ และครัวเรือนเปราะบาง
i ผศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา หัวหน้าโครงการวิจัยย่อยที่ 1
ii ผศ.ดร.ศุทธิดา ชวนวัน หัวหน้าโครงการวิจัยย่อยที่ 2
iii ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าโครงการวิจัยย่อยที่ 3
iv อ.ดร.ธีรนงค์ สกุลศรี หัวหน้าโครงการวิจัยย่อยที่ 4