ความขัดแย้งทางการเมือง ความอดอยากเนื่องจากภัยธรรมชาติ เป็นสาเหตุหลักของการลี้ภัยทางการเมืองที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ เช่น คลื่นมนุษย์จาก อัฟกานิสถาน อิหร่าน เอริเทรีย ไนจีเรีย กาน่า อพยพไปประเทศใกล้เคียงหรือไกลสุดขอบฟ้าถึงออสเตรเลีย หรือกลุ่มประเทศแอฟริกาตอนเหนือทะลักเข้าอิตาลี เป็นต้น ที่ประชาชนหนีตายไปพึ่งพิงประเทศที่มีสถานการณ์ทางการเมืองที่ปลอดภัยกว่า จุดหมายปลายทางสำหรับผู้ลี้ภัยที่กำลังเป็นประเด็นร้อนในแง่สิทธิมนุษยชน คือ ออสเตรเลีย ที่มีจำนวนผู้ขอลี้ภัยโดยเฉพาะจากอัฟกานิสถานมากกว่าประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เนื่องจากสาเหตุการสู้รบภายในประเทศกับกลุ่มทาลิบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อย ฮาซาร่า ที่อยู่ตอนเหนือของประเทศ ผู้อพยพลี้ภัยส่วนหนึ่งเป็นชายวัยฉกรรจ์ที่ต้องสงสัยว่าเป็นกลุ่มต่อต้านนักรบทาลิบันและจำเป็นต้องหนีเพื่อแลกกับชีวิต
ภาพ: สำนักข่าวเอเอ็ฟพี
เส้นทางเข้าสู่ออสเตรเลียมากที่สุด คือ การเดินทางผ่าน อิหร่าน ปากีสถาน และอยู่หลบซ่อนหางานทำระยะหนึ่ง
เพื่อหาเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการหนี บางรายก็ต้องรอให้ครอบครัวส่งเงินให้ ก่อนบินตรงเข้าอินโดนีเซีย หลังจากนั้นจะเป็นการ
ส่งต่อระหว่างคนกลาง (ผู้ค้ามนุษย์) ที่ลำเลียงผู้หนีตายโดยใช้เรือสินค้าขนาดเล็ก หรือเรือประมง แล่นฝ่าคลื่นเข้าชายฝั่งของออสเตรเลีย ด้านทิศเหนือของเมืองดาร์วิน หรือทางฝั่งทะเลด้านตะวันตก ที่ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 สัปดาห์ มีค่าใช้จ่ายประมาณ 3,000-5,000 ดอลล่าร์ สำหรับผู้อพยพจากศรีลังกาเสียค่าใช้จ่ายมากถึง 8,000 ดอลล่าร์ สำหรับการเดินทางที่ฝ่าอันตรายที่ไม่มีหลักประกันความปลอดภัยในชีวิต ผู้ลี้ภัยจำนวนมากจะถูกกักตัวไว้ที่อินโดนีเซียนานนับเดือนถ้าถูกจับได้ และถูกส่งกลับประเทศต้นทางเมื่อผ่านกระบวนการสอบสวน ขณะรอการตัดสินจากทางการ มักมีเหตุสลดใจเกิดขึ้นเสมอ เช่น การถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมปางตาย การฆ่าตัวตายด้วยการผูกคอในที่คุมขัง หรือแม้แต่การกระโดดตึกที่เป็นสถานกักกันตัวชั่วคราวเพื่อปลิดชีพตนเอง
อินโดนีเซียในฐานะประเทศทางผ่านและออสเตรเลียในฐานะประเทศปลายทาง ได้รับผลกระทบรุนแรงจากคลื่นผู้อพยพเข้าเมืองที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนรัฐบาลออสเตรเลียประกาศนโยบายการรับคนเข้าเมืองที่เข้มงวดกว่าเดิม ผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายจะถูกส่งตัวไปปาปัวนิวกินี หรือ เกาะนอรู หรือเกาะอื่นๆ ในแปซิฟิก โดยให้เหตุผลว่าต้องผ่านการตรวจร่างกายก่อนอนุญาตเข้าประเทศ โดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องเวลา ระยะหลังนี้รัฐบาลเสนอกฎเหล็าสำหรับผู้ที่เข้าเมืองผิดกฎหมายไม่ว่าจะมาทางทะเล หรือบินเข้าประเทศ หลังวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 จะถูกส่งไปที่ ปาปัวนิวกินี อย่างถาวร
ภาพ: สำนักข่าวเอเอ็ฟพี
นโยบายคุมเข้มดังกล่าว มีผลทำให้กลุ่มสิทธิมนุษยชน และสำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้ทบทวนมาตรการ โดยให้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก แต่ดูเหมือนจะไร้ผล เพราะรัฐบาลออกมาชี้แจงว่า ถ้าให้หนึ่งคนก็จะมีอีกหลายร้อยคนขอลี้ภัยตามมา ซึ่งจะเป็นปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศ
ภาพ: สำนักข่าวเอเอ็ฟพี
ปรากฎการณ์การอพยพลี้ภัยที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ นับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นและหาทางออกยาก โดยไม่เกิดความสูญเสียต่อชีวิตผู้คนนับหมื่น นับแสน เช่น สถานการณ์ล่าสุดในอียิปต์ และซีเรีย และกำลังจะรุกคืบไปที่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง
เสรีภาพเป็นของประชาชนทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจนเพียงไร แต่ดูเหมือนว่าคนยากจนจะรับแรงสั่นสะเทือนมากกว่าหลายเท่า