The Prachakorn

กัญชา กัญชา เป็นยาวิเศษ


ปราโมทย์ ประสาทกุล

22 มกราคม 2562
677



ต้นกัญชา

เมื่อมีข่าวแน่นอนแล้วว่า กัญชาได้หลุดพ้นจากพันธนาการของการเป็นสารเสพติด เปลี่ยนสถานภาพเป็น พืชสมุนไพรที่จะนำไปศึกษา ทดลอง แล้วสกัดเป็นน้ำมัน หรือแปรรูปเป็นสารมีค่าอย่างอื่นได้ ผมก็เกิดความ บันเทิงใจขึ้นมาทันที 

ผมรู้ดีว่ากัญชาเป็นพืชวิเศษที่สามารถกล่อมเกลาให้จิตใจคนผ่อนคลายลงได้ ถ้าเอาผงใบกัญชาแห้ง ใส่ลงไปในแกงไก่หรือแกงเนื้อ แกงนั้นก็จะอร่อยมาก ยากที่จะหาผงชูรสขนิดใดที่มีสรรพคุณเทียมเท่า คนกินแกงเผ็ดใส่ใบกัญชาจะมีอารมณ์ดีเป็นพิเศษ (ผมเองเคยกินแกงเนื้อใส่กัญชามาแล้วเมื่อหลายสิบปีก่อน)

ผมปล่อยอารมณ์เพลินกับกัญชามาครู่ใหญ่แล้ว  ขอเข้าเรื่องที่เป็นสาระหน่อยนะครับ 

สาระของเรื่องมาจากคำเล่าลือที่ว่าคนไทยใช้กัญชาเป็นยามานานนับร้อยๆ ปีแล้ว ผมไปอ่านหนังสือ "คำอธิบาย ตำราพระโอสถพระนารายณ์" ที่เรียบเรียงโดยผู้นิพนธ์ 3 ท่านคือ ศาสตราจารย์ชยันต์ พิเชียรสุนทร  คุณหญิงแม้นมาศ ชวลิต  และ ศาสตราจารย์วิเชียร จีรวงศ์ พบว่าในตำรับยาไทย 81 ตำรับ ที่คณะแพทย์  9 คน ประกอบพระโอสถถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในวาระต่างๆ ในช่วง พ.ศ. 2203-2230 มีอยู่ 2 ตำรับ ที่ปรุงโดยใช้กัญชาเป็นเครื่องยา 

ตำรับที่ 1   ยาในหมวดมีรสร้อน หรือ "อัคคินีวคณะ" ใช้เป็นยาเจริญอาหารและบำรุงธาตุ ตำรับของขุนประสิทธิ โอสถจีน เข้าเครื่องยา 10 ชนิด คือ กัญชา ยิงสม เปลือกอบเชย ใบกระวาน กานพลู สะค้าน ขิงแห้ง รากเจตมูลเพลิง ดีปลี และน้ำตาลกรวด ใช้ในสัดส่วนต่างๆ กันตามลำดับ บดให้ละเอียด ใช้น้ำผึ้งรวงเป็นกระสาย บดกินกับน้ำ (ชยันต์ แม้นมาศ และวิเชียร, 2542 หน้า 77-78)

ผู้นิพนธ์ได้ให้ข้อสังเกตไว้ด้วยว่า  "กัญชาที่ใช้ในปริมาณน้อยๆ เช่นในตำรับนี้ คนไทยรู้จักใช้ในการปรุงแต่งอาหารมาแต่โบราณ เพื่อช่วยให้กินอาหารได้อร่อยขึ้น กินข้าวได้มากขึ้น เป็นยาเจริญอาหาร ปัจจุบันก็พิสูจน์ได้ ในเชิงวิทยาศาสตร์แล้วว่า ในกัญชามีสารที่ช่วยให้กินอาหารได้มีรสชาติมากขึ้น และกินได้ปริมาณมากขึ้น..."    (ชยันต์ และคณะ, 2542 หน้า 78)

ตำรับที่ 2   “ยาทิพกาศ” ใช้แก้ "สารพัดทั้งหลายอันให้ระส่ำระสาย" คือ  “ใช้แก้ความไม่สบายทุกอย่าง โดยเฉพาะที่ทำให้ กินข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ ตกเลือด ตกหนอง ลงแดง ยาตำรับนี้เข้าเครื่องยา 9 ชนิด ตัวยาหลักคือ ใบกัญชา ใช้ 16 ส่วน ตัวยารอง คือ ฝิ่น ใช้ 8 ส่วน และการบูร 4 ส่วน เครื่องยาอื่นๆได้แก่ ยาดำ เทียนดำ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน และพิมเสน ใช้สิ่งละส่วน กัญชาและฝิ่นเป็นยาที่ทำให้กินข้าวได้ นอนหลับ ไม่เจ็บปวดทรมาน ยาดำที่ใช้ในตำรับนี้เป็นยาถ่าย โบราณเชื่อว่าเมื่อถ่ายได้ก็จะกินได้ ผู้ป่วยก็จะแข็งแรง และรู้สึกดีขึ้นเอง ส่วนเครื่อง ยาอื่นๆเป็นยาขับลม และอาจแสดงฤทธิ์อื่นๆ ด้วย ตำราพระโอสถฯให้เอาเครื่องยา ทั้งหมดบด ทำเป็นแท่ง โดยใช้ สุราเป็นกระสาย เมื่อจะกินก็ให้ละลายน้ำกระสาย...” (ชยันต์ และคณะ, 2542 หน้า 99)

เราจะสังเกตเห็นว่า ยาไทยนั้นจะปรุงจากเครื่องยาหลายๆ อย่างรวมกัน ไม่ใช้เครื่องยาชนิดหนึ่งชนิดใดอย่างเดียวโดดๆ อย่างเช่นกัญชาในตำรับยาทั้งสองที่กล่าวมาก็ใช้ร่วมกับพืชสมุนไพรและเครื่องยาอื่นๆ กัญชาอาจเป็นตัวยาหลักที่แสดงฤทธิ์ เช่น บรรเทาอาการเจ็บปวด แต่ก็ต้องมีตัวยารองมาช่วยเสริมฤทธิ์ หรือลดความเป็นพิษ ของตัวยาหลักด้วย

ในหนังสือเล่มนี้ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกัญชา (อาจเขียนว่า กันชา ก็ได้) ไว้ว่า มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Cannabis sativa L. อยู่ในวงศ์ Cannabidaceae มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย แล้วแพร่ไปทั่วโลก เป็นพืชที่ให้เส้นใย เหนียว ใช้ทอผ้าทอ กระสอบได้ เส้นใยจากกัญชาเรียก Hemp หรือ Indian hemp ช่อดอกตัวเมียของกัญชา เรียก "กะหรี่กัญชา"  ตามคำ "curry" ในภาษาแขก (ภาษาอังกฤษ แปลว่า"แกง") เนื่องจากใช้ใส่ในแกงเพื่อทำให้มีรสชาติ ดีขึ้น

กัญชาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายแบบ มีชื่อเรียกต่างๆ กันเช่น 
"Marijuana" เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเอากะหรี่กัญชามาผึ่งให้แห้งในที่ร่มแล้วบดเป็นผงหยาบๆ 
"Ganja" เป็นผงหยาบของดอกและใบแห้ง ที่นำมาอัดเป็นแท่งหรือแผ่นบางๆ 
"Bhang" หรือ "Bang" เป็นผงหยาบของใบที่อาจมีช่อของดอกตัวผู้หรือดอกตัวเมียปนมาบ้างเล็กน้อย จัดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพต่ำ
"Hashish" หรือ "Charas" เป็นยางกัญชาที่ได้จากการนำกะหรี่กัญชามาใส่ไว้ในถุงผ้า แล้วใช้ไม้ทุบให้ยางไหลออกมา จัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความแรงสูง 

กัญชามีชื่อเรียกที่รู้และเข้าใจกันในกลุ่มผู้ใช้ เช่น Weed, Pot, Grass, Joint, Reefer คนไทยใช้กัญชามาแต่โบราณ เพราะเชื่อว่ามีสรรพคุณเป็นยาบำรุง ทำให้เจริญอาหาร ฆ่าเชื้อ ระงับความเจ็บปวด สงบประสาท และทำให้หลับ (ชยันต์ และคณะ, 2542 หน้า 207-209)

กัญชา กัญชา เป็นยาวิเศษ และผมก็เชื่อว่ากัญชาจะช่วยคนไทยได้มากในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต  คนไทยที่เจ็บปวดทุกข์ทรมาน ก็มีทางเลือกที่จะตายอย่างสงบอย่างที่ทุกคนปรารถนา


เอกสารอ้างอิง
ชยันต์ พิเชียรสุนทร แม้นมาศ ชวลิต และวิเชียร จีรวงศ์. 2542. คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์ กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์อมรินทร์.
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th