The Prachakorn

ผลวิจัยชี้!! กิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนไทย ได้เกรด D


กรกนก พงษ์ประดิษฐ์,ปิยวัฒน์ เกตุวงศา

12 กุมภาพันธ์ 2562
376



สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับองค์กร Active Healthy Kids Global Alliance (AHKGA) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดทำโครงการการสำรวจการมีกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนไทย ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยมี นางสาวกรกนก พงษ์ประดิษฐ์ หัวหน้าโครงการ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา เป็นคณะวิจัยหลักในการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งประเด็นเรื่องกิจกรรมทางกายในเด็กนี้ เป็นเรื่องที่ทั่วโลกตระหนักและให้ความสำคัญ

เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบัน พบว่า เด็กและเยาวชนในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ1 และมีพฤติกรรมเนือยนิ่งเคลื่อนไหวน้อยมากเกินไป จึงจำเป็นต้องหาแนวทางเพื่อส่งเสริมกิจกรรมและนโยบายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าว โดยคณะวิจัยและ AHKGA ได้ร่วมกำหนดกรอบการเปรียบเทียบการมีกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนในระดับสากล (Global Matrix ๓.๐) เพื่อให้ประเทศสมาชิกนำไปใช้ในการประเมินสถานการณ์ด้านกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชน โดยการจำแนกตามตัวชี้วัดหลักทั้ง ๑๐ ตัวชี้วัด และทำการประเมินค่าเป็นเกรด ตั้งแต่เกรด A-F และเมื่อวันที่ ๒๖-๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา คณะทำงานได้เข้าร่วมเปิดตัวและแถลงผลข้อมูลการสำรวจของประเทศไทย (Thailand Report Card) ในงานประชุม Movement to Move ณ เมืองแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย ร่วมกับอีก ๔๘ ประเทศทั่วโลก

ผลการสำรวจการมีกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนไทย ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ พบว่า ระดับการมีกิจกรรมทางกายภาพรวมในแต่ละวันของเด็กและเยาวชนไทยได้ D- (ร้อยละ ๒๖.๒) ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ กล่าวคือ เด็กและเยาวชนไทยส่วนใหญ่มีการเคลื่อนไหวออกแรงอยู่ในระดับปานกลางถึงระดับหนักสะสมรวมกันทั้งวันไม่ถึง ๖๐ นาที และเมื่อพิจารณาในรายละเอียด พบว่า ตัวชี้วัดในหมวดพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนได้เกรดค่อนข้างต่ำ เช่น ตัวชี้วัดการเล่นออกแรง (Active Play) ที่เป็นการเล่นแบบไม่มีกฎกติกาหรือมีโครงสร้างที่ชัดเจน เด็กไทยได้เกรด F (ร้อยละ ๘.๗) ขณะที่ตัวชี้วัดพฤติกรรมเนือยนิ่ง โดยเฉพาะพฤติกรรมการใช้หน้าจอเพื่อความบันเทิง2  พบว่า เด็กไทยได้เกรด D- (ร้อยละ ๒๕.๖) 

ขณะที่เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดในหมวดสิ่งแวดล้อมและอิทธิพลจากบุคคลรอบข้าง พบว่า ประเทศไทยได้เกรดอยู่ในระดับที่ดี อาทิ ตัวชี้วัดครอบครัวและบุคคลรอบข้างได้ B (ร้อยละ ๗๑.๐) และตัวชี้วัดโรงเรียนได้ B เช่นกัน (ร้อยละ ๗๐.๑) และสำหรับตัวชี้วัดในด้านยุทธศาสตร์ พบว่า ได้เกรดสูงที่สุด คือ B+ (ร้อยละ ๗๑.๐) ดังรายละเอียดตามภาพ

ผลการสำรวจการมีกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนไทย ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ (ฉบับย่อ)
แหล่งข้อมูล: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล พ.ศ. ๒๕๖๑

จากข้อมูลข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่าครอบครัว โรงเรียน และชุมชน รวมถึงตัวผู้กำหนดนโยบายด้านกิจกรรมทางกายในประเทศไทยได้ให้ความสำคัญและมีความพร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุนการมีกิจรรมทางกายในเด็กและเยาวชนไทยอย่างเต็มที่ หากแต่ยังขาดแนวทาง วิธีการ และเครื่องมือที่เหมาะสมในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนไทยมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ และลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง

ด้วยเหตุนี้ ทางคณะวิจัยจึงประสงค์ที่จะใช้ฐานข้อมูล Thailand Report Card นี้ ให้ทำหน้าที่ในการเป็น ๑) เครื่องมือในการสร้างความตระหนักรู้ให้กับสาธารณชน ๒) เครื่องมือที่ใช้เฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมด้านกิจกรรมทางกายของเด็กและเยาวชนไทยที่เป็นมาตรฐานในการเปรียบเทียบข้อมูลกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ๓) เครื่องมือในการสนับสนุนให้กับผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มองเห็นช่องว่างของงานวิจัยด้านเด็กและเยาวชน และใช้ฐานข้อมูลดังกล่าวเพื่อออกแบบและวางแผนการทำงาน รวมถึงผลักดันให้ผู้กำหนดนโยบายนำไปใช้ในการกำหนดทิศทางของยุทธศาสตร์การส่งเสริมกิจกรรมทางกายระดับชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต 

ทั้งนี้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับ AHKGA ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๗ โดยมีกิจกรรมการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องจากทั่วโลก เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการมีกิจกรรมทางกายในกลุ่มประชากรวัยเด็ก และได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศ High Human Development Index ร่วมกับอีก ๙ ประเทศ ได้แก่ Brazil, Bulgaria, China, Colombia, Ecuador, Lebanon, Mexico, Uruguay และ Venezuela

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดาวน์โหลดไฟล์รายงานฉบับย่อได้โดยการสแกน QR Code นี้


1 ตามข้อแนะนำ WHO เสนอไว้ว่า เด็กและเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 5-17 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางถึงระดับหนักสะสมให้ได้อย่างน้อยวันละ 60 นาทีทุกวัน
2 ตามข้อแนะนำของพฤติกรรมเนือยนิ่งของ Active Healthy Kids Global Alliance (AHKGA) ประเทศแคนาคา แนะนำว่าเด็กอายุ 5-17 ปี ควรใช้หน้าจอเพื่อความบันเทิงรวมแล้วไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง
 


Tags :

CONTRIBUTORS

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th