The Prachakorn

โลกเราเปลี่ยนไปตามวัย


ปราโมทย์ ประสาทกุล

21 กุมภาพันธ์ 2562
780



หลายครั้งที่ผมเขียนขึ้นต้นบทความด้วยวลีว่า “เวลาช่างผ่านไปเร็วเหลือเกิน” หรือที่ฝรั่งพูดว่า “เวลาโบยบิน” (Time flies) ตอนนี้ผมชักเบื่อวลีนี้เสียแล้ว อาจเป็นเพราะว่ามันเป็นความจริงเกินไป เราได้ยินคนพูดทำนองนี้บ่อยมาก โดยเฉพาะในเทศกาลปีใหม่ ซึ่งก็เป็นความจริงที่วันเวลาผ่านไปเร็วมาก เพิ่งขึ้นปีใหม่ 2561 เมื่อไม่นานมานี้เอง ปี 2561 ยังไม่ทันเก่าก็ขึ้นปีใหม่ 2562 อีกแล้ว

ผมเคยแปลเพลง Sunrise, Sunset จากภาพยนตร์เรื่อง Fiddler on the Roof ไว้เมื่อหลายปีก่อน “อาทิตย์ขึ้น อาทิตย์ตก ........” เวลาล่วงผ่านไปตามเส้นทางโคจรของดวงอาทิตย์  จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี จากปีเป็นหลายๆ ปี เด็กที่เราเคยอุ้ม เคยจูง เด็กที่เราเคยเห็นวิ่งเล่นกันอยู่ตามประสาเด็ก ...  อาทิตย์ขึ้น อาทิตย์ตก ... ก็เติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันหมดแล้ว 

ด้วยอาชีพอาจารย์ นักศึกษาที่เคยนั่งอยู่ในห้องเรียนที่เราสอน ... อาทิตย์ขึ้น อาทิตย์ตก ... มาถึงวันนี้ พวกเขามีอาชีพการงาน เป็นผู้ใหญ่ในวัยกลางคน และหลายคนเป็นผู้สูงอายุแล้ว

โลกของเด็กรุ่นใหม่

ผมเห็นเด็กๆ รุ่นหลาน แล้วก็คิดถึงตัวเองเมื่อยังเป็นเด็กน้อยในวัยนี้ วันนี้ผมเห็นเด็กๆ อายุ 3–4 ขวบรู้จักกดปุ่มรีโมทเปิด ปิด เปลี่ยนช่องทีวี รู้จักการใช้โทรศัพท์มือถือที่เรียกว่าสมาร์ทโฟน รู้จักใช้นิ้วเลื่อนจอภาพหาแอปพลิเคชันที่ตนอยากดู รู้จักใช้โทรศัพท์ที่มองเห็นภาพคู่สนทนา บางครั้ง ผมเผลอคิดไปว่าเด็กตัวน้อยๆ เหล่านี้เรียนรู้การใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่

พยายามนึกถึงตัวเองเมื่อ 60 กว่าปีก่อนตอนที่ยังเป็นเด็กน้อยอายุประมาณนี้ มันช่างแตกต่างกันเหมือนอย่างอยู่คนละโลกเลยนะครับ ผมเชื่อว่าเด็กๆ ในวันนี้มองโลกต่างจากเด็กๆ รุ่นผม  สภาพเศรษฐกิจสังคม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างกันอย่างลิบลับ ในขณะที่เด็กรุ่นนี้คุ้นเคยกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่เกิด คนรุ่นผมส่วนใหญ่เพิ่งมาหัดเรียนการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ดิจิทัลเหล่านี้เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

เมื่อผมยังเป็นเด็ก ผู้สูงอายุในสังคมไทยยังมีไม่มากนัก คนอายุ 60 ปีขึ้นไปมีอยู่เพียง 2-3% ของประชากรทั้งหมด คนอายุมากๆ เช่น 80–90 ปีขึ้นไป หาได้ไม่ง่ายนัก ยิ่งคนอายุ 100 ปีก็แทบจะหาไม่ได้เลย สมัยนั้นคุณตาคุณยายที่อายุถึง 70 ปี ก็นับว่า “แก่” มาก จนเรียกได้ว่าเป็นผู้เฒ่าได้อย่างเต็มปากเต็มคำ  จะเรียกคนอายุ 60–70 ปีว่าคุณตาคุณยายก็ไม่กระดากปากผู้เรียกและผู้ถูกเรียกก็ไม่รู้สึกเขินอายหรือไม่สบอารมณ์เหมือนสมัยนี้

แต่ภาพของผู้คนในสมัยนี้ได้เปลี่ยนไปอย่างมาก เด็กๆ สมัยนี้มองเห็นผู้สูงอายุอยู่ทั่วไป ทั้งในครอบครัว ตามถนนหนทาง และตามสถานที่สาธารณะต่างๆ คนอายุ 60 ปีขึ้นไปมีมากถึงเกือบ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด แถมคนอายุมากๆ สมัยนี้ ส่วนใหญ่ยังมีรูปร่างท่าทางที่ดูไม่ออกว่าเป็นผู้สูงอายุแล้ว เด็กๆ สมัยนี้จะคุ้นเคยกับผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมไม่แตกต่างจากคนหนุ่มสาว คนอายุ 70–80 ปีจำนวนมากที่ยังคล่องแคล่วกระฉับกระเฉง ทำงาน ร้องเล่นเต้นรำกระปรี้กระเปร่าเหมือนกับหนุ่มๆ สาวๆ 
 

ภาพ: www.th.pngtree.com

เด็กๆ ในวันนี้คือผู้สูงอายุในวันหน้า

“เด็กวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” เป็นคำขวัญวันเด็กในปีหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว พูดอีกก็ถูกอีก เด็กๆ วันนี้ต้องเจริญวัยเป็นหนุ่มเป็นสาว เข้าสู่วัยกลางคน และกลายเป็นผู้สูงอายุในวันหน้า เด็กๆ รุ่นใหม่เหล่านี้จะมีอายุยืนยาวขึ้นอย่างแน่นอน การพัฒนาสังคมสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีจะช่วยขจัดสาเหตุการตายของคนรุ่นใหม่ให้น้อยลง ถ้าเราเชื่อมั่นในสติปัญญา และความสามารถของมนุษย์ โรคสำคัญหลายโรคทั้งที่เป็นโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ จะมีทางป้องกันและรักษาได้ คนรุ่นใหม่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินการอยู่ของตนเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นคนพิการ พึ่งตัวเองไม่ได้เมื่อมีอายุสูงขึ้น

เด็กๆ รุ่นใหม่ที่ผมพูดถึงอยู่นี้ เกิดมาในช่วงที่อัตราเกิดของประชากรไทยลดต่ำ.ลงมากแล้ว ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีเด็กไทยเกิดปีละ 7 แสนกว่าคนเท่านั้น แม้จะเกิดน้อย แต่เด็กๆ เหล่านี้จะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกยาวนาน ผมได้เอาตารางชีพแบบจำ.ลองของสหประชาชาติมาดู แล้วก็ประมาณอย่างคร่าวๆ ว่าเด็กรุ่นใหม่ที่ตอนนี้อายุต่ำกว่า 10 ปี ในจำนวน 100 คนที่เกิดมาในแต่ละปี  จะมีคนที่อยู่รอดไปจนอายุ 60 ปี ถึง 90 คน อยู่รอดถึงอายุ 70 ปีถึง 85 คน อยู่ถึงอายุ 80 ปี 80 คน ถึง 90 ปี 70 คน และจะมีอายุยืนยาวถึง 100 ปีเป็นศตวรรษิกชนมากถึง 30 คน ยิ่งไปกว่านั้น เด็กที่เกิดใหม่ในปีนี้ทุก 100 คน น่าจะมีคนที่อายุยืนยาวถึง 110 ปี เป็น “อภิศตวรรษิกชน” สัก 2–3 คน และอาจจะมีสักคนหนึ่งอายุยืนยาวถึง 120 ปีก็ได้

เด็กๆ ในวันนี้ ในอีก 70 ปีข้างหน้า

ผมลองนึกภาพเด็กๆ ในวันนี้ที่จะมีชีวิตผ่านกาลเวลา ... อาทิตย์ขึ้น อาทิตย์ตก ... เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 70 ปีในวันหน้า  ในเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในอนาคตอันไกลถึงเกือบ 100 ปีข้างหน้านั้นเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา แต่ภาพอนาคตที่พอจะประมาณได้คือ ขนาดและโครงสร้างอายุของประชากรในอีก 70 ปีข้างหน้า 

ในปี 2630 เมื่อเด็กๆ รุ่นใหม่ในวันนี้มีอายุ 70–80 ปี ถ้าไม่นับรวมคนต่างชาติที่ย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ในประเทศไทยแล้ว การที่มีเด็กเกิดน้อยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาราวหนึ่งศตวรรษจะทำให้จำนวนประชากรไทยในอีก 70 ปีข้างหน้าลดน้อยลงเหลือเพียงประมาณ 49 ล้านคนเท่านั้น ในจำนวนนี้จะเป็นเด็กอายุต่ำว่า 15 ปี ประมาณ 7 ล้านคน หรือ 14% เป็นคนในวัยแรงงาน อายุ 15 – 64 ปี จำนวน 26 ล้านคน หรือ 53% และเป็นผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 16 ล้านคน หรือ 33% 

พีระมิดประชากรไทย พ.ศ. 2630
 
 

“คนรุ่นเกิดล้าน” ต้องเร่งเตรียมตัวเป็นผู้สูงอายุ

ในขณะนี้ ประชากรไทยกำลังมีอายุสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เรากำลังกังวลกันว่า ในอนาคตอันใกล้ อีก 20 ปีข้างหน้า คนไทยในวัยแรงงาน (อายุ 15-59 ปี) จะลดจำนวนลงจาก 43 ล้านคนในปัจจุบัน เหลือเพียง 36 ล้านคน คนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีมากขึ้นจาก 11 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 20 ล้านคน เราจะทำอย่างไรกับแรงงานที่ลดลง และเราจะทำอย่างไรกับผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว

“คนไทยรุ่นเกิดล้าน” (เกิด พ.ศ. 2506-2526) ซึ่งตอนนี้มีอายุ 35–55 ปี เป็นกลุ่มที่น่ากังวลเพราะอีกเพียงไม่กี่ปีพวกเขาก็จะเป็นผู้สูงอายุแล้ว พวกเขาจะปรับพฤติกรรมการกิน การอยู่ การออกกำลังกาย การออม และพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ทันหรือไม่ คนเราต้องมีพฤติกรรมที่ดีเกี่ยวกับสุขภาพ และการออมมาตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อที่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี และมีความมั่นคงในชีวิตในอนาคต คนรุ่นเกิดล้านซึ่งนับว่าเข้าสู่วัยกลางคนแล้วควรต้องเร่งปรับพฤติกรรมและวิถีชีวิตของตัวเองให้ทันการณ์

แต่ไหนแต่ไรมาเราแบ่งชีวิตของคนออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ ศึกษาเล่าเรียนในวัยเยาว์ ทำงานในวัยหนุ่มสาวถึงกลางคน และเกษียณจากการทำงานเพื่อพักผ่อนเมื่อสูงอายุ ต่อไปนี้ คนรุ่นใหม่อาจเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเองมาเป็นการผสมผสานกันของกิจกรรมชีวิตทั้ง 3 ขั้นตอน คนรุ่นใหม่อาจศึกษาเล่าเรียนโดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะในช่วงแรกเท่านั้น หากแต่คนรุ่นใหม่จะมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต คนรุ่นใหม่อาจทำงานไปเรื่อยๆ แม้จะมีอายุมากแล้ว  เกษียณก็ต่อเมื่อถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต แต่การทำงานนั้นอาจจะเปลี่ยนเป็นรูปแบบที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ทำงานโดยใช้เวลาน้อยลง หรือทำงานกับพักผ่อนสันทนาการไปพร้อมๆ กัน

ขณะนี้เด็กๆ รุ่นใหม่คงพอจะเห็นภาพตัวเองในอนาคตได้บ้างแล้ว พวกเขาจะเห็นว่าต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกยาวนาน พวกเขาจะได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีที่จะทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น การมีอายุยืนยาวถึง 80–90 ปี หรือแม้กระทั่งอายุเกินร้อยปีจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับพวกเขา ผมเชื่อว่า เด็กๆ รุ่นใหม่ในวันนี้จะปรับพฤติกรรมการกิน การอยู่ของตนเอง เพื่อให้ตัวเองเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต เป็นผู้สูงอายุที่ไม่เป็นภาระของคนอื่น มีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงผู้ใด และจากโลกนี้ไปอย่างสงบไม่ทุกข์ทรมาน เมื่ออายุประมาณ 100 ปี

ผมอยากมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกสัก 70 ปี เพื่อได้เห็นเด็กๆ ในวันนี้เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุพอๆ กับผมในวันนี้

ภาพ: www.th.pngtree.com


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th