The Prachakorn

ปรับเปลี่ยน ‘คุก’ ไทยให้เป็น ‘เรือนจำ.สุขภาวะ’: ว่าด้วยความป่วยไข้และสาธารณสุขมูลฐาน


กุลภา วจนสาระ

04 มีนาคม 2562
542



กำแพงสูงและรั้วลวดหนามที่กั้นรอบขอบชิดของ ‘คุก’ สร้างระยะห่างชัดเจนระหว่างผู้คนที่มีชีวิตอยู่ในเรือนจำและทัณฑสถานกับสังคมภายนอก ทั้งไม่อาจรับรู้ความเป็นอยู่ภายใน และลืมไปได้โดยง่ายว่า ‘ผู้ต้องขัง’ หรือ ‘พวกเขา’ ที่อยู่ในนั้นต่างก็เป็นมนุษย์และเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยเช่นเดียวกัน กว่าหนึ่งทศวรรษที่มีการทำงานวิจัยเชิงนโยบายและนำเสนอชีวิตอันซับซ้อนของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำไทยออกสู่สาธารณะ สังคมไทยจึงค่อยรับรู้เรื่องราวหลังกำแพงนั้นว่ากำลังอยู่ในสถานการณ์ผู้ต้องขังล้นคุกเพียงใด ยิ่งจำนวนคนล้นคุก ก็ยิ่งยากที่จะมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีได้

แต่ข้อเสนอจากงานวิจัยเชิงนโยบายที่ท้าทายสังคมไทยในยามนี้ก็คือ การขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยน ‘คุกไทย’ จากสถาบันแห่งการลงโทษ ไปสู่ ‘เรือนจำสุขภาวะ’

ข้อเสนอดังกล่าวเป็นการทำ.งานร่วมกันจากทั้งการวิจัยเชิงนโยบาย การวิจัยเชิงพัฒนาเรือนจำต้นแบบ และการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและดูแลสุขภาวะของผู้ต้องขังหญิง ในช่วง พ.ศ. 2555–2559 รวมทั้งการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อความมั่นคงทางสุขภาพสำหรับผู้ต้องขัง พ.ศ. 2560-2562 ซึ่งได้เน้นย้ำอีกครั้งในการประชุม “การเดินทางของเรือนจำสุขภาวะ” เมื่อวันที่ 17-18 ธันวาคม 2561 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ ว่าการทำงานด้านสุขภาพในเรือนจำเป็นทั้งความท้าทายและวาระสำคัญของยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ต้องขังซึ่งส่วนใหญ่มีความเปราะบางด้านสุขภาพอยู่แล้วนั้นสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ตามสิทธิพื้นฐานที่ควรจะได้รับ ไม่ว่าจะมีสถานะทางกฎหมายและทางสังคมอย่างไรก็ตาม 

โดยแนวทางการปรับเปลี่ยนที่สำคัญได้แก่ การคำนึงถึงเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ที่กำหนดสุขภาพของผู้ต้องขัง และสร้างระบบบริการสุขภาพแบบบูรณาการในเรือนจำ1 การสนับสนุนวิถีการดำรงชีวิตที่ส่งเสริมสุขภาพองค์รวมของผู้ต้องขัง ภายใต้แนวคิดศูนย์กลางชีวิตมนุษย์ คือ สุขภาพ ด้วยหัวใจของสาธารณสุขมูลฐาน คือ การปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม2 รวมทั้งบูรณาการกระบวนการฟื้นฟูผู้ต้องขังเข้าไปในวิถีการดำรงชีวิตตลอด 24 ชั่วโมงในเรือนจำ ด้วยการสร้างสภาวะปกติให้ชีวิตในเรือนจำแตกต่างจากชีวิตในสังคมทั่วไปให้น้อยที่สุด เพื่อไม่ต้องมีกระบวนการกลับคืนสู่สังคมอีก3 
 

ภาพประกอบจาก https://pixabay.com
 


1กุลภา วจนสาระ. (2561). ป่วยไข้ในเรือนจำ.: ปัญหาสุขภาพและการเข้าถึงบริการ. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.
2กฤตยา อาชวนิจกุล และกุลภา วจนสาระ. (2561). สาธารณสุขมูลฐาน: พื้นฐานสุขภาวะผู้ต้องขังหญิง. นครปฐม: สมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม.
3นภาภรณ์ หะวานนท์ และธีรวัลย์ วรรธโนทัย. (2561). วิถีเรือนจำ.สุขภาวะ. กรุงเทพฯ: โครงการเรือนจำสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).
 


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th