The Prachakorn

สาระสำคัญของ (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศฉบับประชาชน


สุชาดา ทวีสิทธิ์

593



“เพศ” เป็นสาเหตุหนึ่งของความไม่เท่าเทียมและเป็นที่มาของการกระทำความรุนแรงที่ส่งผลกระทบทาง กาย จิตใจ สังคม และเศรษฐานะของบุคคล อคติทางเพศที่ดำรงอยู่ในวัฒนธรรมเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่สร้างปัญหารูปธรรมมากมาย เช่น การกีดกันด้านการศึกษา อาชีพ ค่าจ้าง โอกาสก้าวหน้าในตำแหน่งงาน การเข้าถึงบริการสาธารณะ การมีส่วนร่วมทางการเมือง ความรุนแรงทางเพศ รวมทั้งการคุกคามทางเพศ เป็นต้น ถ้าหากการผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศประสบความสำเร็จ ย่อมชี้ว่าสังคมไทยได้พัฒนาไปสู่ความศิวิไลซ์เชิงเนื้อหาสาระจริงๆ ไม่ใช่ศิวิไลซ์แค่ในเชิงวัตถุเท่านั้น ที่กล่าวเช่นนั้น เพราะว่ากฎหมายนี้หยิบยกเอาอคติทางเพศที่มองไม่เห็นหรือมองข้ามกันมานานมาแก้ไข โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ผู้เขียนจึงอยากเก็บเอาสาระใน (ร่าง) กฎหมายนี้มานำเสนอ เพื่อให้ผู้อ่านเกิดการรับรู้อย่างถูกต้องเกี่ยวกับกฎหมายนี้ โดยแบ่งเป็น 3 ประเด็น ดังนี้

ความครอบคลุมของการคุ้มครอง หลายคนเข้าใจผิดว่าร่างกฎหมายนี้คุ้มครองแต่เฉพาะผู้หญิง จึงรู้สึกต่อต้านและอาจไม่สนับสนุนให้กฎหมายนี้ผ่านรัฐสภาออกมาบังคับใช้ ความจริงที่ควรทราบก็คือ กฎหมายนี้หากคลอดออกมา จะคุ้มครองคนทุกเพศ (หญิง ชาย และ เพศอื่นๆ) เพราะกฎหมายนี้เน้นว่า การกระทำหรือไม่กระทำการใดอันเป็นการแบ่งแยก กีดกัน ไม่ยอมรับ และจำกัดสิทธิ หรือทำให้เสียสิทธิประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเพราะเหตุแห่งเพศ ตลอดจนการทำความรุนแรงและการคุกคามทางเพศ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย  นอกจากนี้ ยังห้ามไม่ให้หน่วยงานของรัฐ หรือ องค์กรเอกชนใดๆ กำหนดนโยบาย กฎ ระเบียบ มาตรการ โครงการ หรือ วิธีปฏิบัติ ในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศไว้อีกด้วย หน่วยงานและองค์กรจึงต้องแก้ไขระเบียบภายในที่มีอยู่เดิมซึ่งก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ

กลไกของการคุ้มครอง คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ (วลพ.) เป็นกลไกอิสระหลักที่กฎหมายนี้บัญญัติให้มีขึ้น เพื่อทำหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน และตรวจสอบว่ามีการละเมิดสิทธิจริงหรือไม่ ผู้เสียหายจากการถูกเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ หรือ ผู้เสียหายจากการถูกกระทำความรุนแรงเพราะเหตุแห่งเพศ ซึ่งอาจเป็นผู้ชาย ผู้หญิง หรือเพศอื่นๆ สามารถใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือปกป้องสิทธิของตนเองได้ตามระบอบประชาธิปไตย โดยสามารถยื่นคำร้องต่อ วลพ. ถ้าหาก วลพ. ตรวจสอบและวินิจฉัยแล้วพบว่ามีการละเมิดสิทธิหรือเลือกปฏิบัติจริง ก็มีคำสั่งให้ปฏิบัติตามมาตรการช่วยเหลือ คุ้มครองสิทธิ บรรเทาทุกข์ และชดเชยในฐานะผู้เสียหาย ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด

กฎหมายนี้ไม่ได้มีจุดยืนเพื่อลงโทษ แต่เป็นกฎหมายที่มีข้อบัญญัติเพื่อให้เกิดการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาค อีกทั้งไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อลงโทษผู้ชายเป็นหลัก แต่ออกแบบมาโดยเอาคนที่ถูกละเมิดสิทธิหรือถูกเลือกปฏิบัติเป็นศูนย์กลาง และเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำผิด กฎหมายนี้จึงได้บัญญัติบทลงโทษเอาไว้ด้วย คนที่กระทำผิดคือละเมิดสิทธิหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 360,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีเป็นการกระทำแก่ผู้สืบสันดาน ศิษย์ ลูกจ้าง ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ผู้อยู่ในความปกครอง ผู้กระทำผิดต้องระวางโทษหนักกว่าที่กล่าวมา ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจเหนือกว่าใช้อำนาจของตนกระทำกับผู้ที่ด้อยอำนาจกว่า

กลไกของการส่งเสริมโอกาส กฎหมายนี้บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่า กองทุนส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยให้นำเงินร้อยละ 1 ของงบประมาณแผ่นดินในปีหนึ่งๆ มาเข้ากองทุนฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ประกอบด้วย (1) เพื่อกิจกรรมหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาศักยภาพสตรี รวมทั้งการส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ (2) เพื่อคุ้มครองและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศและความรุนแรงเพราะเหตุแห่งเพศ (3) เพื่อช่วยเหลือหรือบรรเทาทุกข์แก่บุคคลที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ (4) เพื่อการสอดส่องดูแลและให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาเกี่ยวกับการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ (5) เพื่อส่งเสริมการศึกษา การวิจัย ประเมินผล และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน มิให้เกิดการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศและความรุนแรงเพราะเหตุแห่งเพศ (6) เพื่อการติดต่อ ประสานงาน สนับสนุนให้หน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มีส่วนร่วมในการดำเนินงานส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ ตลอดจนขจัดการเลือกปฏิบัติและการกระทำความรุนแรงเพราะเหตุแห่งเพศ

คงต้องช่วยกันลุ้นให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หยิบเอา (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศฉบับที่ประชาชน และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เสนอไปเมื่อหลายเดือนที่แล้ว เข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเสียที อย่าให้ต้องกลายเป็นกฎหมาย ‘ชายขอบ’ ที่รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญเหมือนที่ผ่านๆ มาเลย


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th