โดยเฉลี่ยเมื่ออายุ 60 ปี หากตีคร่าวๆ ว่า คนไทยสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวต่อไปได้อีกประมาณ 20 ปี1 ผลการศึกษาที่ประยุกต์ใช้แนวคิดการจัดทำบัญชีกระแสการโอนประชาชาติ พ.ศ. 2560 ภายใต้ชุดโครงการ “นโยบายเพื่อความมั่นคงทางประชากรของประเทศไทย” สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ในตลอดช่วงเวลาชีวิตดังกล่าว โดยเฉลี่ยผู้สูงอายุไทยมีค่าใช้จ่ายในการบริโภคเพื่อครองชีพ รวมอยู่ที่ประมาณ 2.45 ล้านบาท หรือตกประมาณปีละกว่า 1.2 แสนบาท (ยังไม่พิจารณาอัตราเงินเฟ้อ) ในจำนวนเงินค่าใช้จ่ายต่อปีนี้ พบว่า ประมาณ 33,000 บาท มาจากรายได้จากการทำงาน2 ประมาณ 20,000 บาท ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในลักษณะการโอนทางเศรษฐกิจผ่านบริการและสวัสดิการสาธารณะ รวมถึงเงินช่วยเหลือต่างๆ เช่น เบี้ยยังชีพ3 ประมาณ 52,000 บาท มาจากรายได้ที่เกิดจากสินทรัพย์หรือเงินออมของตัวเอง และอีกประมาณ 17,000 บาท (ดูภาพประกอบ) มาจากลูกหลานหรือญาติในครอบครัวที่โอนให้หรือสนับสนุนช่วยเหลือในการเลี้ยงดู ทั้งในลักษณะที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน
จากตัวเลขเหล่านี้ ถ้าท่านคิดว่า ในยามสูงวัยที่อายุ 60 ปีขึ้นไปท่านน่าจะยังพอทำงานไหวเพื่อยังคงมีรายได้บางส่วนจากการทำงานและมีลูกหลานหรือญาติที่จะคอยเกื้อกูลดูแลได้ อย่างน้อยเพื่อที่จะสามารถดำรงชีพได้ในระดับค่าเฉลี่ยของคนไทย ท่านก็ควรต้องมีสินทรัพย์หรือเงินออมที่สามารถสร้างรายได้ หรือผลตอบแทนให้ได้อย่างน้อย 52,000 บาทต่อปี (เป็นระยะเวลา 20 ปี) ถามว่า ต้องเตรียมสินทรัพย์หรือเงินออมนั้นสักเท่าไร ตรงนี้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบการออมหรือการลงทุนและผลตอบแทนที่ท่านคาดว่าจะได้รับ หากท่านไม่คิดมาก ฝากเงินแบบเผื่อเรียกซึ่งให้ดอกเบี้ยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 0.5 ต่อปี จะให้ได้เงินหรือผลตอบแทนที่ประมาณ 52,000 บาทต่อปี ท่านก็คงต้องฝากสัก 10.4 ล้านบาท แต่ถ้าท่านติดอาวุธมีความรู้ด้านการลงทุนสักเล็กน้อย เพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากเงินเก็บที่มีสักร้อยละ 2 ต่อปี สินทรัพย์หรือเงินเก็บ 2.6 ล้านบาทก็น่าจะพอ (หรือ ถ้าท่านคิดว่าจะมีชีวิตอยู่ต่ออีกเพียง 20 ปีแน่ๆ และไม่ทิ้งมรดกไว้ให้ใคร 52,000 คูณ 20 ปี = 1.4 ล้านบาท ก็เพียงพอ)
แต่เดี๋ยว...อย่างไรก็อย่าลืมว่า ถ้าท่านคิดว่าน่าจะทำงานต่อไปไม่ไหวหลังอายุ 60 ปี หรือ ถ้าท่านเป็นลูกคนเดียวของครอบครัว เป็นโสด หรือ แต่งงานแต่ไม่มีลูก หรือหลาน ที่จะมาคอยช่วยเหลือดูแลในยามสูงวัย ท่านก็คงต้องมีเก็บเงินหรือลงทุนให้ได้ผลตอบแทนสูงกว่านี้ คิดเร็วๆ ก็คือ ตกเฉลี่ยประมาณปีละ 52,000 + 33,000 + 17,000 = 102,000 บาท หรือตีเสียว่า ต้องเตรียมเก็บเงินไว้เพิ่มขึ้นอีกสักเท่าตัวจากที่เราคุยกันไว้ที่ย่อหน้าที่แล้ว
ข้อมูลและข้อค้นพบเชิงประจักษ์นี้ สะท้อนให้สังคมไทยเห็นว่าในบริบทที่คนไทยแต่งงานมีลูกกันน้อยลง ขณะที่ความครอบคลุมของระบบบำเหน็จบำนาญและสิทธิประโยชน์ รายได้ชราภาพยังมีค่อนข้างน้อย (แม้จะมีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่ในอนาคตที่ผู้สูงอายุไทยมีมากขึ้นต่อเนื่อง ภาครัฐเองก็มีขีดจำกัดในการสนับสนุนจากภาระทางการคลังที่สูงขึ้น) เราคงคาดหวังการช่วยเหลือจากครอบครัว หรือจากภาครัฐได้น้อยลง การพึ่งพาตนเองและเตรียมตัวสูงอายุ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ หรือพูดง่ายๆ คือ เตรียมเก็บออม และรู้จักลงทุนให้เงินออมและสินทรัพย์นั้นงอกเงยเพื่อเป็นแหล่งรายได้ในช่วงสูงวัย รักษาสุขภาพให้ดีเพื่อให้ทำงานได้นานขึ้น เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนที่ยังไม่สูงวัย ต้องตระหนักและวางแผน
ที่มา: โครงการวิจัย “การโอนทางเศรษฐกิจข้ามรุ่นประชากรไทย พ.ศ. 2560” ภายใต้ชุดโครงการ “นโยบายเพื่อความมั่นคงทางประชากรของประเทศไทย” สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพปก Photo by rawpixel.com from Pexels
อ้างอิง
1 ในรายละเอียด อายุคาดเฉลี่ยที่อายุ 60 ปีของคนไทย (จำนวนปีเฉลี่ยที่คาดว่าผู้ที่อายุ 60 ปี จะมีชีวิตอยู่ต่อไป) สำหรับผู้ชาย คือ 17.1 ปี และ สำหรับผู้หญิง คือ 22.8 ปี (ที่มา: สารประชากรมหาวิทยาลัยมหิดล ปีที่ 28 มกราคม 2562)
2 รายได้ในส่วนนี้ค่อนข้างสูงในช่วงอายุ 60-64 ปี แล้วค่อยๆ ลดลงไป โดยมีค่าเฉลี่ยตลอดช่วง 20 ปี จากที่อายุ 60 ปี ที่ประมาณ 33,000 บาท
3 ในที่นี้ รวมเงินบำเหน็จบำนาญด้วย ซึ่งมีผู้สูงอายุเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นที่ได้รับ