The Prachakorn

เชื่อมือคนรุ่นใหม่ รับมือสังคมสูงวัยในอนาคต


ปราโมทย์ ประสาทกุล

05 เมษายน 2562
620



เช้านี้ ผมต้องเข้าร่วมพิธีเปิดการอบรม “ประเด็นจริยธรรมการวิจัยทางสังคมศาสตร์” (8 มีนาคม 2562) ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ผมออกมาแล้วต้องเดินกลับเข้าไปห้องทำงานอีกถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเพราะลืมหยิบโทรศัพท์ติดมือมา (เดี๋ยวนี้โทรศัพท์เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต) ครั้งที่สองลืมแว่นตา (ถึงไม่จำเป็นสำหรับผมมากนัก แต่ถ้าใส่แว่นตาด้วยก็จะทำให้การอ่านและเขียนหนังสือสบายตาขึ้นมาก)

ในรอบปีที่ผ่านมานี้ ผมลืมสิ่งของจำเป็นหรือลืมทำในสิ่งที่ควรทำบางอย่างบ่อยครั้งขึ้น ลืมเอาโทรศัพท์ติดตัวเมื่อขับรถออกจากบ้านมาแล้ว ลงจากรถแล้วลืมเปิดประตูรถทิ้งไว้ (เคยลืมเปิดประตูรถทิ้งไว้นานเป็นชั่วโมง) ลืมว่าเอาเอกสารบางชิ้นไปวางไว้ที่ไหน การหลงลืมอย่างนี้ ทำให้ผมกังวลอยู่เหมือนกันว่าตัวเองเริ่มมีอาการสมองเสื่อมแล้วหรืออย่างไร แต่ผมก็ยังคิดในทางบวกว่า ลืมเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ยังไม่น่าจะเป็นอาการสมองเสื่อม ผมเป็นเพียง “ขาดสติ” ถ้าผมลืมเพราะขาดสติ วิธีการแก้ไขก็ง่าย เพียงแต่พยายามกำหนดตัวเองให้มีสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเวลา อาการหลงลืมต่างๆ ก็อาจบรรเทาลงได้

ข้อเสนอปรับนิยามผู้สูงอายุ

ผมขอบันทึกกิจกรรมของผมเมื่อวานนี้ (7 มีนาคม 2562)  เรื่องหนึ่งไว้เพื่อเป็นหลักฐานในวันหน้า

คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ได้ให้เกียรติเชิญผมไปนำเสนอประเด็น “นิยามผู้สูงอายุ” ในการประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2562 ที่ทำเนียบรัฐบาล (คณะกรรมการฯ ชุดนี้มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน)

ประเด็นที่ผมนำเสนอคือ ให้เปลี่ยนนิยามของคำว่า “ผู้สูงอายุ” ซึ่งบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 3 “ผู้สูงอายุหมายความว่าบุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย” ให้เป็นว่า “ผู้สูงอายุหมายความว่าบุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์ขึ้นไป”

เหตุผลที่ผมขอให้มีการเปลี่ยนนิยาม  “ผู้สูงอายุ” โดยเลื่อนอายุให้สูงขึ้นจาก 60 ปี เป็น 65 ปี ก็เพราะปัจจุบันคนไทยมีอายุยืนยาวขึ้นมาก เมื่อ 50 – 60 ปีก่อน คนไทยที่มีอายุถึง 60 ปี
ก็จะมีอายุที่เหลืออยู่โดยเฉลี่ยอีกไม่ถึง 15 ปี แต่เดี๋ยวนี้ คนไทยที่มีอายุ 60 ปี จะมีอายุที่เหลืออยู่โดยเฉลี่ยอีกนานถึง 22 – 23 ปีในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า คนไทยจะยิ่งมีอายุคาดเฉลี่ยยืนยาวขึ้นอีก คนที่อายุ 60 ปีแล้วก็จะยังมีชีวิตอยู่ได้โดยเฉลี่ยอีกนานถึง 25 – 26 ปี

ประเทศไทยจึงควรปรับนิยาม “ผู้สูงอายุ” ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอายุของประชากร ซึ่งเปลี่ยนไปอย่างมากในรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้ 

อย่างที่พวกเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าประชากรไทย ซึ่งเคยเป็นประชากรอายุน้อย ได้กลายเป็นประชากรสูงอายุในปัจจุบัน เมื่อ 50 ปีก่อน ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมีอยู่ไม่ถึงร้อยละ 5 ของประชากรทั้งหมด (พ.ศ. 2513 ประเทศไทยมีประชากร 34 ล้านคน แต่ปี 2562 ประมาณว่าประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกือบร้อยละ 18 ของประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน) อีก 20 ปีข้างหน้า ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีสัดส่วนสูงขึ้นถึงเกือบร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด

ผมเชื่อว่าการปรับนิยามผู้สูงอายุใน พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 จะเป็นปัจจัยผลักดันให้ผู้สูงอายุไทยมีพลังและยังคงอยู่ในกำลังแรงงานต่อไปอีกนานขึ้น ช่วยปรับทัศนคติให้คนไทยมีความรู้สึกว่าอายุ 60 ปีต้นๆ ยังไม่แก่ และยังคงมีพลังที่จะทำงานต่อไปได้

ผลของการปรับนิยามผู้สูงอายุ ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการปรับแก้ความหมายของ พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 คือเรื่องสิทธิที่ผู้สูงอายุจะได้รับ พ.ร.บ. ฉบับนี้ มาตรา 11 ได้กำหนดสิทธิของผู้สูงอายุ ที่จะได้รับการคุ้มครองการส่งเสริมและการสนับสนุนในด้านต่างๆ 13 ประการ เช่น ได้รับการบริการทางการแพทย์ และการสาธารณสุขที่รวดเร็วและสะดวกเป็นกรณีพิเศษ การประกอบอาชีพและฝึกอาชีพที่เหมาะสม การได้รับลดหย่อนค่าโดยสารยานพาหนะสาธารณะ การได้รับยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ แต่สิทธิประโยชน์ที่สำคัญ คือ การได้รับเงินเบี้ยยังชีพจากรัฐเป็นรายเดือน

(เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปัจจุบันเป็นสวัสดิการสำคัญที่รัฐให้แก่คนไทย ขณะนี้รัฐให้เบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับบำนาญจากช่องทางอื่น เช่น บำนาญราชการ หรือบำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคม อัตราการจ่ายเบี้ยยังชีพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือ ผู้ที่มีอายุหลักหกสิบปีได้รับเบี้ยยังชีพ 600 บาท อายุหลักเจ็ดสิบปีได้ 700 บาท อายุหลักแปดสิบปีได้ 800 บาท หลักเก้าสิบปีได้ 900 บาท และหลักร้อยปีได้ 1,000 บาท ลองคิดดูง่ายๆ ก็แล้วกันนะครับว่าในอนาคต เมื่อประชากรสูงอายุเพิ่มจำนวนมากขึ้นทั้งจากการที่ประชากรรุ่นเกิดล้านจะเคลื่อนเข้าสู่วัยสูงอายุ และประชากรสูงอายุที่จะมีอายุยืนยาวขึ้นอีก งบประมาณรายจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาลเพียงใด)

พีระมิดประชากร

ผมได้เสนอว่า ถ้าจะปรับนิยามผู้สูงอายุ จาก 60 ปี เป็น 65 ปีขึ้นไป ควรจะต้องให้กระทบสิทธิของผู้สูงอายุน้อยที่สุด ด้วยการมีบทเฉพาะกาลที่เลื่อนอายุที่จะได้รับสิทธิตามมาตรา 11 อย่างค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ เลื่อนอายุขึ้นไปทีละปีๆ ซึ่งจะใช้เวลานานประมาณ 8 ปีกว่าที่จะเลื่อนอายุผู้สูงอายุจาก 60 ปี เป็น 65 ปีได้อย่างสมบูรณ์

คณะกรรมการยังไม่รับข้อเสนอ

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบางท่านยังไม่เห็นด้วย เหตุผลคือข้อเสนอของผมไม่ได้พิจารณาอย่างรอบด้าน การเปลี่ยนนิยามผู้สูงอายุใน พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 จะมีผลกระทบต่อกฎหมายอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก กรรมการบางท่านยังเป็นห่วงเรื่องสิทธิที่ผู้สูงอายุวัย 60 – 64 ปีจะเสียไป เหตุผลที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้คือ ต้องมีการศึกษาผลกระทบให้รอบด้านกว่านี้  ซึ่งเป็นคำตอบปฏิเสธไม่รับข้อเสนอของผมอย่างสุภาพ 

เป็นอันว่า การนำเสนอ “ประเด็นนิยามผู้สูงอายุ” ของผมไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติอีกครั้งหนึ่ง

แต่แปลกที่คราวนี้ผมไม่รู้สึกผิดหวังแต่อย่างใด

ไม่รู้สึกผิดหวังแต่เสียดาย

ผมไม่รู้สึกผิดหวังอาจเป็นเพราะขณะนี้ผมมีอายุมากขึ้นจนเข้าสู่ความเป็น “ผู้สูงอายุวัยกลาง” แล้ว ได้ผ่านประสบการณ์ชีวิตมามากพอสมควร จึงสามารถเปิดใจยอมรับความเห็นต่างของผู้อื่นได้มากขึ้น อย่างเรื่องการปรับนิยามผู้สูงอายุในครั้งนี้ ผมคิดในทางที่ว่าจะใช้คำนิยามผู้สูงอายุว่าหมายถึงบุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเป็นตัวนำสังคม ให้ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุเป็นเครื่องมือชักนำให้คนในสังคมไทยมีมโนทัศน์ใหม่ว่า อายุ 60 ปี ยังไม่เป็นผู้สูงอายุ ยังสามารถมีพลังและยังอยู่ในกำลังแรงงาน ต้องการให้ความหมายของผู้สูงอายุใน พ.ร.บ. ฉบับนี้นำให้กฎระเบียบและมาตรการอื่นๆ ทั้งของรัฐและเอกชนต้องปรับล้อตาม อยากเห็น พ.ร.บ. ผู้สูงอายุเป็นกฎหมายนำทางเพื่อให้ผู้สูงอายุจะยังคงมีพลังและยังประโยชน์ให้นานที่สุด แต่ผู้ทรงคุณวุฒิคนอื่นอาจจะคิดต่างจากผม เช่น เห็นว่าเมื่อเปลี่ยนนิยามผู้สูงอายุในชุดนี้ก็จะไปมีผลกระทบต่อกฎหมายและมาตรการอื่นๆ จึงต้องมีการศึกษาให้รอบด้านก่อน

ผมไม่รู้สึกผิดหวังเพราะคิดว่าผมได้ทำหน้าที่ของผมแล้ว ผมได้ใช้ความรู้ด้านประชากรศาสตร์ มองภาพประชากรไทยในอนาคต ได้นำเสนอไว้ชัดเจนแล้วว่าประชากรไทยกำลังสูงวัยอย่างรวดเร็วมาก การให้เบี้ยยังชีพเป็นสิทธิที่ผู้มีอายุ 60 ปีทุกคนจะได้รับ จะเป็นภาระทางการคลังที่หนักมากในอนาคต ถ้าเลื่อนอายุของผู้สูงอายุได้ 5 ปี งบประมาณที่จะจ่ายเบี้ยยังชีพให้คนอายุ 60 – 64 ปีที่ประหยัดได้ปีละหลายหมื่นล้านบาทอาจผันไปเป็นสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุที่จำ.เป็นหรือเปลี่ยนเป็นสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุในรูปแบบอื่น

ผมเสียดายที่ว่า ข้อเสนอปรับเลื่อนอายุ การมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพในลักษณะนี้ จะทำได้ไม่ง่ายโดยรัฐบาลที่เน้นประชานิยมผมคิดว่าขณะนี้เป็นโอกาสดีที่สุดที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนนิยามของผู้สูงอายุ

เสียดายที่ประเทศไทยพลาดโอกาสนี้ไป

เชื่อในสติปัญญาและความคิดของคนรุ่นใหม่

ผมอาจวิตกเกินไปก็ได้เกี่ยวกับปัญหาสังคมสูงวัยไทยในอนาคต ผมอาจวิตกเพราะเห็นแต่ตัวเลขของการเปลี่ยนแปลงประชากร และดูแนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ผมควรยอมรับความจริงว่ามนุษย์เราฉลาดพอที่จะคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้คนเราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ดูอย่างเทคโนโลยีพลิกโลก (Disruptive technology) ที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดมีขึ้นได้ในวันนี้ เช่น โทรศัพท์มือถือที่มีสมรรถนะเทียบเท่าคอมพิวเตอร์ขนาดเมนเฟรม การคิดหุ่นยนต์ที่ฉลาดเทียบเท่าและเก่งกว่ามนุษย์ การเก็บข้อมูลในก้อนเมฆ (Cloud storage) การใช้พลังงานทดแทน ยานพาหนะไร้คนขับ นวัตกรรมเหล่านี้ทำให้ผมเบาใจได้ว่า ในอนาคต มนุษย์จะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองและแก้ปัญหาให้กับผู้คนในสังคมสูงวัย

ผมเชื่อว่าคน(ไทย) รุ่นต่อๆ ไป จะคิดค้นวิธีการ เทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งปรัชญาความเชื่อในการดำรงชีวิตที่จะนำมาใช้รองรับสังคมสูงวัย (ไทย) ในอนาคตได้


* ภาพปก Photo by rawpixel.com from Pexels


Tags :

CONTRIBUTOR

Related Posts
Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th